1 กุมภาพันธ์ 2567 ห้างโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างโลตัส โกเฟรช ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อโลตัส โกเฟรช เปลี่ยนรูปแบบสะสมโลตัสคอยน์ (Lotus's Coin) สำหรับสมาชิกมายโลตัส (My Lotus's) รูปแบบใหม่ จากเดิมยอดใช้จ่ายทุก 100 บาทได้ 1 คอยน์ เปลี่ยนเป็นยอดใช้จ่าย 50 บาทขึ้นไป ได้ 0.5% ของยอดซื้อ โดย 1 โลตัสคอยน์ ใช้แทนเงินสด 1 บาทเช่นเดิม
แม้ลูกค้ามองว่าได้รับคอยน์น้อยลง แต่เฟซบุ๊กเพจ "Lotus's - โลตัส" ชี้แจงว่า การสะสมแต้มแบบใหม่ต้องการให้ลูกค้าได้รับคอยน์ง่ายขึ้น จากแบบเดิมต้องมียอดใช้จ่าย 100 บาทถึงจะได้รับ 1 คอยน์ โดยไม่มีการคำนวณเศษที่เหลือ เปลี่ยนเป็นสะสมคอยน์ได้ โดยไม่เสียมูลค่าเศษของการใช้จ่าย เริ่มต้นซื้อของที่ 50 บาท ก็สามารถสะสมคอยน์ได้แล้ว
ทั้งนี้ ทางโลตัสขอน้อมรับความคิดเห็นของลูกค้าเพื่อนำไปปรับใช้ในอนาคต เพราะต้องการให้ทุกบาทที่ลูกค้าใช้จ่ายจะถูกนำมาคำนวณคอยน์ ซึ่งของเดิมต้อง 100 บาทเต็มเท่านั้น
นอกจากนี้ โลตัสยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม อาทิ สินค้าพิเศษแจกคอยน์เพิ่มเติมกว่า 200 รายการทุกวัน ตลอดทั้งปี หากชำระผ่านทรูมันนี่วอลเล็ต ที่บัญชีตรงกับเบอร์มือถือสมาชิก ได้รับคอยน์พิเศษ 2 เท่า สูงสุด 50 คอยน์ต่อเดือน และเมื่อซื้อสินค้าผ่านโลตัส ช้อปออนไลน์รับคอยน์ 5 เท่า ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี และคูปองพิเศษเฉพาะคุณผ่านแอปพลิเคชัน Lotus's
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีร้านค้าโลตัสรวม 2,454 สาขา แบ่งออกเป็นห้างโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต 226 สาขา ห้างโลตัส โกเฟรช ซูเปอร์มาร์เก็ต 178 สาขา และร้านสะดวกซื้อโลตัส โกเฟรช 2,050 สาขา น่าคิดว่าการสะสมแต้มแบบใหม่ เพื่อต้องการแข่งขันร้านค้าปลีกคู่แข่ง ที่ส่วนใหญ่มักใช้สูตรทุก 25 บาทเท่ากับ 1 คะแนน และ 800 คะแนนเท่ากับ 100 บาท
เมื่อเปรียบเทียบแล้ว มูลค่าโลตัสคอยน์เทียบเท่ากับค้าปลีกแบรนด์อื่น และจะได้รับคอยน์มากขึ้นตามโปรโมชันแต่ละครั้ง รวมทั้งความได้เปรียบในการใช้เป็นส่วนลด ตั้งแต่ 1 คอยน์เท่ากับ 1 บาท โดยไม่ต้องรอสะสมคะแนนให้ครบตามที่กำหนด
หากเปรียบเทียบกับมูลค่าในการสะสมคะแนนของห้างสรรพสินค้าแบรนด์อื่น ส่วนใหญ่ทุก 25 บาทเท่ากับ 1 คะแนน เท่ากับว่า 1 คะแนนมีมูลค่า 0.125 บาท หากมียอดซื้อ 100 บาทต่อใบเสร็จ ได้รับ 4 คะแนน มีมูลค่าเท่ากับ 50 สตางค์ และทุก 8 คะแนน มีมูลค่าเท่ากับ 1 บาท หากต้องการแลก 800 คะแนน มูลค่าเท่ากับ 100 บาท ปกติจะต้องสะสมยอดซื้อ 20,000 บาทขึ้นไป
ห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่ง ส่วนใหญ่มักให้แลกด้วยอัตราขั้นต่ำ 80 คะแนน เท่ากับส่วนลด 10 บาท ทำให้ต้องสะสมยอดซื้อให้ได้ 2,000 บาทขึ้นไป หรือ 400 คะแนนเท่ากับส่วนลด 50 บาท เท่ากับต้องสะสมยอดซื้อให้ได้ 10,000 บาทขึ้นไป เว้นแต่ว่ามีคะแนนสะสมพิเศษ ที่ห้างมอบให้จากโปรโมชันต่างๆ หรือการรับโอนคะแนนจากร้านค้า หรือพาร์ตเนอร์ที่ร่วมรายการ
แต่สำหรับการสะสมโลตัสคอยน์แบบใหม่ ใช้วิธีคำนวณยอดใช้จ่าย 50 บาทขึ้นไป ได้รับ 0.5% ของยอดซื้อ เศษของจำนวน 50 บาทที่เหลือยังคงนำไปคำนวณเป็นโลตัสคอยน์ (ทศนิยมตำแหน่งที่ 3 ให้ปัดทิ้ง) เฉลี่ยทุก 2 บาทได้ 0.01 คอยน์ เช่น ยอดซื้อ 52 บาท ได้ 0.52 คอยน์ 54 บาท ได้ 0.54 คอยน์ 56 บาท ได้ 0.28 คอยน์ ... กระทั่งยอดซื้อ 98 บาท ได้ 0.49 คอยน์
ส่วนการใช้โลตัสคอยน์ ได้เปรียบกว่าค้าปลีกแบรนด์อื่นตรงที่ใช้ได้ตั้งแต่ 1 คอยน์เท่ากับ 1 บาท โดยไม่ต้องรอสะสมให้ครบ 80 คะแนน หรือ 400 คะแนน โดยสามารถใช้ได้ที่แคชเชียร์ ใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน หรือใช้ผ่านโลตัสช้อปออนไลน์ได้เช่นกัน โดยโลตัสคอยน์ตัดรอบทุกวันที่ 31 มกราคมของทุกปี เช่น คะแนนที่ได้รับในปี 2567 ตัดรอบในวันที่ 31 มกราคม 2568
สินค้าที่ไม่ร่วมรายการ ได้แก่ สุรา บุหรี่ บริการชำระบิล บัตรเติมเงิน บัตรของขวัญ บริการไปรษณีย์ เวชภัณฑ์ นมดัดแปลงสำหรับทารกและนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง สำหรับทารกและเด็ก (สูตร 1 และ 2) และสินค้าทั้งหมดที่ขายบริเวณพื้นที่เช่า เป็นต้น
แม้ในมุมมองของผู้บริโภคมองว่า การเปลี่ยนรูปแบบสะสมโลตัสคอยน์ ทำให้ลูกค้าได้รับโลตัสคอยน์น้อยลง แต่โลตัสก็พยายามชดเชยด้วยการแจกคอยน์พิเศษเพิ่ม เมื่อซื้อสินค้าตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้งผู้ที่ชำระผ่านแอปพลิเคชันทรูมันนี่ วอลเล็ต ที่หมายเลขโทรศัพท์มือถือตรงกับสมาชิกมายโลตัส จะได้รับคะแนน 2 เท่า สูงสุด 50 คอยน์ต่อเดือน
กรณียอดซื้อที่ต่ำกว่า 50 บาท จะไม่ได้รับโลตัสคอยน์ น่าสังเกตว่าอาจเป็นการจูงใจให้ลูกค้าใช้จ่ายที่โลตัสให้ได้ตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปต่อใบเสร็จ เพื่อให้ได้โลตัสคอยน์ง่ายขึ้น จากเดิมต้องมียอดซื้อ 100 บาท จึงจะได้โลตัสคอยน์ ซึ่งหากแข่งขันในระดับคอนวิเนียนสโตร์ กับร้านโลตัส โกเฟรช เดิมเป็นเรื่องลำบาก ที่ต้องแข่งกับร้านบิ๊กซีมินิ และร้านท็อปส์เดลี่ของกลุ่มเซ็นทรัล
แต่สำหรับการแข่งขันในระดับไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือซูเปอร์มาร์เก็ต การใช้เป็นส่วนลดได้ตั้งแต่บาทแรก เป็นข้อได้เปรียบของโลตัสที่ห้างอื่นไม่มี และด้วยแคมเปญลดราคา "โรลแบ็ค" หมุนราคาสินค้าให้ถูกลงกว่าเดิม ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน ยังเป็นจุดแข็งที่ทำให้ค้าปลีกแบรนด์โลตัส ยังคงได้รับความนิยมถึงปัจจุบัน
หมายเหตุ : โปรแกรมสมาชิกมายโลตัส พัฒนามาจากคลับการ์ด (Clubcard) โครงการขอบคุณลูกค้าผ่านการสะสมแต้มทุกการใช้จ่ายที่เทสโก้ โลตัส (ขณะนั้น) เพื่อเปลี่ยนเป็นคูปองเงินสดและสิทธิประโยชน์ต่างๆ คืนให้แก่ลูกค้า เปิดตัวในปี 2552 ต่อมาธุรกิจโลตัสประเทศไทยและมาเลเซีย กลับเข้าสู่ครอบครัวเครือเจริญโภคภัณฑ์ หลังจากนั้นจึงได้เปลี่ยนมาเป็นโลตัสคอยน์เมื่อปี 2565
(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)