xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติดแผนพลังงานยุค "พีระพันธุ์" โอกาส&ความท้าทายคุมราคาปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงพลังงานที่กุมบังเหียนโดย "นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล "เศรษฐา" เรียกว่าโดดเด่นไม่เป็นรองใคร เหตุเพราะส่วนหนึ่งต้องดูแลบริหารราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และค่าไฟฟ้า ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยต่อการดำรงชีวิตของคนไทยและค่าครองชีพที่ต้องควักจ่ายเป็นรายวัน รายเดือนกันเลยทีเดียว ...ยิ่งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรายจ่ายเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง

ทั้งนี้ นโยบายของกระทรวงพลังงานที่นำเสนอต่อรัฐบาลและผลักดันเพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชนปัจจุบันทำให้ราคาดีเซลขายปลีกได้ถูกขยายเวลาการตรึงราคาไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร (หรือขายปลีกในเขต กทม.อยู่ที่ราว 29.94 บาท/ลิตร) 1 มกราคม-มีนาคม.2567 ผ่านการลดภาษีสรรพสามิต 1 บาท/ลิตร ควบคู่กับใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหาร ขณะที่ราคา LPG ครัวเรือนตรึงไว้ที่ 423 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม มีผลวันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2567 โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เป็นหลัก

ด้านน้ำมันกลุ่มเบนซิน ได้มีมาตรการลดราคาผ่านการใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร จากกระทรวงการคลัง ร่วมกับใช้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนเพื่อทำให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงรวม 2.50 บาทต่อลิตร โดยมาตรการนี้ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค. 2567 แล้ว โดยกระทรวงพลังงานได้หันมาใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ บริหารในการนำเงินมาอุดหนุนเพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกต้องปรับขึ้น 1 บาท/ลิตรในวันที่ 1 ก.พ. 67 หลังสิ้นสุดภาษีฯ อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อ 2 ก.พ. 67 กองทุนน้ำมันฯ ได้กลับมาเพิ่มการจัดเก็บน้ำมันเบนซิน 95 ราว 80 สตางค์/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91-95 อีก 50 สตางค์/ลิตร E20 และ E85 คงเดิมเพื่อที่จะเรียกเงินคืนจากการอุดหนุนที่ผ่านมาและนี่อาจส่งสัญญาณจากนี้ให้ยึดกลไกตลาดเป็นหลัก

ขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ขายปลีกเรียกเก็บสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 อยู่ที่จำนวน 39.72 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วยหลังได้มีการปรับปรุงการคำนวณให้ลดลงตามนโยบายรัฐ จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะไว้ที่ 89.55 สตางค์/หน่วย ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างราคา Poll Gas ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสมสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 15,963 ล้านบาท แทนประชาชนไปพลางก่อน และทบทวนราคา Spot LNG ฯลฯ

นโยบายดังกล่าวเริ่มนับถอยหลังสู่วังวนที่จะต้องเริ่มมาทบทวนกันอีกระลอกในที่สุดโดยปี 67 “พีระพันธุ์” ได้วางนโยบายสำคัญต่อการบริหาร ว่าด้วยการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ โดยได้หมายมั่นปั้นมือที่จะสามารถควบคุมราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่ลดลงหรือไม่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ส่งสัญญาณว่างวดหน้า (พ.ค.-ส.ค. 67) ที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างต่างๆ ใหม่อย่างน้อยน่าจะมีทิศทางที่ลดลงได้บ้างไม่มากก็น้อย

ฟากฝั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีการคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้นว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 67) น่าจะทรงตัวระดับ 4.20-4.25 บาท/หน่วย และทำให้ทั้งปี 2567 ค่าไฟเฉลี่ยทุกประเภทยังแตะระดับ 4.20 บาท/หน่วย โดยยังไม่รวมหนี้ของ กฟผ. ที่จะอยู่ในระดับ 1.1 แสนล้านบาทโดยสิ่งที่คาดหวังที่จะเป็นปัจจัยบวกจากที่ปริมาณก๊าซฯ แหล่งเอราวัณเพิ่มขึ้นตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เดือน เม.ย. 2567 และก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศเมียนมาร์ไม่หายไป รวมถึงราคา LNG ยังอยู่ระดับ 10-11 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู แต่หากรวมหนี้ กฟผ.อาจทำให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ดังกล่าวได้

ล่าสุดทาง ทาง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. ได้ออกมายืนยันแล้วการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณจะเป็นไปตามแผนงานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีอยู่หลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือ "นโยบาย" จากฝ่ายการเมืองว่าจะดำเนินการเช่นไรประกอบด้วย ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าการดูแลค่าไฟในงวดที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากการมีก๊าซฯ ที่ผิดสัญญา (Short Fall) ซึ่งตามกฎหมายจะถูกลงโทษโดยส่งมอบก๊าซส่วนที่ส่งขาดไปในภายหลังในราคาลดลง เช่น ในราคา 75% ของ current price ซึ่งกรณีได้เกิดขึ้นกับแหล่งก๊าซเอราวัณ จากสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต ช่วงปี 2563-2565 ที่ปริมาณส่งมอบก๊าซจากผู้ผลิตให้กับผู้ซื้อนั้นต่ำกว่าสัญญา คิดเป็นเงินประมาณ 4,300 ล้านบาท

บมจ.ปตท.ในฐานะผู้ชื้อก๊าซได้รับประโยชน์จากเรื่อง Shortfall ที่เกิดขึ้น แต่ กกพ.เห็นว่าประโยชน์ที่ปตท.ได้รับควรจะส่งผ่านไปให้ผู้บริโภคด้วยการนำมาลดค่าไฟ จึงเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. และคณะรัฐมนตรีสั่งให้ ปตท.คืนเงินส่วนนี้เพื่อให้มีผลในค่าไฟฟ้ารอบบิล ม.ค.-เม.ย. 2567 แต่รอบต่อไปจะมีหรือไม่ก็ยังต้องติดตามใกล้ชิด แต่สิ่งสำคัญ ที่ไม่อาจประมาทนั่นคือราคาพลังงานโลกที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ยังเสี่ยงระดับสูง


ภาคเอกชนหวังเห็นค่าไฟ 3 บาท/หน่วยระยะยาว

สำหรับค่าไฟฟ้าในมุมมองของภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เองต่างเห็นว่าค่าไฟฟ้าของไทยในระยะที่ผ่านมามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากความผิดพลาดในการบริหารแหล่งก๊าซฯบางส่วน และได้พยายามที่จะเสนอทางออกในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าของประเทศโดยมีเป้าหมายค่าไฟฟ้าปี 2567 ไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย ระยะกลาง/ยาว ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3.00 บาท/หน่วยโดยเสนอแนะแนวทางดำเนินงานในหลายด้าน แต่กกพ.ได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นไปได้ยากมากเพราะโครงสร้างต่างๆได้ถูกรื้อจนหมดแล้วและยังตอกย้ำว่าราคาดังกล่าวจะมีคนขาดทุนแต่นโยบายรัฐต้องการอยู่ร่วมกันเช่น ขณะนี้ค่าไฟฟ้าของคนกทม.กับต่างจังหวัด มีต้นทุนต่างกัน คนต่างจังหวัดต้นทุนสูงกว่า เพราะต้องเดินสายไฟหากมีการแยกประเภทจะทำให้ กทม.จ่ายไฟถูกกว่าคนต่างจังหวัดซึ่งนโยบายรัฐยังคงยึดหลักให้เกิดความเท่าเทียมกันอยู่




เปิดฐานะกองทุนน้ำมันฯ กับวิกฤตสภาพคล่อง

หันมาพิจารณาถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นกลไกสำคัญในการดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในไทยทั้งการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรและ LPG ปัจจุบันฐานะสุทธิ ณ วันที่ 28 ม.ค. 67 ติดลบ 84,349 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 46,474 ล้านบาท ขณะที่บัญชีน้ำมันติดลบ 37,875 ล้านบาท ท่ามกลางการอุดหนุนทั้งดีเซล และ LPG อย่างต่อเนื่อง เพราะราคาตลาดโลกอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในหลายพื้นที่ทั้งตะวันออกกลางและ รัสเซีย-ยูเครน ทำให้เงินไหลออกจากกองทุนฯ วันละกว่า 200 ล้านบาทหรือราวกว่า 7,000 ล้านบาท/เดือน ส่วนใหญ่เป็นการดูแลดีเซลที่มียอดใช้สูงราว 68-70 ล้านลิตร/วัน

สิ่งที่ต้องติตตามปัญหาของกองทุนน้ำมันฯในขณะนี้มีสภาพที่ต่างไปจากอดีตในช่วงวิกฤติราคาพลังงานในช่วงการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างสิ้นเชิง ..... เพราะนั่นคือวิกฤตราคาอย่างแท้จริง แต่นับจากนี้วิกฤตดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนมาสู่วิกฤติสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ไปแล้วเนื่องจากขณะนี้วงเงินกู้ที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ทยอยกู้ยืมโดยลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท โดย สกนช.ทยอยเบิกเงินกู้ยืมแล้วเหลือขณะนี้ราว 30,000 ล้านบาทในการบริหารราคาดีเซลและ LPG ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถดูแลตามมาตรการตรึงราคาที่จะสิ้นสุด 31 มี.ค. 67 นี้ได้ตามนโยบายภาครัฐ

ทางรอดลดภาษีฯ ดีเซลเพิ่ม-ขยับราคา

มาตรการตรึงดีเซล 30 บาท/ลิตรที่จะสิ้นสุดลง 31 มี.ค. 67 แน่นอนว่ามีความจำเป็นที่กระทรวงพลังงานจะต้องทบทวนแนวทางบริหารใหม่เพราะแม้รัฐหรือฝ่ายการเมืองจะหาแหล่งเงินกู้ให้เพิ่มแต่ด้วยวิกฤติสภาพคล่องที่เกิดขึ้นย่อมไม่มีสถาบันการเงินใดๆ เข้ามาปล่อยกู้แน่นอนแม้แต่แบงก์รัฐเองก็เถอะ เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ แทบไม่มีรายได้เข้ามาเลยด้วยสภาพที่ยังคงอุดหนุนราคาไม่อาจเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้นเพื่อสะสมไว้เป็นรายได้...แถมแต่ละเดือนต้องจ่ายดอกเบี้ย 150 ล้านบาท และในเดือน พ.ย. 67 จะต้องคืนเงินต้นบางส่วนอีกด้วย

หากมองแนวโน้มราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกหลัง 31 มี.ค. 67 ไปแล้วก็ยังไร้วี่แววว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญใดๆ โดยยังมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงเช่นปัจจุบันแถมยังสุ่มเสี่ยงกับการสู้รบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่ง ณ วันที่ 2 ก.พ. 67 กองทุนฯ ยังต้องควักอุดหนุนราคาดีเซลถึงลิตรละ 4.62 บาทหรือทำให้ต้องใช้เงินอุดหนุนเกือบ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน มาตรการตรึงดีเซล 30 บาท/ลิตรจึงอาจมีทางเลือกที่ต้องผสมผสานกันระหว่างการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ไม่ใช่แค่ระดับ 1 บาท/ลิตรซึ่งปัจจุบันรัฐยังเก็บภาษีฯดีเซลสูงถึง 5 บาท/ลิตรโดยกระทรวงพลังงานเริ่มส่งสัญญาณถึงคลังอย่างต่ำควรลดลง 2 บาท/ลิตร

อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้คงจะต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งหากดูจากฐานะการคลังเหมือนจะไม่ง่ายนักเพราะนี่ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของภาครัฐ ....แต่อีกทางที่สำคัญและอาจจะต้องกลับมาพิจารณาหรือไม่คือการขยับราคาขายปลีกดีเซลให้เกิน 30 บาท/ลิตร เช่น 32 บาท/ลิตร ซึ่งอดีตราคาดีเซลก็เคยแตะระดับ 35 บาท/ลิตรมาแล้วซึ่งการตรึงดีเซลที่ 30 บาท/ลิตรระยะเวลานานเกินไปมีผลต่อการใช้ที่ไม่ประหยัดและมีส่วนต่อการดูแลค่าครองชีพได้มากน้อยเพียงใดรัฐคงจะต้องมองประเด็นนี้ซึ่งก็ยอมรับว่าก็ไม่ง่ายนักท่ามกลางปัญหาสารพัดเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ..... และอาจต้องรับมือกับม็อบบรรทุกเจ้าเก่ามาอีกระลอก

สำหรับราคา LPG ภาคครัวเรือนที่ตรึงไว้ที่ 423 บาท/ถัง 15 กิโลกรัมซึ่งจะสิ้นสุด 31 มีนาคม 2567 เช่นกันนั้นหากมองในแง่ของประชาชนฐานรากเข้าใจได้ว่ารัฐบาลน่าจะตัดสินใจขยายระยะเวลาในการตรึงราคาต่อเนื่องจากด้วยสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ ประชาชนแบกรับภาระหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง หากขยับปัญหาค่าครองชีพจะยิ่งร้อนแรง ซึ่งนโยบายนี้น่าจะดำเนินได้ต่อไปด้วยสภาพราคา LPG ปัจจุบันราคาค่อนข้างมีเสถียรภาพประกอบกับการใช้เงินอุดหนุนในส่วนนี้ใช้เงินเพียงระดับ 200 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น จึงไม่น่าจะเป็นภาระหนักสำหรับกองทุนน้ำมันฯในขณะนี้

จากสถานะกองทุนน้ำมันฯ ที่กำลังก้าวสู่วิกฤตสภาพคล่อง..นับเป็นความท้าทายของการบริหารจากฝ่ายนโยบายหรือการเมือง ที่ต้องจับตาใกล้ชิด .... เพราะทุกเส้นทางจากนี้ต้องเดิมพันด้วยค่าครองชีพของประชาชน และความยั่งยืนของแผนบริหารจัดการพลังงานอย่างแท้จริงเพื่อไม่ให้ก้าวไปสู่วิกฤตที่ยิ่งใหญ่กว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น