xs
xsm
sm
md
lg

หรือนี่คือ Soft Power?? สตรีทฟู๊ดไทยรับจ่ายค่าอาหารด้วยเงินคริปโต ไม่แคร์กฏหมาย หรือแค่คอนเทนต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กลายเป็นประเด็นที่สังคมโซเชียลระอุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ร้านอาหารสตรีทฟู๊ดแห่งหนึ่ง ขึ้นป้ายประกาศโชว์หรา "นักท่องเที่ยวสามารถใช้เหรียญคริปโต SHIB (Shiba Inu) และ LUNC จ่ายค่าอาหารได้" ซึ่งสร้างความสับสนทั้งชุมชนผู้ใช้คริปโต และนักท่องเที่ยว ทำให้มีการถกเถียกกันอย่างมากว่า การเปิดรับชำระด้วยเงินคริปโต แทนเงินบาทที่ออกและรับรองโดยรัฐนั้น ถูกต้องตามกฏหมายไทยหรือไม่

วานนี้ (31 ม.ค. 2567 ) ได้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย Facebook (Nattawut Rattana) ได้โพสต์ภาพร้านอาหารสตรีทฟู๊ด แห่งหนึ่ง ซึ่งมีการติดป้ายที่หน้าร้านเป็นภาษาอังกฤษ มีใจความว่า “For tourist only – pay cryptocurrency” ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “รับชำระเงินด้วยคริปโตสำหรับนักท่องเที่ยว” โดยร้านระบุว่านักท่องเที่ยวสามารถจ่ายค่าอาหารด้วยสกุลเงินดิจิทัล 2 สกุลได้แก่ Shiba Inu = ในอัตราแลกเปลี่ยนต่อเงินบาทไทยที่ 333,500 SHIB ต่อเงิน 100 บาท และ Terra Classic หรือ LUNC ในอัตราแลกเปลี่ยน 50,000 LUNC ต่อเงิน 100 บาท

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินคริปโตที่อ้างอิงจาก Coinmarketcap อัตราแลกเปลี่ยน Shiba Inu อยู่ที่ประมาณ 104 บาท ส่วน Terra Classic จะอยู่ที่ประมาณ 160 บาท ต่อจำนวนเหรียญที่แลกเปลี่ยน
 
ขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คต่างก็แสดงความคิดเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของร้านค้านั้น ถูกกฏหมายหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการรับรอง หรืออนุญาติให้ผู้ประกอบการเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินคริปโต หรือร้านอาจเลี่ยงข้อกฏหมายในการรับชำระค่าสินค้าและบริการดังกล่าวว่าเป็นรูปแบบของการรับบริจาคเป็นการกุศล และมีเหตุผลใดถึงจำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเหรียญ LUNC และเหรียญ SHIB เท่านั้น

ประกาศจากสำนักงาน ก.ล.ต.เกี่ยวกับผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปช่วงปี 2565 ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบดูแลเงิน fiat (คือสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลาง ) ได้กำหนดตามมติการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และออกเป็นประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น

ต่อมาวันที่ 23 มี.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป ประกาศหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ จะมีผลบังคับใช้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

สำหรับประกาศหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น

2.กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน

ภาพจาก Facebook : Nattawut Rattana
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการใช้เครือข่ายบล็อกเชนเพื่อทำธุรกรรมคริปโตนั้นมีข้อดีคือ ใช้ระยะเวลาในการทำธุรกรรมที่รวดเร็วเพียง 0.4-10 วินาที เทียวกับระยะเวลาโอนเงินในระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เวลาน้อย 1 วินาที และไม่สามารถดัดแปลง แก้ไขได้ (เนื่องจากชุดข้อมูลธุรกรรมในบล็อกเชนจะถูกบันทึกในระบบเครือข่าย ซึ่งจะมีการรับรองฉันทามติข้อมูลเทียบเหมือนกันทั้งหมด ถ้าจะแก้ไขต้องแก้ไขทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถทำได้)

ขณะที่เมื่อมีข้อดี ย่อมมีข้อเสียในการนำคริปโตมาใช้รับชำระค่าสินค้าและบริการได้ เนื่องจากการคงมูลค่าของ Cryptocurrency มีความผันผวนสูง และการใช้ Cryptocurrency มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ ตลอดจนการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล เทียบกับระบบการชำระเงินของไทยในปัจจุบัน ที่การคงมูลค่าไม่ผันผวน มีความปลอดภัยสูงภายใต้มาตรฐานกำกับดูแล นอกจากนี้ Cryptocurrency ไม่สามารถใช้ได้ไม่ทั่วถึง และขึ้นอยู่กับการยอมรับของลูกค้า แต่ระบบการชำระเงินของไทยในปัจจุบันสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ และมี QR code รองรับทุกธนาคาร และมีมากกว่า 7 ล้านจุดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันนี้แบงก์ชาติ (ธปท.) ยังไม่มีการรับรองอนุมัติการนำเงินคริปโตมาใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการตามกฏหมาย

ขณะที่กลุ่มนักนิยมคริปโต มักนำเสนอแต่มุมมองเชิงบวกจากการแสวงหาและใช้ประโยชน์ในการใช้งานคริปโตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พยายามหลีกเลี่ยงมุมมองเชิงลบ หรือข้อเสียของคริปโต ทำให้ผู้รับข้อมูลใหม่ๆหลงเชื่อมุมมองด้านดีเพียงด้านเดียว ซึ่งอาจได้รับผลกระทบและความเสียหายที่ไม่ได้พิจารณาความเสี่ยงของคริปโตในภายหลังตามมาได้

“สิ่งที่เป็นแก่นของธนาคารกลาง และจะไม่เปลี่ยน คือ การมีภาครัฐเป็นผู้รักษามูลค่าของเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาระบบนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามั่นคงและตอบโจทย์ มีประสิทธิภาพสูง เทียบกับ Cryptocurrency ที่แม้เป็นนวัตกรรม แต่จัดเป็นกระแสที่ไม่ตอบโจทย์ การเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ”นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน Future of Growth Forum: ‘Thailand Vision 2030’ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น