xs
xsm
sm
md
lg

ส่อยื้อยาว! ไฮสปีด 3 สนามบิน กก.กำกับฯ นัดกลาง ก.พ.นี้ ถกปลดล็อกปม BOI เพิกถอนลำรางสาธารณะรอสภา กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ถอดปมยื้อรถไฟไฮสปีด 3 สนามบิน บัตรส่งเสริมบีโอไอหมดอายุ และเพิกถอนลำรางสาธารณะ “มักกะสัน” ยังรอสภา กทม.เคาะเงื่อนล็อก รฟท.ออก NTP ไม่ได้ ด้าน กก.กำกับโครงการฯ นัดถกกลาง ก.พ. 67 เร่งยุติทุกปัญหาในปีนี้ ส่วนยกเลิกสัญญาเป็นหนทางสุดท้ายแต่รัฐจะไม่ล้มโครงการ หวั่นกระทบอู่ตะเภาเมืองการบิน 

แหล่งข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาทว่า จากที่ รฟท.ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อสอบถามความชัดเจนกรณีการออกหนังสือแจ้งเริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) นั้น สามารถยกเว้นเงื่อนไขเรื่องเอกชนยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้หรือไม่ โดยล่าสุดสำนักงานอัยการสูงสุดได้ทำหนังสือตอบกลับมาที่ รฟท.แล้ว โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นผู้พิจารณา

ทั้งนี้ จากคำตอบและข้อคิดเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ในส่วนของ รฟท.ได้ตีความและประเมินเบื้องต้นว่า กรณี รฟท.ส่งมอบหนังสือ NTP ให้กลุ่ม ซี.พี.เริ่มก่อสร้างโครงการโดยที่เอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน อาจจะเสี่ยงที่ รฟท.จะเป็นผู้ทำผิดเงื่อนไขสัญญาที่ระบุว่าการออก NTP  นั้นจะต้องให้ เอเชีย เอรา วันฯ รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน ดังนั้นในขณะนี้ รฟท.จึงยังไม่สามารถออกหนังสือ NTP ให้เอเชีย เอรา วันฯ เริ่มก่อสร้างโครงการได้ และยังคงต้องยึดหลักการเงื่อนไขในสัญญาไว้ก่อน 

@กก.กำกับโครงการฯ นัดกลาง ก.พ. 67 ถกหาทางออก

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการกำกับโครงการฯ ที่มี นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะนัดประชุมหารือกันในช่วงกลางเดือนก.พ. 2567 เพื่อพิจารณาแนวทาง หลังจากได้รับคำตอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด สำหรับเงื่อนไขสัญญา ระบุกรณีให้เอกชนเริ่มโครงการได้ มี 3 ประเด็น คือ 1. รฟท.ต้องส่งมอบพื้นที่โครงการในส่วนที่เกี่ยวกับ รฟท. ซึ่งปัจจุบัน รฟท.ยืนยัน เตรียมความพร้อมในการส่งมอบไว้แล้ว 2. มีการส่งมอบพื้นที่ TOD โดยเอกชนต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่า และ 3. เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)


@อีกปมยื้อ! รอสภา กทม.เคาะเพิกถอนลำรางสาธารณะ

สำหรับการพัฒนา TOD (Transit Oriented Development) พื้นที่มักกะสันขนาด150 ไร่ มีประเด็นเพิกถอนลำรางสาธารณะและเอกชนต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่าพื้นที่นั้น ปัจจุบันเอกชนยังไม่ได้ดำเนินการโดยอ้างว่ายังติดประเด็นพื้นที่มักกะสันบางส่วน ยังเป็น ‘ลำรางสาธารณะ’ ที่ รฟท.จะต้องขอถอนสภาพลำรางสาธารณะให้เรียบร้อยก่อน โดย สำนักงานคณะกรรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ ยื่นขอเพิกถอนลำรางสาธารณะดังกล่าวไปที่สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งสภา กทม.มีการพิจารณาอภิปรายกัน 2 ครั้งแล้วแต่ยังไม่เห็นชอบ  

ซึ่งข้อเท็จจริงพื้นที่มักกะสันไม่มีสภาพเป็นลำรางสาธารณะมานานแล้ว โดยหลังจาก รฟท.ได้รับมอบพื้นที่มา ได้มีการถมลำรางเพื่อทำเป็นรางรถไฟ สร้างโรงงานมักกะสัน มากว่า 70-80 ปีแล้ว และได้มีการขุดบึงมักกะสันเป็นพื้นที่รับน้ำแทน พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่มีสภาพเป็นลำรางสาธารณะ ขณะที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ก.ย. 2565 ที่ให้กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไข ทบทวน หรือปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2543 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นที่ รฟท.หารือไปยังอัยการสูงสุดกรณีการเริ่มงานได้หรือไม่ มีทั้งกรณีหากเอกชนยังไม่จดทะเบียนสิทธิเช่าพื้นที่ TOD และยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งในสัญญาระบุไว้ว่าคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิ์ขอยกเว้นเงื่อนไขได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการกำกับโครงการฯ ที่มีผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและตัวแทนของเอกชนคู่สัญญาฯ จะต้องพิจารณารายละเอียดให้ครบถ้วนรอบด้านภายใต้หลักการของสัญญาร่วมลงทุนฯ แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามเงื่อนไข ตามหลักการ คู่สัญญาจะต้องหารือกันเพื่อหาข้อยุติ จนกระทั่งไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบก็มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา

"ปี 2567 เป็นปีที่ควรจะได้ข้อสรุปและเริ่มต้นโครงการ ดังนั้น ประเด็นที่เป็นปัญหา ต้องมีการแก้ไขและตัดสินใจว่าจะดำเนินการโครงการต่อหรือไม่ สุดท้ายหากไปต่อไม่ได้จนนำไปสู่การยกเลิกสัญญากับ เอเชีย เอรา วันฯ ฝ่ายรัฐก็ต้องหารูปแบบอื่นในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อไป เพราะโครงการคงยกเลิกไม่ได้ เนื่องจากจะกระทบโครงการรถไฟไทย-จีน และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเมืองการบิน และกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในพื้นทีอีอีซีอีกด้วย"

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุว่า กรณีที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ไม่ได้รับการต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังจากครบกำหนดการขยายเวลาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 นั้นเอกชนสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อบีโอไอในการขยายระยะเวลาได้ ซึ่งได้แนะนำให้เอกชนยื่นไปที่บีโอไอตามขั้นตอนแล้ว  

@เปิดทาง ซี.พี. ชงข้อเสนอเพิ่มเติมสร้างโครงสร้างร่วม

แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวถึงประเด็นโครงสร้างร่วมระหว่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. รฟท.จะมอบให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด โดย รฟท.จัดสรรวงเงินค่าก่อสร้างในส่วนของรถไฟไทย-จีน ล่าสุดได้สอบถาม ซี.พี.ไปแล้วว่า กรณี รฟท.จะมอบหมายให้เป็นผู้ก่อสร้าง ทางฝ่ายเอกชนมีข้อเสนออะไรที่จะขอเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ไม่ใช่ข้อเสนอการปรับจ่ายเงินอุดหนุนเร็วขึ้น เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าว เป็นการเจรจาแนวทางเก่าที่บอร์ดอีอีซีไม่เห็นชอบไปแล้ว 
     
กำลังโหลดความคิดเห็น