xs
xsm
sm
md
lg

"เอเซีย พลัส" เผยแผนปี 67 ต่อยอดบริการการเงินครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:





เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เผยแผนธุรกิจและกลยุทธ์ปี 2567-2569 ชู Wealth Management เป็นหัวหอกในการเติบโต พร้อมรุกตลาดกองทุนรวม ต่อยอดบริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกมิติ เติมเต็มความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมส่งมอบผลดำเนินงานที่ดี ตอกย้ำความเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจการเงินแบบครบวงจรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด และประธานกรรมการ บริษัทที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า “เนื่องจากกลุ่มบริษัทเอเซีย พลัส ให้ความสำคัญต่อนโยบายการพัฒนาธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Diversification (การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กลุ่มบริษัท) ส่งผลให้กลุ่มบริษัทเอเซีย พลัส เป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจการเงินครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับปี 2567 กลุ่มบริษัทเอเซีย พลัส ได้กำหนดกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนองค์กรในระยะ 3 ปี เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานในองค์กรดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อสนับสนุนให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตในระยะยาว”

กลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนองค์กรในระยะ 3 ปี (ปี 2567-2569) มี 4 แกนหลักที่สำคัญ ได้แก่

1) Product & Value: มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้มีความหลากหลายและส่งมอบคุณค่าที่สร้างความพึงพอใจในระดับที่สูงสุด

2) Process & Customer Experience: โดยการนำเอาเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานและการบริการ เพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

3) Brand Value & perception: มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะการปรับภาพลักษณ์บริษัทให้ทันสมัยและเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth)

4) People & Innovation: พัฒนาศักยภาพของบุคลากรโดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเข้าใจลูกค้า และความรู้ในด้านดิจิทัล รวมถึง data literacy (ความสามารถในการนำข้อมูลที่มีอยู่ในบริษัทมาใช้ให้เกิดประโยชน์)

“สำหรับกลยุทธ์ Diversification ซึ่งเอเซีย พลัส ทำมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว เรามองเห็นความสำคัญของการกระจายรายได้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นตัวแปรที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากผลดำเนินงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มีความสมดุลและทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 เรายังคงวางเป้าหมายในการเติบโตอยู่ที่ double- digit ทั้งในแง่รายได้และกำไร” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

สำหรับทิศทางการดำเนินงานและเป้าหมายการเติบโตที่แข็งแกร่งในแต่ละธุรกิจของกลุ่มบริษัทเอเซีย พลัส มีดังนี้

ธุรกิจด้านการลงทุน (บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์) วางกลยุทธ์ Increase Investment Capability เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับบริษัท ทั้งในแง่ของการขยายการลงทุนของบริษัทเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ซึ่งบริษัทมีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ หน่วยลงทุนทั่วโลก รวมถึงการลงทุนหุ้นนอกตลาด และธุรกิจ Startup

ธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.เอเซีย พลัส) ชูธุรกิจ Wealth Management เป็นหัวหอกในการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต่อยอดของบริษัทที่มีในธุรกิจ Wealth management มามากกว่า 17 ปี ซึ่งได้สั่งสมและเรียนรู้ความต้องการของนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมรุกตลาดกองทุนรวมเพื่อสร้างฐานรายได้ที่มั่นคงสำหรับในอนาคต รวมทั้งยกระดับบริการ “นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker)” สู่การเป็น “ผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)” โดยแนวทางดำเนินงานที่สำคัญๆ ได้แก่

1.สร้าง Platform ที่มีมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะมีเครื่องมือใหม่ๆ ให้บริการได้แก่

a.ASP Academy: กระบวนการในการสร้างผู้แนะนำการลงทุน และ Relationship ให้มีคุณภาพตามแบบฉบับ Asia Plus DNA ที่มีความรู้รอบด้านรวมถึงการดูแลลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ
b.ASP CIO Office: กระบวนการในการวิเคราะห์และคัดเลือกผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่เหมาะกับลูกค้าอย่างมีมาตรฐาน

c.ASP-ONE: ประสบการณ์ในการใช้บริการของเราให้มีความสะดวกสบายและง่าย (Customer Experience)

2.สร้าง Best Omni-Channel Experience โดยการผสมผสานเทคโนโลยี และ Human Touch เพื่อสร้างประสบการณ์การลงทุนที่ดี และเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ปลอดภัยให้แก่ลูกค้าของบริษัท นั่นคือ ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน (บลจ.แอสเซท พลัส) วางกลยุทธ์มุ่งเน้นการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างจากตลาดโดยรวมในกองทุนที่มีความหลากหลายในแต่ละประเทศ และในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นที่นิยม ที่สำคัญที่สุดคือการส่งมอบผลการดำเนินงานของผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในระดับที่ดีถึงดีที่สุดในอุตสาหกรรม ถือเป็นเป้าหมายหมายหลักของธุรกิจกองทุนรวม ปัจจุบันกองทุนของ บลจ.แอสเซท พลัส ยังได้รับกระแสตอบรับที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนที่มีการลงทุนในตราสารทุนประเทศญี่ปุ่นอย่างกองทุน ASP-NGF ที่มีการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมเป็นอันดับ 1 ในกองทุนประเภทเดียวกันในปี 2566 รวมถึงกองทุนอื่นๆ โดยเฉพาะกองทุนตราสารทุนไทยอย่าง

กองทุน ASP-SME ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นและติดอยู่กลุ่มชั้นนำของอุตสาหกรรมได้ ในส่วนของกองทุนเปิดใหม่ในปี 2566 แอสเซท พลัส ได้มีการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทคาร์บอนเครดิต อย่างเช่น ASP-GCC-UI ที่เน้นการลงทุนในสินเชื่อนอกตลาดที่คุณภาพดี มุ่งเน้นการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ และมีความผันผวนต่ำ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดีจากนักลงทุนที่ปรึกษา (บจก.ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส) เป็นอีกบทบาทสำคัญของบริษัทที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันการเติบโตทางธุรกิจที่มั่นคงให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ (Corporate) ซึ่งมีทั้งการระดุมทุนรูปแบบ Private Placement การทำ Merger & Acquisition และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกค้าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายธุรกิจ

“แม้ว่าในปี 2567 เศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง รวมถึงเศรษฐกิจไทย แต่การวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรที่ชัดเจนจะผลักดันให้พนักงานและบริษัทในกลุ่มเอเซีย พลัส เดินไปข้างหน้าในทิศทางที่สอดคล้องกัน มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ Wealth Management อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นรากฐานในสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย” ดร.ก้องเกียรติ กล่าวในตอนท้าย


SET INDEX มีความผันผวน เพิ่มความเสี่ยงสำหรับการลงทุนระยะสั้น
แนะนำเน้นสะสมหุ้นคุณภาพดีจ่ายปันผลได้ต่อเนื่อง เพื่อการลงทุนระยะยาว

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในมุมมองทางปัจจัยพื้นฐานถือว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างดี กล่าวคือ กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2567 ฟื้นตัวต่อเนื่องโดยประเมิน EPS Growth ที่ราว 12% โดยที่บริษัทใน SET50 มากกว่าครึ่งสามารถทำกำไรได้สูงกว่าระดับก่อน Covid-19 ระบาดแล้ว ในมุมของ Valuation พบว่าค่า PER ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่บริเวณ 14 เท่า มีค่า PBV ที่ 1.34 เท่าซึ่งถือว่าอยู่ระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต ขณะที่หากพิจารณาระดับ Market Earning Yield   Gap (ใช้กำไรคาดการณ์ปี 2567) อยู่ที่ 4% ซึ่งถือเป็น Valuation ที่ถูก และเหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายถือได้ว่าสิ้นสุดวัฏจักรขาขึ้นแล้ว และอยู่ในช่วงที่รอเวลาปรับลดลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งจะทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายตัวสูงขึ้นเพิ่มความน่าสนใจขึ้นตามลำดับ ขณะที่หากพิจารณาในมุมของเศรษฐกิจ มีโอกาสฟื้นตัวราว 3.5-4% แม้จะมีความล่าช้าของโครงการภาครัฐ เช่น DIGITAL WALLET อย่างไรก็ตาม ภาพระยะยาวอาจเป็นแรงผลักดันผ่านนโยบายการคลัง แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ เพื่อเรียกความเชื่อมั่น พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่เข้มข้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นไปได้ยากในระยะสั้น ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเพราะมูลค่าการซื้อขายที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กล่าวคือ มูลค่าการซื้อขายที่เบาบางเฉลี่ย 4.5 หมื่นล้านบาท/วัน (YTD) คิดเป็น TURNOVER ราว 65% ต่อปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเม็ดเงินต่างชาติที่ยังไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงระดับความไม่มั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อ SET Index โดยอาจจะมีสาเหตุได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความไม่เป็นเอกภาพของแนวนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังของประเทศ ความกังวลเรื่องตลาดตราสารหนี้ซึ่งในปี 2567 มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระจำนวนมากราว 8.8 แสนล้านบาท และมีสัญญาณที่บางส่วนมีความเสี่ยงต่อการชำระคืน นอกจากนี้ยังมีความกังวลสงสัยในรูปแบบการซื้อขายผ่าน Program Trading และการทำ Short Sell ในหุ้นที่มีขนาดกลาง-ใหญ่ สภาวะดังกล่าวทำให้ SET Index มีความผันผวน เพิ่มความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในระยะสั้น

กลยุทธ์ที่แนะนำ เป็นการให้สะสมหุ้น คุณภาพดีที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่อง เพื่อการลงทุนระยะยาว เช่น AP, SPALI, ADVANC, PTTEP, TTB และหุ้นอ้างอิงกับการท่องเที่ยว AOT, BDMS หลังจากมีการเปิดฟรีวีซ่าไทยจีนถาวร ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป ส่วนเป้าหมาย SET Index สิ้นปี 2567 เราประเมินว่าน่าจะอยู่ที่บริเวณ 1,650-1,670 จุด ภายใต้ MEYG ที่ระดับ 3.3% อิง P/E 17.24 เท่า และใช้ EPS67F 96-97 บาท/หุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น