ความพยายามในการพัฒนาบัตรพลาสติก ได้แก่ บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด ให้มีความปลอดภัย ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลบัตร ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นสิ่งที่ผู้ออกบัตรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เฉกเช่นการเปิดตัวบัตรเครดิต KTC DIGITAL ของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เมื่อเร็วๆ นี้
บัตรเครดิต KTC DIGITAL แตกต่างจากบัตรเครดิตทั่วไป คือ บัตรพลาสติกแบบโปร่งแสง มีเฉพาะชื่อและนามสกุลผู้ถือบัตร ไร้หมายเลขและแถบแม่เหล็ก ใช้ได้กับเครื่องรูดบัตร (EDC) และตู้เอทีเอ็ม (ATM) ที่รองรับการทำรายการด้วยชิปการ์ด ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศไทย และการแตะจ่าย (Contactless) เท่านั้น ปลอดภัยเวลาใช้จ่ายผ่านร้านค้า รวมถึงขนส่งสาธารณะ
ขณะเดียวกัน ข้อมูลบัตรทั้งหมดจะอยู่ใน แอปพลิเคชัน KTC Mobile ที่เป็นบัตรเครดิตเสมือน (Virtual Card) โดยเมื่อสมัครและได้รับการอนุมัติ สามารถใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ สแกนจ่ายผ่าน QR Payment (บัตรเครดิต) และผูกบัตรกับอุปกรณ์พกพา เช่น Google Pay บนโทรศัพท์มือถือ หรือนาฬิกาสมาร์ทวอตช์ เช่น Fitbit Pay, Garmin Pay, SWATCHPAY! ได้ทันที
ความพิเศษอีกประการหนึ่ง คือ ระบบ Dynamic CVV ซึ่งพัฒนามาจากตัวเลข 3 หลักด้านหลังบัตร ที่เป็นรหัสความปลอดภัย สำหรับยืนยันการทำธุรกรรม หากจะใช้งานต้องกดร้องขอรหัสผ่านแอปฯ KTC Mobile ก่อน เพื่อความปลอดภัยในการชอปออนไลน์หรือผูกบัตรฯ สามารถใช้งานได้ภายใน 24 ชั่วโมงต่อการขอรหัส 1 ครั้ง และรหัสจะเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเมื่อมีการร้องขอ
สมาชิกบัตรเครดิต KTC เดิม สมัครบัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล และขอออกบัตรพลาสติกไร้หมายเลข ได้ที่แอปฯ KTC Mobile และลูกค้าใหม่สมัครได้ที่เว็บไซต์ www.ktc.co.th หรือที่ KTC LINE Official account (@ktc_card) โดยบัตร KTC Digital Platinum Mastercard จะได้รับบัตรภายใน 3-7 วัน ส่วนบัตร KTC Digital Platinum VISA เริ่มจัดส่งบัตร 15 มกราคม 2567
สำหรับผู้ที่ถือบัตรเครดิต KTC VISA Platinum หรือ KTC Mastercard Platinum ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปีอยู่แล้ว หากออกบัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล ซ้ำแบรนด์กัน จะถูกคิดค่าธรรมเนียมเฉพาะบัตรใบที่ซ้ำแบรนด์ 535 บาทต่อบัตรต่อปี จึงแนะนำให้ออกบัตรต่างแบรนด์ เช่น มีบัตร KTC VISA Platinum อยู่แล้ว แนะนำให้ออกบัตรเครดิต เคทีซี ดิจิทัล แบบ Mastercard แทน
ปัจจุบัน KTC มีจำนวนผู้ถือบัตรเครดิตรวม 2.62 ล้านใบ มากที่สุดคือบัตรแพลทินัม 2.28 ล้านใบ แบ่งเป็น VISA 60% และ Mastercard 40% มีส่วนแบ่งการตลาด 12% ตั้งเป้ายอดผู้ถือบัตรเคทีซี ดิจิทัลในปีนี้ 1 แสนใบ จากเป้าหมาย 2.3 แสนใบ
ความพยายามในการพัฒนาบัตรพลาสติก ของผู้ให้บริการออกบัตรแต่ละรายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับบทเรียนจากเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งแต่คดีพนักงานแอบคัดลอกข้อมูลบัตร ไปใช้ซื้อสินค้าและบริการหรือการเติมเกม ที่หนักที่สุดคือ เหตุการณ์ Bin Attack เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 เสียหายกว่า 10,000 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
นับจากนั้นเป็นต้นมา การออกบัตรและใช้บัตรพลาสติก เริ่มมีความรัดกุมมากขึ้น สถาบันการเงินผู้ออกบัตร มีการทำ 3-D Secure เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง สำหรับการพิสูจน์ตัวตนให้กับเครือข่ายบัตร เช่น Verified by Visa หรือ Mastercard ID Check หรือฟังก์ชันการล็อกบัตรบนแอปพลิเคชันธนาคาร หรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตร เพื่อไม่ให้ผู้อื่นลักลอบนำข้อมูลบัตรไปใช้
หนึ่งในนั้นคือการออกแบบบัตรให้เป็น "บัตรไร้หมายเลข" หรือ Numberless Card โดยนำข้อมูลบัตรทั้งหมดมาไว้ในแอปพลิเคชันของธนาคาร หรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตรแทน เพื่อความปลอดภัยในการนำไปใช้ร้านค้านอกสถานที่
ที่ชัดเจนที่สุด คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ออกผลิตภัณฑ์ บัตรเดบิตบีเฟิสต์ ดิจิทัล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 แยกการใช้งานระหว่างบัตรเสมือน (Virtual Card) บนแอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สำหรับชอปออนไลน์ กับ บัตรพลาสติก (Physical Card) ที่ออกแบบมาให้ไม่มีหมายเลขบัตร และข้อมูลบนบัตรใดๆ นอกจากชื่อ และนามสกุลผู้ถือบัตร
กระทั่งมีการออกบัตรร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ บัตรบีเฟิสต์ ดิจิทัล เอไอเอส พอยท์ ร่วมกับเครือข่ายเอไอเอส มีสิทธิประโยชน์คือ ใช้จ่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ ทุก 200 บาทได้ 1 เอไอเอส พอยท์ หรือ บัตรเดบิตดิจิทัลธนาคารกรุงเทพ เอ็ม วีซ่า ร่วมกับเดอะมอลล์กรุ๊ป รับส่วนลด 5% และรับ M POINT สูงสุด X 2 เมื่อใช้จ่ายที่ห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป
ส่วนบางธนาคาร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ใช้วิธีไม่ใส่รหัส CVC ด้านหลัง บัตรเดบิต LET’S SCB ที่ออกหลังวันที่ 17 ธันวาคม 2564 โดยลูกค้าที่สมัครบัตรเดบิต หรือออกบัตรเดบิตทดแทน ต้องขอบัตรเสมือน (Virtual Card) ในแอปฯ SCB EASY ก่อน จากนั้นจึงขอบัตรเดบิตแบบพลาสติกเพิ่มเติมได้พร้อมกัน โดยธนาคารจะจัดส่งบัตรให้หลังการออกบัตร
สำหรับบัตรเดบิตพลาสติกที่จะได้รับ จะมีข้อมูลหน้าบัตรเหมือนกับบัตรเดบิตเวอร์ชวลที่แสดงในแอปฯ SCB Easy ใช้สำหรับซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่อง EDC แต่จะไม่แสดงหมายเลขรหัส CVC หากลูกค้าต้องการทำธุรกรรมออนไลน์ ให้ใช้หมายเลขรหัส CVC หรือ CVV ที่แสดงบนแอปพลิเคชัน SCB Easy เพื่อประกอบการทำธุรกรรม และไม่สามารถบันทึกหน้าจอได้
ส่วนผู้ให้บริการบัตรรายอื่นๆ เริ่มมีการออกบัตรพลาสติกในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น บัตรแบบแนวตั้ง ที่เน้นแสดงลวดลายบนหน้าบัตร หรือมีเฉพาะชื่อผู้ถือบัตร (Cardholder Name) เท่านั้น แล้วนำข้อมูลหมายเลขบัตรและอื่นๆ มาใส่ไว้ด้านหลังบัตร เพื่อความสะดวกในการนำบัตรไปใช้ในการแตะจ่าย (Contactless) จะได้ไม่มีใครเห็นข้อมูลบนหน้าบัตรอีก
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนตุลาคม 2566 มีบัตรพลาสติกรวมทั้งสิ้น 93,760,855 ใบ แบ่งเป็นบัตรเดบิต 57,393,369 ใบ บัตรเครดิต 26,341,994 ใบ และบัตรเอทีเอ็ม 10,025,492 ใบ โดยมีมูลค่าการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขาย (Point of Sale) ประกอบด้วย บัตรเครดิต 1.51 แสนล้านบาท และบัตรเดบิต 1.5 หมื่นล้านบาท
บัตรพลาสติกไร้หมายเลข และระบบ Dynamic CVV จึงเป็นอีกนวัตกรรมของผู้ออกบัตร ในการพัฒนาด้านความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ถือบัตรอุ่นใจในการใช้งานตามร้านค้าชั้นนำได้ทุกที่ ทุกเวลา ตอบสนองสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในปัจจุบัน
(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)