ผ่านไปกว่าครึ่งเดือนแล้วสำหรับมาตรการ Easy e-Receipt เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ในช่วงต้นปี 2567 โดยผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือบริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ผ่านการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น
ความแตกต่างระหว่างมาตรการ Easy e-Receipt กับมาตรการช้อปดีมีคืน เมื่อปี 2566 ก็คือ มาตรการช้อปดีมีคืนสามารถใช้ได้ทั้งใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปทั้งแบบกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ แต่สำหรับมาตรการ Easy e-Receipt ใช้ได้เฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า e-Tax Invoice & e-Receipt หรือเรียกโดยย่อว่า E-TAX เท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะจัดส่งให้ทางอีเมล
Ibusiness Review สำรวจห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt พบว่าหากเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดัง สามารถออก E-TAX ให้ได้ ห้างบางแห่งหากลูกค้าเคยใช้มาตรการช้อปดีมีคืนเมื่อปี 2566 แล้วมีข้อมูลอยู่ในระบบ สามารถนำบัตรประชาชนพร้อมใบเสร็จมาเปลี่ยนเป็น E-TAX ได้เลย แต่บางแห่งต้องลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง
โดยลูกค้าจะต้องเช็กอีเมลว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ส่งเข้ามาหรือไม่ แต่บางแห่งส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร และมอบเอกสารกระดาษ ซึ่งระบุข้อความว่า "เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์"
ส่วนร้านอาหารพบว่ามีหลายแห่งไม่เข้าร่วมโครงการ เช่น MK Restaurant แจ้งว่า ใบกำกับภาษี E-Tax ยังไม่มีให้บริการ มีเพียงออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษเท่านั้น ส่วนร้านเคเอฟซีเข้าร่วมเฉพาะที่หน้าร้านเท่านั้น โดยให้สแกนคิวอาร์โค้ดที่จุดขาย กรอกข้อมูลพร้อมยืนยันตัวตน และส่งคืนใบกำกับภาษีแบบย่อให้พนักงาน เพื่อจัดทำ E-Receipt ส่งผ่านอีเมล
แม้ช่องทางการรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-TAX) แตกต่างกัน แต่เมื่อร้านค้าส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะมีข้อมูลในระบบโดยยึดตามชื่อและหมายเลขบัตรประชาชน ข้อมูลเหล่านี้อาจปรากฎในระบบตรวจสอบข้อมูลภาษีตัวเองหรือ My Tax Account ของกรมสรรพากร เหมือนที่ปรากฎค่าลดหย่อนในหัวข้อ "มาตรการช้อปดีมีคืน" ปีภาษี 2566
อาจมีคนสงสัยว่า การขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง เมื่อสำรวจห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่งพบว่า หากขอในนามบุคคลธรรมดา ข้อมูลที่ใช้ประกอบด้วย ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสไปรษณีย์ อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เมื่อแจ้งข้อมูลแก่พนักงานแล้ว ให้พนักงานทวนอีเมล หากถูกต้องให้แจ้งพนักงานส่งอีเมลทันที
หากเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พนักงานจะส่งอีเมลให้แก่ลูกค้าทันที ให้ลูกค้าเปิดอีเมลผ่านบราวเซอร์ หรือแอปพลิเคชันอีเมลของตน เพื่อตรวจสอบว่ามีจดหมายเข้ามาที่กล่องข้อความ (Inbox) หรือไม่ หากหาไม่เจอ ให้ตรวจสอบโดย 1. เข้าไปที่กล่องจดหมายขยะ (Junk Mail) 2. หมั่น Refresh บ่อยครั้ง 3. ขอพนักงานทวนอีเมลอีกครั้งว่าถูกต้องหรือไม่
แต่สำหรับร้านค้าบางแห่ง เช่น Watsons จะแจ้งว่า ใบกำกับภาษีแบบ E-TAX จะส่งไปที่อีเมลในวันถัดไป
หากห้างสรรพสินค้าที่ขอใบกำกับภาษีแบบ E-TAX เป็นห้างที่ใช้บริการเป็นประจำ เช่น ห้างและร้านค้าในเครือเซ็นทรัล หรือโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต หากเคยขอ E-TAX มาก่อน ทางห้างฯ จะเก็บข้อมูลการขอใบกำกับภาษีแบบ E-TAX ไว้ในฐานข้อมูล ครั้งต่อไปให้นำใบเสร็จแบบย่อพร้อมบัตรประชาชนไปขอ E-TAX ที่จุดบริการลูกค้าได้เลย โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลอีก
แต่สำหรับห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าบางแห่ง ที่การออกใบกำกับภาษีแบบ E-TAX ไม่ได้เชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าจากส่วนกลาง จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลแก่พนักงานอีกครั้ง ความผิดพลาดที่พบเห็นบ่อยครั้งคือ อีเมลผิด และหากเขียนด้วยลายมือโดยไม่ได้ให้บัตรประชาชนตัวจริง และไม่มีเครื่องอ่านบัตรประชาชน ก็จะผิดทั้งชื่อ นามสกุล และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน
แนะนำว่าให้ตรวจสอบข้อมูล หากไม่ถูกต้องให้แจ้งพนักงานทันทีภายในวันที่ซื้อสินค้า ส่วนใหญ่ใบเสร็จจะออกแบบวันต่อวัน
ถึงกระนั้น ร้านค้าบางแห่งก็มีระบบการออกใบกำกับภาษีแบบ E-TAX ได้อย่างง่ายดาย เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) สะดวกที่สุดคือ สมัครรับใบเสร็จผ่านไอคอน โปร์ไฟล์ ใน 7-App และกดขอใบกำกับภาษี เมื่อสมัครเสร็จแล้ว เวลาซื้อสินค้าพนักงานจะแจ้งว่าได้เป็นใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ ให้เข้าไปที่เมนู "ใบเสร็จ e-Tax" เลือกรายการซื้อสินค้าแล้วกด "ขอใบกำกับภาษี"
จากนั้นเลือก "บุคคลธรรมดา" ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องตามที่เคยสมัคร แล้วกดยืนยัน จากนั้นรอรับใบกำกับภาษีแบบ E-Tax ผ่านอีเมล หรือสามารถดูใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูป (PDF) ผ่านรายการซื้อสินค้าที่ร้านได้ที่ 7-App โดยรายการซื้อสินค้าแสดงย้อนหลังสูงสุด 30 วัน และขอใบกำกับภาษีได้ภายในวันที่ซื้อโดยตรวจสอบความถูกต้องก่อนยืนยัน
อีกแห่งหนึ่ง คือ ร้านเสื้อผ้ายูนิโคล่ (Uniqlo) เมื่อซื้อสินค้าทั้งจากหน้าร้านสาขา และร้านยูนิโคล่ออนไลน์สโตร์ สามารถลงทะเบียนขอ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-receipt)” ได้ที่เว็บไซต์ https://e-tax-new.uniqlothailand.com โดยกรอกอีเมลที่ต้องการรับ E-Receipt จากนั้นเข้าไปที่อีเมลเพื่อกดยืนยัน (Verify) แล้วกดที่เมนู "ขอใบกำกับภาษี"
เลือกประเภท "บุคคลธรรมดา" กรอกเลขที่บัตรประชาชน เลือกช่องทางการซื้อสินค้า กรอกหมายเลขใบเสร็จ จำนวนเงินทั้งหมด และข้อมูลอื่นๆ โดยลูกค้าสามารถลงทะเบียนขอออกใบกำกับภาษีย้อนหลังได้ภายในปีเดียวกัน (365 วัน) แต่แนะนำให้ดำเนินการทันที เนื่องจากต้องกรอกหมายเลขคำสั่งซื้อกรณีซื้อออนไลน์ หรือเลข ABB ด้านท้ายใบเสร็จกรณีซื้อที่ร้าน
หากไม่ได้เก็บข้อมูลจะไม่สามารถค้นหาข้อมูลย้อนหลังได้ ซึ่งหากขอออกใบกำกับภาษี E-receipt ไปเรียบร้อยแล้ว หากทำอีเมลที่แจ้งใบกำกับภาษีสูญหาย หรือเผลอกดลบอีเมล ก็สามารถขอให้ยูนิโคล่ส่งเอกสารให้ใหม่ได้
ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรกล่าวถึงข้อดีของ e-Tax Invoice & e-Receipt ก็คือ ลดปัญหาการจัดการข้อมูลหรือเอกสารที่อยู่ในรูปแบบของกระดาษ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นำข้อมูลไปใช้ในการประมวลผลในระบบสารสนเทศเพื่อประโยชน์ขององค์กร ลดการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ
รวมทั้งมีความน่าเชื่อถือและผลผูกพันทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพราะกรมสรรพากรบังคับให้ต้องจัดทำตามวิธีการแบบปลอดภัยที่้เชื่อถือได้ทั้งระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนให้บริการระบบออกใบกำกับภาษีแบบ E-Tax แก่ผู้ประกอบการในราคาเริ่มต้นที่ 600 บาทต่อเดือน หรือใช้ระบบ e-Tax Invoice / e-Receipt ของกรมสรรพากรได้ฟรี
แม้มาตรการ Easy E-receipt จะมีขั้นตอนการขอใบกำกับภาษีแบบ E-TAX ที่ยุ่งยาก แต่เมื่อข้อมูลถูกเข้าไปอยู่ในระบบของกรมสรรพากร การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2567 ที่จะยื่นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2568 คาดหวังว่าจะสามารถดึงข้อมูลจากระบบ My Tax Account ของกรมสรรพากรไปใช้ลดหย่อนภาษีง่ายขึ้น
หมายเหตุ : Ibusiness Review ทดลองทำบัตรสำหรับยื่นให้พนักงานที่จุดบริการลูกค้า เพื่อขอออกใบกำกับภาษีแบบ E-TAX สามารถนำไปวางในโปรแกรม Microsoft Word ปรับขนาดให้เท่ากับนามบัตร แล้วสั่งพิมพ์ผ่านเครื่องพริ้นเตอร์ จากนั้นตัดออกตามขนาด กรอกข้อมูลด้วยตัวบรรจง แล้วพกติดกระเป๋าสตางค์เอาไว้ หรือสามารถนำไปออกแบบเองได้ตามต้องการ
(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)