xs
xsm
sm
md
lg

การท่าเรือฯ เปิดเวที Market Sounding ฟังเสียงนักลงทุนร่วมปั้นท่าเรือบก (Dry Port )จ.ขอนแก่น กว่า 7.5 พันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การท่าเรือฯ จัดประชุมทดสอบความสนใจนักลงทุน (Market Sounding) โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จ.ขอนแก่น เชิงพาณิชย์ วงเงินลงทุน 7,530 ล้านบาท เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆเดินหน้าปั้นฮับโลจิสติกส์เชื่อมโยงการขนส่งทางบกและทางน้ำอย่างไร้รอยต่อ

วันที่ 2 ก.พ. 2567 นายศิริวัฒน์ พินิจพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมทดสอบความสนใจของกลุ่มนักลงทุน (Market Sounding) ภายใต้โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดขอนแก่น ให้เกิดในเชิงพาณิชย์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นกลุ่มนักลงทุน กลุ่มผู้ใช้บริการ กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางน้ำ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการฯ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์สรุปความเหมาะสมและรูปแบบการลงทุนที่จะสามารถดำเนินการโครงการฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ คณะผู้บริหาร และพนักงาน กทท. ผศ.ดร.บุญญาพร ดวงสา ผู้จัดการโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ผู้บริหารสถาบันชุณหะวัณฯ คณะผู้จัดการโครงการฯ ที่ปรึกษาโครงการฯ กลุ่มผู้ใช้บริการ กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางน้ำ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ กลุ่มนักลงทุน หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น


นายศิริวัฒน์ พินิจพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นได้รับการคัดเลือกให้เป็น MICE CITY แห่งที่ 5 ของประเทศไทย มีดีมานด์และซัพพลายของการขนส่งสินค้าทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องแต่งกาย และโลหะ นอกจากนี้ยังมีความพร้อมอย่างยิ่งทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่สนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่บ้านโนนพยอม ตำบลม่วงหวาน อำเภอนํ้าพอง ให้เป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในภูมิภาคและการขนส่งสินค้าภายในประเทศที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างไร้รอยต่อได้ โดยเน้นย้ำว่า Dry Port ขอนแก่น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค


นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า โครงการ Dry Port เป็นโครงการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงคมนาคมในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการขนส่งหลายรูปแบบเชื่อมโยงการขนส่งทางบกและทางน้ำอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) พร้อมรองรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบกมากที่สุด

โดยภาพรวมโครงการฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี การจัดประชุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ซึ่ง กทท. ได้จ้างสถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ศึกษาดำเนินการของโครงการฯ ในการศึกษาข้อกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการจัดตั้งโครงการฯ ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการศึกษาโอกาสและผลตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ของโครงการฯ


สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือบก(Dry Port) ในพื้นที่จ. ขอนแก่น ให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ มีวงเงินลงทุน 7,530 ล้านบาท ตามแผนงาน กทท.จะศึกษารุปแบบ ในระหว่างเดือนก.ยน. 2566- เม.ย. 2567 (7 เดือน) จากนั้นเป็นขั้นตอนก่ารนำเสนอผลการศึกษาฯต่อ คณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษา ภายในปี 2567-2568 ,ดำเนินการพัฒนาตามรูปแบบที่ไดรับการเห็นชอบ รวมถึงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้างในปี2569-2570 ,ก่อสร้างปี 2571-2572 และเปิดให้บริการในปี 2573


ทั้งนี้ โครงการ Dry Port จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในการลดต้นทุนด้านการขนส่ง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง อำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนการให้บริการของท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครบวงจร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถให้เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวในการขนส่ง ยกระดับการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น