xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยใหม่แฉเหล่าแบงก์ชาติกลัวฝังลึก สมคบคิดบ่อนทำลายอิทธิพลบิตคอยน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



แดเนียล แบตเทน หุ้นส่วนผู้จัดการซีเอช4 แคปิตอล และนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศคนดังของเดอะ บิตคอยน์ อีเอสจี ฟอร์แคสต์ เปิดเผยงานวิจัยฉบับใหม่ที่ชี้ว่า ธนาคารกลางหลายประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (อียู) มีความพยายามร่วมกันที่จะบ่อนทำลายอิทธิพลและสถานะของบิตคอยน์อย่างเป็นระบบ

ตามรายงานของ Bitcoinist.com แบตเทนอธิบายอย่างละเอียดบนแพลตฟอร์ม X ว่า ขณะที่ผู้คนหลับใหล คณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดทำรายงานผ่านทางหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ (อีเอสเอ็มเอ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยรายงานดังกล่าวมีการวางแผนตีตราบิตคอยน์ว่า เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและภัยคุกคามความมั่นคงด้านพลังงานของอียู อีกทั้งยังเป็นที่หลบภัยสำหรับอาชญากรทางการเงิน ซึ่งจะปูทางไปสู่การแบนบิตคอยน์และเหมืองบิตคอยน์ในทางพฤตินัยในปี 2025

แบตเทนร่ายต่อว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่ครอบคลุมมากขึ้นและมีนัยระดับโลก โดยย้ำว่า อีเอสเอ็มเอที่ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอีซีบี ส่งสัญญาณว่า หลังจากที่รายงานฉบับนั้นได้รับการยอมรับในอียู ทั้งสองสถาบันจะผลักดันให้ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับประเทศอื่นๆ

เขายังบอกอีกว่า มีความกลัวฝังลึกในหมู่ธนาคารกลางเกี่ยวกับศักยภาพในการกระจายศูนย์ของบิตคอยน์ โดยระบุว่า ระหว่างเกิดวิกฤตการเงินโลก แบงก์ชาติพากันตระหนักถึงความเสี่ยงที่ประชาชนอาจค้นพบว่า ระบบการเงินที่อิงกับธนาคารกลางถูกถ่ายโอนจากคนจนไปสู่คนรวยมาตลอดหลายชั่วอายุคน

แบตเทนกล่าวหาอีซีบีเปลี่ยนจุดยืนจากที่เคยเย้ยหยันมาเป็นต่อต้านอย่างจริงจังหลังปี 2018 และชี้ว่า อีซีบี ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) และธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวตั้งตัวตีในแคมเปญต่อต้านบิตคอยน์

รายงานการวิจัยยังพาดพิงถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นตัวกำหนดมุมมองและนโยบายสาธารณะต่อบิตคอยน์ ยกตัวอย่างเช่นในปี 2021 ที่อีลอน มัสก์ ประกาศว่า เทสลาจะไม่ยอมรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์อีกต่อไป และนักวิเคราะห์ที่ชื่อ วิลลี วู วิจารณ์เป็นตุเป็นตะว่า รุนแรงยิ่งกว่าการแบนของจีนเสียอีก และจะทำให้ตลาดกระทิงของบิตคอยน์ในปี 2021 สะดุด

การมีส่วนเกี่ยวข้องในแคมเปญต่อต้านบิตคอยน์ของคริส ลาร์เซน ผู้ก่อตั้งริปเปิล ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและผู้พัฒนาเหรียญ XRP ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างของผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกันระหว่างผู้เล่นในระบบการเงินดั้งเดิมกับนโยบายสกุลเงินดิจิตอล โดยแบตเทนชี้ว่า การที่ลาร์เซนบริจาคเงิน 5 ล้านดอลลาร์ให้แคมเปญต่อต้านบิตคอยน์ของกรีนพีซยูเอสเอเป็นความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ที่ชัดเจน แต่สื่อกระแสหลักกลับมองข้าม

อย่างไรก็ตาม แบตเทนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ถูกธนาคารกลางร่วมกันสกัด แต่บิตคอยน์ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ โดยราคาบิตคอยน์ในวันพุธ (31 ม.ค.) อยู่ที่ราว 43,480 ดอลลาร์ และในตอนท้ายรายงาน เขาเรียกร้องให้ร่วมกันสนับสนุนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานกำกับดูแลและต่อสู้กับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เช่น โอเพน ไดอะล็อก ฟาวน์เดชัน, บิตคอยน์ โพลิซี ยูเค และซาโตชิ แอ็กชัน ฟันด์ เพื่อกำหนดอนาคตที่สกุลเงินดิจิตอลสามารถเติบโตต่อไป

รายงานการวิจัยทิ้งท้ายว่า กลุ่มต่อต้านบิตคอยน์ใช้ความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือโจมตีหลักด้วยการกล่าวหาว่า บิตคอยน์เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ที่ศึกษาอย่างละเอียดจะรู้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องโกหก

งานวิจัยฉบับใหม่ตีแผ่ธนาคารกลางหลายประเทศร่วมมือกันบ่อนทำลายอิทธิพลและสถานะของบิตคอยน์อย่างเป็นระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น