xs
xsm
sm
md
lg

#iBusinessReview : ลองของ ‘สติงค์’ เอนเนอร์จี้ดริ้งค์ตัวใหม่ ‘เป๊ปซี่โค’มาแบบป่าล้อมเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา สำหรับเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนยี่ห้อ ‘สติงค์’ (Sting) ของค่ายซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ หลังจากเอนเนอร์จี้ดริ้งค์ตัวนี้วางจำหน่ายในประเทศต่างๆ เฉพาะภูมิภาคอาเซียนมีขายมานานหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย และกัมพูชา ก่อนที่จะมาถึงประเทศไทย

แต่เลือกที่จะจำหน่ายรสสตรอเบอร์รี บลาสท์ ขนาด 295 มิลลิลิตร ราคาขายปลีกขวดละ 15 บาท ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา ศูนย์จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเป๊ปซี่ทั่วประเทศ ได้วางจำหน่ายเครื่องดื่มสติงค์ผ่านร้านค้าขนาดเล็ก ร้านโชวห่วย มินิมาร์ท และห้างค้าปลีก-ค้าส่งภูธร เพื่อทดลองตลาด โดยยังไม่วางจำหน่ายตามห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำใดๆ

พร้อมกันนี้ยังมีคอนเทนต์จากเพจข่าวดัง และอินฟลูเอนเซอร์เพจดัง สื่อให้เห็นถึงความเป็น ‘น้ำแดง’ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่


3 กุมภาพันธ์ 2567 สติงค์ปล่อยโฆษณาออนไลน์ นำแสดงโดย เก้า-จิรายุ ละอองมณี นำเรื่องราวสายมูที่ถวายน้ำแดงแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้ากับเครื่องดื่มสติงค์ ตบท้ายด้วยสโลแกน "ตื๊ดซ่าไม่ซ้ำใคร" แต่ที่น่าสนใจก็คือ ตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้ มุ่งเน้นกิจกรรมการตลาดด้วยคอนเสิร์ตของ หมอลำซิ่ง ใหม่พัชรี วงไทรถแห่ และรถแห่ ศิลปินอีสาน เจาะพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะ

น่าสนใจว่า เอนเนอร์จี้ดริ้งค์ตัวใหม่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบป่าล้อมเมือง เจาะตลาดภูธรก่อนลงมาสู่เมือง ซึ่งมีหลายธุรกิจเคยใช้วิธีนี้และประสบความสำเร็จมาแล้ว แม้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนแบ่งการตลาดตกอยู่ที่ 3 แบรนด์ดัง เอ็ม 150 คาราบาวแดง และกระทิงแดง" แต่สติงค์เลือกฉีกแนวจากเครื่องดื่มสำหรับผู้ใช้แรงงานทั่วไป


เครื่องดื่มสติงค์ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2545 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตโดยผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ชื่อว่า ร็อคสตาร์ (Rockstar) มีรสชาติออริจินอลที่เรียกว่า โกลด์รัส (Gold Rush) และรสชาติอื่นๆ รวม 6 รสชาติ ต่อมาเป๊ปซี่ โค ได้ซื้อกิจการเครื่องดื่มร็อคสตาร์เมื่อปี 2563 ด้วยมูลค่ากว่า 3,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำให้แบรนด์สติงค์อยู่ในพอร์ตเครื่องดื่มชูกำลังของเป๊ปซี่ไปด้วย

การซื้อกิจการของเป๊ปซี่โคเกิดขึ้นเพื่อต่อกรกับ โคคา-โคล่า ผู้ผลิตน้ำอัดลมคู่แข่ง ที่ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง โคคา-โคล่า เอนเนอร์จี้ (Coca-Cola Energy) มาแล้ว 25 ประเทศ ก่อนเปิดตัวในสหรัฐอเมริกา ชูจุดเด่นกาเฟอีน 114 มิลลิกรัมต่อ 12 ออนซ์ รวมถึงสารสกัดเมล็ดกัวรานาและวิตามินบี แต่ประเทศไทยทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะกำหนดกาเฟอีนไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อขวด


ปัจจุบัน เป๊ปซี่โค มีแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังอยู่ในมือแล้วหลายแบรนด์ อาทิ เมาท์เท่นดิว แอมป์ (Mountain Dew Amp) จอสต้า (Josta) เมาท์เท่นดิว คิกสตาร์ท (Mountain Dew Kickstart) รวมถึงร็อคสตาร์ และ สติงค์

เครื่องดื่มร็อคสตาร์ในประเทศไทย (ภาพ : suntorypepsico.co.th)
ในประเทศไทย เป๊ปซี่โคผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลมด้วยตัวเองเมื่อกลางปี 2556 ก่อนร่วมทุนกับซันโทรี่ ผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์จากญี่ปุ่น ผลิตสินค้าหลักทั้งน้ำอัดลมเป๊ปซี่ มิรินด้า เซเว่นอัพ ชาพร้อมดื่มลิปตันไอซ์ที เครื่องดื่มเกลือแร่เกเตอเรด น้ำดื่มและน้ำแร่ออควาฟิน่า รวมทั้งฝั่งซันโทรี่ก็มีชาเขียวพร้อมดื่มทีพลัส และกาแฟบรรจุขวดบอสคอฟฟี่ ก็ถึงคิวของเครื่องดื่มชูกำลัง

เป๊ปซี่โคเลือกที่จะผลิตเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนอัดก๊าซ ร็อคสตาร์ วางตลาดเมื่อกลางปี 2565 มีสองรสชาติ คือ สูตรออริจินัล และสูตรไม่มีน้ำตาล เจาะกลุ่มเป้าหมายคนทำงานรุ่นใหม่ ด้วยราคาขายกระป๋องละ 30 บาท แต่เมื่อต้องเจอค่ายเครื่องดื่มชูกำลังอื่นๆ ลงมาผลิตเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนแนวสปาร์คกิ้ง (Sparking) ร็อคสตาร์ก็ต้องอัดโปรโมชันเหลือกระป๋องละ 15 บาทก็มี


หนำซ้ำค่ายยักษ์ใหญ่ ก็ลงมาผลิตเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนอัดก๊าซ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ รสชาติ และราคาแตกต่างไปจากแบบขวดแก้ว ที่มีผู้ใช้แรงงานเป็นตลาดหลัก อาทิ ค่ายกระทิงแดง ออกผลิตภัณฑ์เรดบูล โซดาเมื่อต้นปี 2566 มีสองรสชาติ คือ กลิ่นแอปเปิ้ลองุ่นมัสแคท และกลิ่นเกรปฟรุต สับปะรด (จำหน่ายเฉพาะเซเว่นอีเลฟเว่น) ขนาด 250 มิลลิลิตร กระป๋องละ 20 บาท

ต่อมายังมีค่ายโอสถสภา ส่งผลิตภัณฑ์เอ็ม-150 สปาร์คกลิ้ง เมื่อปลายปี 2566 มีสองรสชาติ คือ รสออริจินัล และพิงค์เลมอนเนด (กลิ่นเลมอน) ขนาด 245 มิลลิลิตร กระป๋องละ 20 บาทเช่นกัน ก่อนหน้านี้เคยผลิตชาร์ค คลูไบต์ (Shark Cool Bite) แต่ได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนค่ายคาราบาวแดงก็มีเครื่องดื่มให้พลังงานแบบอัดก๊าซ กลิ่นกรีนแอปเปิ้ล 180 มิลลิลิตร ราคา 15 บาท

ขณะที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มขวัญใจตลาดภูธรอย่างอาเจ ไทย (AJE THAI) ก็มีผลิตภัณฑ์โวลต์ (VOLT) เครื่องดื่มชูกำลังผสมซิงค์ ขนาด 215 มิลลิลิตร ราคาขวดละ 10 บาท ซึ่งพบว่าเป็นเครื่องดื่มชูกำลังอัดก๊าซอีกด้วย

ภาพ : ห้างสรรพสินค้าตะวันออกคอมเพล็กซ์

ภาพ : ห้างสรรพสินค้าตะวันออกคอมเพล็กซ์
น่าสังเกตว่า การทำตลาดเครื่องดื่มสติงค์ในไทย เลือกที่จะเปิดตัวด้วย รสสตรอเบอร์รี บลาสท์ (กลิ่นสตรอเบอร์รี) ขวดสีแดงเพียงรสเดียว ส่วนรสออริจินอลสีเหลืองยังไม่ผลิต ต่างจากประเทศอื่นที่มีสองรสชาติ ซึ่งคนที่ชิมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่ง ที่มีสีแดงเหมือนกัน แต่สติงค์จะอัดก๊าซและมีความซ่าเหมือนน้ำอัดลมที่เป็นน้ำแดงมากกว่า

นอกจากกิจกรรมการตลาดที่เจาะไปยังภาคอีสานเป็นหลักแล้ว การส่งเสริมการขายพบว่า นอกจากจะลงสินค้าตามร้านค้าระดับโชวห่วย ที่ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังแล้ว ห้างค้าส่งและค้าปลีกระดับภูธร ยังลดจากราคาปกติ 15 บาท เพื่อจูงใจให้ซื้อไปขายต่อ เช่น ห้างภูธรภาคตะวันออก ขายขวดละ 13 บาท หรือซื้อยกแพ็ค 12 ขวด ราคา 137 บาท เฉลี่ยขวดละ 11.41 บาท


คงต้องคอยดูว่า เอนเนอร์จี้ดริ้งค์ตัวใหม่จะโดนใจผู้บริโภค โดยเฉพาะระดับภูธรมากน้อยขนาดไหน จึงมีความมั่นใจที่ก้าวเข้าสู่ตลาดแมส ช่วงชิงตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่เน้นตลาดหลักคนทำงานรุ่นใหม่โดยเฉพาะ

(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น