สำหรับคนที่อยู่โซนกรุงเทพเหนือ ได้แก่ จตุจักร บางเขน ดอนเมือง และสายไหม ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นประจำ กับโซนกรุงเทพตะวันออกบางส่วน ได้แก่ คันนายาว มีนบุรี และใกล้เคียง อาจประสบปัญหาค่าเดินทางเพิ่มขึ้น หลังรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย และรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู เก็บตามระยะทาง ปกติเริ่มต้นที่ 15-45 บาท
คนที่ใช้รถไฟฟ้าเป็นครั้งคราวอาจจะไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นภาระมากนัก แต่สำหรับคนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพื่อหนีรถติดในตอนเช้าและเย็นเป็นประจำ จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไป-กลับวันละ 30 บาท นับเฉพาะวันทำงาน 5 วัน (ไม่นับวันเสาร์-อาทิตย์) ตกสัปดาห์ละ 150 บาท หรือหากเดือนหนึ่งมี 4 สัปดาห์ตกเดือนละ 600 บาท
หากบวกค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งแต่สถานีสะพานควายลงมา จะต้องเสียค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 32 บาท สูงสุด 62 บาทต่อเที่ยว และหากบวกค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู เปลี่ยนเส้นทางที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จะต้องเสียค่าโดยสารราคาปกติเพิ่ม เริ่มต้นที่ 17-45 บาท เบ็ดเสร็จทั้งสามส่วน จะต้องจ่ายค่าโดยสารตั้งแต่ 77 บาท สูงสุด 107 บาทต่อเที่ยวเลยทีเดียว
Ibusiness review ตามหาสูตรประหยัดค่ารถไฟฟ้า ตั้งแต่การใช้โปรโมชัน BTS Challenge สะสมเที่ยวเดินทางเพื่อรับพอยท์มาแลกเที่ยวเดินทางฟรี การใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน สถานีพหลโยธิน สำหรับคนที่ลงสถานีสุขุมวิทและสถานีสีลม ซึ่งมีเที่ยวโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป 30 วัน และการใช้บริการรถประจำทางหรือรถตู้สาธารณะควบคู่กัน
เพื่อให้การเดินทางคุ้มค่ายิ่งขึ้น ในยุคที่เศรษฐกิจซบเซา รายได้เหมือนเดิม แต่รายจ่ายและค่าครองชีพเพิ่มขึ้น
- โปรโมชัน BTS Challenge แลกเที่ยวเดินทางฟรี
สำหรับคนที่เดินทางต่อเนื่องจากสถานีหมอชิต อย่างต่ำ 5 สถานี ถึงสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีสิทธิ์ที่จะสะสมเที่ยวเดินทางจากโปรแกรมบีทีเอส ชาเลนจ์ ขั้นต่ำ 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ 150 คะแนน เพื่อรับพอยท์สะสมจากโปรแกรมสมาชิก Rabbit Rewards นำไปแลกเป็นเที่ยวเดินทางฟรี เริ่มต้น 250 คะแนน แลก 1 เที่ยว โดยโปรแกรมจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567
ผู้โดยสารจะต้องสมัครสมาชิก Rabbit Rewards และผูกบัตรแรบบิทเข้ากับบัญชีสมาชิกก่อน จากนั้นใช้บัตรแรบบิทเดินทาง นับเฉพาะส่วนที่เป็นเส้นทางสัมปทานเดิม ช่วงสถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน ตั้งแต่ 5 สถานีขึ้นไป หากต่ำกว่า 5 สถานี หรือส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีลม-สุขุมวิท จะไม่นับเที่ยวเดินทางสะสม
เปรียบเทียบง่ายๆ เดินทางจากสถานีคูคต ไปลงสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระบบจะนับเฉพาะสถานีหมอชิต ถึงสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ครบ 5 สถานี หากเกิน 4 เที่ยว จะได้รับคะแนนสะสม แต่หากเดินทางจากสถานีคูคต ไปลงสถานีสะพานควาย ระบบจะนับเฉพาะสถานีหมอชิต ถึงสถานีสะพานควาย เพียง 1 สถานี ซึ่งไม่ครบ 5 สถานี จะไม่ได้รับคะแนนสะสม
การนับเที่ยวเดินทางเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 03.00 น. ของวันจันทร์ สิ้นสุดในเวลา 02:59 น. ของวันจันทร์ในสัปดาห์ถัดไป จากนั้นคะแนนสะสมถูกเพิ่มไปยังบัญชีสมาชิก Rabbit Rewards โดยอัตโนมัติภายในวันพุธของสัปดาห์ถัดไป คะแนน 250 พอยท์แลกได้ 1 เที่ยว, 645 พอยท์ได้ 3 เที่ยว, 1,075 พอยท์ได้ 5 เที่ยว, 2,150 พอยท์ได้ 10 เที่ยว และ 4,300 พอยท์ได้ 20 เที่ยว
สมมติว่า วันทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน (จันทร์-ศุกร์) เดินทางตกสัปดาห์ละ 10 เที่ยว ได้คะแนน 650 พอยท์ สามารถแลกเที่ยวเดินทางฟรีได้ 3 เที่ยว หรือจะสะสมไปเรื่อยๆ ให้ได้ 4,300 พอยท์ เพื่อแลกเที่ยวเดินทางฟรีได้ 20 เที่ยว (ตกเที่ยวละ 215 พอยท์) แลกได้ที่แอปพลิเคชัน Rabbit Rewards แล้วนำคูปองที่แลกได้พร้อมบัตรแรบบิทไปที่สถานีภายใน 72 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเที่ยวเดินทางที่แลกมา จะสามารถใช้เที่ยวเดินทางฟรี ซึ่งต้องเดินทางเที่ยวแรกภายใน 45 วัน แต่หากเดินทางผ่านส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าว ถึงสถานีคูคต ระบบจะหักค่าโดยสารเพิ่ม 15 บาทต่อเที่ยว จึงควรเติมเงินลงในบัตรแรบบิทให้เพียงพอกับการเดินทาง โดยมูลค่ารวมในบัตรแรบบิทต้องไม่เกิน 4,000 บาท
- BL Adult Pass สูตรผสมคนทำงานสุขุมวิท-สีลม
สำหรับคนที่ทำงานย่านออฟฟิศที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอส กับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงสถานีคูคตถึงสถานีลาดพร้าว แล้วเปลี่ยนเส้นทางที่สถานีพหลโยธิน จะช่วยประหยัดค่าโดยสารได้เล็กน้อย แต่จะประหยัดมากขึ้นหากใช้เที่ยวเดินทาง BL Adult Pass 30 วัน ซึ่งจำหน่ายถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567
โดย BL Adult Pass ต้องมีบัตร MRT Card สามารถเติมเที่ยวโดยสารได้ที่ห้องออกบัตรโดยสาร รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน และใช้เดินทางเฉพาะสายสีน้ำเงินเท่านั้น เริ่มต้น 15 เที่ยว 450 บาท (เฉลี่ย 30 บาทต่อเที่ยว), 25 เที่ยว 700 บาท (เฉลี่ย 28 บาทต่อเที่ยว), 40 เที่ยว 1,040 บาท (เฉลี่ย 26 บาทต่อเที่ยว) และ 50 เที่ยว 1,250 บาท (เฉลี่ย 25 บาทต่อเที่ยว)
กรณีศึกษา สถานีอโศกกับสถานีสุขุมวิท หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสต่อเดียว จากส่วนต่อขยายจะเสียค่าโดยสาร 62 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีพหลโยธิน ลงที่สถานีสุขุมวิท ค่าโดยสาร 33 บาท รวม 48 บาทต่อเที่ยว ถูกกว่า 14 บาท ถ้าใช้ BL Adult Pass ค่าโดยสาร 25-30 บาทต่อเที่ยว รวมแล้วตกเที่ยวละ 40-45 บาท หรือถูกกว่า 17-22 บาทต่อเที่ยว
หรือสถานีศาลาแดงกับสถานีสีลม หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสต่อเดียว จากส่วนต่อขยายจะเสียค่าโดยสาร 62 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีพหลโยธิน ลงที่สถานีสีลม ค่าโดยสาร 43 บาท รวม 58 บาทต่อเที่ยว ถูกกว่า 4 บาท ถ้าใช้ BL Adult Pass ค่าโดยสาร 25-30 บาทต่อเที่ยว รวมแล้วค่าโดยสารตกเที่ยวละ 40-45 บาท หรือถูกกว่า 17-22 บาทต่อเที่ยว
ข้อจำกัดก็คือ ต้องพกบัตรแรบบิท 1 ใบเพื่อเดินทางมาถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว และบัตร MRT Card อีก 1 ใบเพื่อเดินทางที่สถานีพหลโยธิน อีกทั้งต้องเดินเท้าผ่านสกายวอล์ก ขณะที่ชั่วโมงเร่งด่วน ถ้าเป็นรถไฟฟ้ายสายสีน้ำเงิน ผู้โดยสารบนขบวนรถจะหนาแน่น เนื่องจากมีตู้โดยสารเพียง 3 ตู้ต่อขบวน และ BL Adult Pass มีอายุ 30 วัน ซื้อมาแล้วถ้าใช้ไม่หมดต้องปล่อยทิ้ง
- รถเมล์ ที่พึ่งยามยาก
นอกจากนี้ แนวเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีรถประจำทางที่ทับซ้อนกันบางส่วน ได้แก่ รถประจำทาง ขสมก. สาย 34 รังสิต-หัวลำโพง, สาย 59 (1-8) รังสิต-สนามหลวง, สาย 503 รังสิต-สนามหลวง, สาย 26 (1-36) มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 107 บางเขน-คลองเตย, สาย 129 (1-14E) บางเขน-สำโรง (ทางด่วน)
ส่วนไทยสมายล์บัส มีสาย 34 (1-3) หัวลำโพง-บางเขน, สาย 39 (1-5) รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่นับรวมรถตู้บางเส้นทาง เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางช่วงนอกเวลาชั่วโมงเร่งด่วน การจราจรไม่ติดขัด แต่หากเป็นชั่วโมงเร่งด่วน คนกรุงเทพฯ มักจะนึกถึงรถไฟฟ้าเป็นลำดับต้นๆ เพราะต้องการหนีการจราจรติดขัด แม้จะต้องเจอผู้โดยสารหนาแน่นและค่าโดยสารที่สูงขึ้นก็ตาม
ถึงกระนั้น ยังคงต้องรอโครงการประชานิยม อย่างนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ทำได้เพียงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน เห็นทีจะเป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุผลหลายประการ
(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)