จับตาคดีหุ้น “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” เมื่อนายกฯ เร่ง ก.ล.ต.ดำเนินการ เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นตลาดทุน แม้รับลูกปรับทัพอุดช่องโหว่ป้องกันปัญหาซ้ำรอย ขณะผู้เสียหายยังคลางแคลงใจกรณีเอาผิดผู้บริหารบริษัท หลังสั่งฟ้องเพียง 7 ใน 11 ราย โดย “ชนินทร์” ยังลอยนวล ส่วน “ชินวัฒน์” รอด
การดำดิ่งของตลาดหุ้นไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากกระบวนงานของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ไม่อาจสร้างความอุ่นใจให้กับบรรดานักลงทุนทั่วไป (รายย่อย) รวมไปถึงศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนต่อการชำระคืนหุ้นกู้แล้ว ความเชื่อมั่นจากผู้ควบคุมระบบอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนลดลง นำไปสู่ปริมาณการซื้อขายที่ถดถอย
ล่าสุด(1 ก.พ.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อตลาดทุนไทยว่าได้รับทราบข้อมูลจากนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีความผันผวนสูง โดยมีปัจจัยส่วนหนึ่งจากการขาดความมั่นใจในการกำกับดูแลและการแก้ปัญหาหุ้นที่คั่งค้างสะสม
นั่นทำให้นายกรัฐมนตรีได้สอบถามไปยัง เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต.ว่ามีการดำเนินการในปัญหาหุ้นที่มีปัญหา เช่น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN รวมถึงความคืบหน้าและให้นำข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขและเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับความคืบหน้าการดำเนินคดีหุ้น STARK ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ และถือเป็นอีกปัญหาสำคัญที่นักลงทุนต่างเฝ้าติดตาม โดยเฉพาะเมื่อมีแรงกระตุ้นมาจากฟากผู้บริหารประเทศอย่าง “รัฐบาล”
ก.ล.ต.ปรับทัพอุดช่องโหว่ เหตุการณ์ดังกล่าว มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นตั้งแต่เดือนแรกของปีนี้ (17 ม.ค.67 ) เมื่อ “เอนก อยู่ยืน” รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ยังคงเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่อตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการใช้กฎหมาย หลังจากเมื่อปีก่อนมีกรณีของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่การกระทำผิดเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย
นั่นทำให้ ก.ล.ต.จึงปรับกระบวนทัพในการทำงานใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ในการพิจารณาความผิดและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด โดยการปรับโครงสร้างงานในส่วนนี้ ก.ล.ต.ได้ปรับฝ่ายสายงานระดมทุนและบริษัทจดทะเบียน มารวมกับสายงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การทำงานครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ทำให้สามารถกลั่นกรอง ขับเคลื่อนงานต่าง ๆ และสามารถเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายได้เร็วมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังมีการร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการยกระดับการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการดูแลในส่วนของการฟ้องร้องแบบกลุ่ม (Class action) ให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายได้อย่างทั่วถึง และสามารถช่วยเหลือในกระบวนฟ้องร้องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
"ก.ล.ต.ได้ปรับกระบวนทัพเพื่อการทำงานต่าง ๆ ที่รวดเร็ว โดยหาแนวทางในการอุดช่องโหว่ต่างๆ มากขึ้นในอนาคต ซึ่งมีการป้องกันในด้านของกลไก การป้องปราม เพื่อยับยั้งการกระทำผิดที่จะสร้างความเสียหาย และการปราบปราม เพื่อยกระดับตลาดทุนไทยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน"
ขณะที่การกำกับดูแลตลาดหุ้นไทย ก.ล.ต.มีแผนร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ กำกับดูแลความผิดปกติของการซื้อขายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่ถูกขึ้น SP แล้วได้รับการปลด SP กลับมาเทรดปกติ จะมีการนำระบบการซื้อขายแบบ Auction มาใช้กับการเทรดในวันแรก เพื่อทำให้คำสั่งซื้อเข้าไปหาราคาที่ Matching ทันทีเพื่อจัดการกับความผิดปกติของราคาหุ้น และการใช้เครื่อง Auto Hault ในช่วง Pre-Open สำหรับคำสั่งซื้อที่มีความผิดปกติในเรื่องของปริมาณและราคาซื้อขายที่ทำให้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจัดการกับหุ้นที่มีลักษณะของการสร้างราคา
อัยการยื่นฟ้อง 7 จาก 11 ราย
โดยในส่วนของหุ้น STARK ล่าสุดพนักงานอัยการ มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาและนำตัวผู้ต้องหา ในความผิดฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงินและฐานฉ้อโกงประชาชนต่อศาลอาญาแล้ว 7 ราย พร้อมมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 67 เมื่ออัยการได้มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดี STARK เพียงบางราย จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงมีบางรายที่ไม่สั่งฟ้องทำให้ผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK เนื่องจากเกิดความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินคดีว่าจะมีทิศทางอย่างไร และบุคคลที่เหลือจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่ รวมถึงบุคคลที่สั่งไม่ฟ้องจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไป
โดยผู้ต้องหาที่อัยการมีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติม และยังไม่มีการสั่งฟ้องก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1)นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ที่หนีออกนอกประเทศไปแล้วอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดี 2)นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 3)นางสาวยสบวร อำมฤต และ 4)นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ที่มีบทบาทฝ่ายการตลาด STRAK ที่ไม่มาศาลด้วยสาเหตุป่วย
ทำไม “ชินวัฒน์” รอด
แต่ที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี ที่มีรายชื่ออยู่ตั้งแต่เริ่มคดีนั้น ล่าสุดไม่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มที่ส่งสำนวนฟ้องและกลุ่มที่สั่งสอบสวนหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสั่งฟ้องภายหลัง สิ่งที่เกิดทำให้ทางตัวแทนผู้เสียหายมีการรวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอความเป็นธรรม ให้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกทั้งในเรื่องของพยานหลักฐาน และช่วงเวลาการกระทำความผิดว่ายังมีกรรมการบริษัทรายใดที่เป็นกรรมการอยู่ในช่วงที่มีการกระทำความผิด รวมถึงมีบุคคลใดบ้างที่มีการลงนามในเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งเอกสารการเสนอขาย เอกสารการนำข้อมูลที่เกี่ยวกับงบที่มีการตกแต่งเข้ามาเสนอชี้ชวน โดยเผยแพร่ให้ผู้เสียหายรับทราบและในการตัดสินใจลงทุน
นอกจากนี้ ผู้เสียหายต้องการทราบเหตุผลที่ DSI ไม่ได้ส่งสำนวนสั่งฟ้องนายชินวัฒน์ อัศวโภคี โดยถือเป็นประเด็นที่ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เหตุใดจึงไม่สั่งฟ้องทั้งที่มีพยานเอกสาร หลักฐาน และช่วงเวลากระทำความผิดชัดเจนโดยเฉพาะกระทำความผิดตามกฎหมายทางอาญา และเชื่อมโยงไปยังกรรมการ และผู้กระทำการแทน จึงตั้งคำถามว่าตั้งฐานความผิดครบถ้วนหรือไม่
นั่นเพราะทางกลุ่มผู้เสียหายมีหลักฐานเอกสารเชื่อมโยงว่านายชินวัฒน์ มีความเกี่ยวข้องเป็นกรรมการในหลายบริษัทของกลุ่ม STARK ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2561-2562 ดังนั้น กรรมการจึงมีหน้าที่โดยเฉพาะหากไม่กระทำถือว่างดเว้นกระทำการหรือรู้และร่วมกระทำ
โดยนายชินวัฒน์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทางกลุ่มมีการฟ้องคดีแพ่งด้วย ดังนั้นมองว่าหากหลุดคดีอาญาก็กังวลว่าคดีแพ่งก็อาจจะหลุดด้วย ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานในการเข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท STARK และเป็นช่วงที่บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) ได้ทำการตรวจสอบและระบุว่ามีการตกแต่งบัญชี ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมีมาก่อนตั้งแต่ก่อนปี 2564 รวมถึงนายชินวัฒน์ เป็นผู้ลงนามในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน เพื่อเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตั้งแต่ครั้งที่ 1/2564 ที่มีงบการเงินที่ PwC ระบุว่ามีการตกแต่งบัญชี
ปัจจุบัน DSI สอบสวนเพิ่มเติมกรณี STARK ไปแล้ว 20 ประเด็น และมีกรอบเวลาที่ต้องส่งข้อมูลให้อัยการคือภายในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เนื่องจากทางอัยการนัดส่งฟ้องวันที่ 9 ก.พ.นี้ รวมถึงในวันที่ 21 มี.ค. 2567 ก็จะมีการตัดสินว่าศาลจะรับพิจารณาคดีแบบกลุ่ม (Class Action) หรือไม่
โดยก่อนหน้านี้ อัยการมีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่จะถูกฟ้องนั้นมีทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ 1)นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 2)นางสาวนาตยา ปราบเพชร 3)บริษัท STARK 4)บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 5)บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด TCI) 6)บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ 7)บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
“วนรัชต์” แสดงความบริสุทธิ์ใจ
ขณะวันที่ 29 ม.ค. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีผู้เสียหายจากหุ้นกู้ STARK เดินทางมารับฟังการไต่สวนคดีเพื่อขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่ได้ยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหาร STARK รวม 5 คน ได้แก่ 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 2.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3.นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 4.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และ 5.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ในข้อหาชี้ชวนซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
ทั้งนี้ นายวนรัชต์หนึ่งในผู้ถูกฟ้องคนสำคัญ กล่าวอ้างต่อศาลด้วยอาการร้องไห้สะอื้นว่ารู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ STARK และกลุ่มบริษัทสตาร์ค แม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่ก็รู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถดูแลในรายละเอียดการบริหารจัดการได้ รวมถึงไว้วางใจคนผิดจนทำให้เกิดการผิดพลาด และการทุจริตขึ้นใน STARK และกลุ่มบริษัท
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ STARK นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของตนไม่เกี่ยวข้องกับครอบครัว และยังเห็นว่ากรรมการท่านอื่นไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมทั้งพนักงานระดับล่าง ซึ่งถูกล่อลวงหรือบีบคั้นจนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้กระทำการทุจริต ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่ควรได้รับความเห็นใจและไม่สมควรที่ต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำความผิดที่ได้สั่งการให้กระทำด้วย
โดยตนยังสามารถรับรู้ได้ถึงความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสของกลุ่มผู้ซื้อหุ้นกู้รายย่อยที่ต้องมาร่วมรับเคราะห์กรรมครั้งนี้ด้วยจึงใคร่ขอความกรุณาศาลโปรดเร่งกระบวนการพิจารณาคดีนี้โดยเร็ว และได้กำชับทนายความของตนไม่ต้องสู้คดีนี้ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้รีบนำทรัพย์สินของตนที่เหลืออยู่ไปบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้เสียหาย
นอกจากนี้ ตนในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ STARK จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้ซื้อหุ้นกู้รายย่อยหรือจนกว่ากลุ่มผู้ซื้อหุ้นกู้รายย่อยจะได้รับการเยียวยาจนเสร็จสิ้น โดยในเบื้องต้นตนจะทำหนังสือแสดงเจตนาของตนส่งไปยังคณะกรรมการSTARK ขอให้เร่งยุติกระบวนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้ถือหุ้นโดยเร็วที่สุด
นั่นเพราะเพื่อให้กลุ่มผู้ถือหุ้นผู้ได้รับสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมายอย่างเต็มที่ในการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของSTARK อันได้แก่ หุ้นและสิทธิเรียกร้องเงินกู้ที่ STARK ให้บริษัท เฟิลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กู้ยืมไปเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท เพราะหากเวลาเนิ่นช้าออกไปแล้ว กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ เพราะ “เฟลปส์ ดอด์จฯ” กำลังเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหมายถึงการถูกบังคับจากเจ้าหนี้รายใหญ่ให้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดยอดหนี้ส่วนนี้ลงในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เงินจากการทุจริต 8,000 ล้านบาท ถูกนำไปซุกซ่อนที่ประเทศอังกฤษส่วนหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งที่ DSI ตรวจพบว่าอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด ทำให้ได้แต่หวังว่าหน่วยงานของรัฐจะสามารถเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด และสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษได้ในที่สุด
หลายฝ่ายคาใจสั่งฟ้อง
ต้องยอมรับว่า คดีแต่งบัญชีและงบการเงิน ผ่องถ่ายเงิน ฉ้อโกงประชาชนของ STARK แม้อัยการจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาแล้ว 7 คน แต่สังคมยังมีคำถามที่คาใจ เพราะตัวการใหญ่หลายคนยังลอยนวลอยู่ นั่นเพราะ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้ร่วมกระทำความผิดจำนวนทั้งสิ้น11 ราย แต่ในชั้นอัยการ สั่งฟ้องเพียง 7 ราย
โดยอีก 4 รายที่อัยการไม่สั่งฟองในคราวเดียวกันประกอบด้วย นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK นางสาวยสบวร อำมฤต เลขานุการ นายชนินทร์ เย็นสุดใจอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK ซึ่งหอบเงินก้อนโตหนีหายไปต่างประเทศ และนายกิตติศักดิ์ จิตประเสริฐงาม รวมถึง นายชินวัฒน์ อัศวโภคี อดีตกรรมการ STARK และเป็นมือกฎหมาย ซึ่งเป็น 1ใน 11 ผู้ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ แต่กลับหลุดจากความผิดไปตั้งแต่ชั้นสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ฉ้อโกงใหญ่สุดเป็นประวัติศาสตร์
คดีหุ้น STARK ถือเป็นการฉ้อโกงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์รอบ 49 ปีนับจากก่อตั้งตลาดหุ้น โดยเป็นการโกงที่มีการวางแผนมาอย่างดีหลายปี หรือนับตั้งแต่นายวนรัชต์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน STARK เมื่อปี 2561 เริ่มด้วยการแต่งบัญชี สร้างรายได้เทียม สร้างลูกหนี้เท็จ ทำให้ STARK กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีอนาคตสดใส ผลกำไรเติบโต ดำเนินมาติดต่อ จนทุกฝ่ายตายใจ ยอมใส่เงินเข้ามาไล่ซื้อหุ้น STARK แต่ล่าสุดเหลือติดค้างถือหุ้นอยู่จำนวน 9,613 ราย ซึ่งทุกคนต้องหมดตัว
ขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้จำนวนประมาณ 6 พันราย ใส่เงินรวมกันประมาณ 9.1 พันล้านบาท เพราะไม่คิดว่า STRAK จะโกงกันหน้าด้านๆ และต้องย่อยยับ "ติดกับดัก" ไปด้วย รวมถึงนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 12 ราย สูญเงินรวมกัน 5.58 พันล้านบาท จากการร่วมลงขัน ซื้อหุ้นเพิ่มทุน STARK จำนวน 1,500 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 3.72 บาทและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ปล่อยเงินกู้ให้ STARK ประมาณ 9 พันล้านบาท
นั่นทำให้เงินที่ STARK สูบเข้าไปจากการเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ การออกหุ้นกู้ และขายหุ้นเพิ่มทุน รวมประมาณ 23,000 ล้านบาท แต่เงินทั้งหมด ถูกโยกย้ายผ่องถ่ายเข้ากระเป๋าผู้บริหารบริษัทฯ
นี่คือ มหากาพย์แห่งการโกงของ STARK สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งมโหฬารในตลาดหุ้น ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกโจมตีอย่างหนักในความหละหลวม ผิดพลาดในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และความหย่อนยานในมาตรการปกป้องประชาชนผู้ลงทุน จึงทำให้คดี STARK ปลุกความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเฝ้าจับตาการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บริหาร ที่ร่วมกันวางแผนปล้นในตลาดหุ้นอย่างไร เพราะความผิดในการแต่งบัญชี ฉ้อโกงประชาชนของกลุ่มผู้บริหาร STARK เป็นความผิดร้ายแรง เนื่องจากมีเจตนามาปล้นตั้งแต่แรก โดยมีการวางแผนไว้อย่างดีล่วงหน้า จึงต้องรับโทษหนัก เพียงแต่ผู้บริหาร STARK ใครบ้างที่จะต้องติดคุก และใครบ้างที่จะหลุดรอดลอยนวลจากกรรมที่ก่อไว้