แม้ว่าในช่วงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนส่งผลให้โรงแรมขนาดกลาง และขนาดเล็กหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุน จนต้องประกาศขายต่อกิจการ ซึ่งทำให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนหนา สายป่านยาวแสดงความสนใจเข้ามาซื้อกิจการโรงแรมหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางที่มีทำเลที่ตั้งดีๆ
แต่เนื่องจากการซื้อขายธุรกิจในช่วงที่เจ้าของเดิมประสบปัญหาราคาขายต่อย่อมถูกกดให้ต่ำกว่าราคาขายในช่วงปกติ ทำให้เจ้าของโรงแรมหลายรายเลิกล้มแผนจะขายต่อธุรกิจและกัดฟันแบกรับต้นทุนไว้รอเวลาที่การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ดังนั้น ดิวการซื้อขายโรงแรมในช่วงที่ผ่านมาจึงเกิดขึ้นไม่มากนัก แม้ว่าสถานการณ์จะไม่เป็นใจต่อเจ้าของโรงแรมก็ตาม
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2566 ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยมากขึ้น และมีผลต่อเนื่องทำให้ธุรกิจโรงแรมที่พักในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงในกรุงเทพมหานครมีรายได้เข้ามามากขึ้นแบบชัดเจน เจ้าของกิจการ หรือเจ้าของธุรกิจโรงแรมที่พักประเภทต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทยพอมีเงินหมุนเวียนและเดินหน้าดำเนินธุรกิจอีกครั้ง
ความแตกต่างของสถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวในช่วงปี 2566 กับช่วงปี 2564-2565 มีความแตกต่างแทบเรียกได้ว่า หน้ามือกับหลังมือ เพราะในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า เจ้าของกิจการหรือธุรกิจโรงแรมที่พักจำนวนมากในประเทศไทยที่ไปต่อไม่ได้ เพราะการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศหยุดชะงักเกือบ 100% รายได้ต่างๆ ที่เคยได้หายไปทันที แฝ
แต่รายจ่ายต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการผ่อนชำระสินเชื่อธนาคารยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะมีการเจรจาหรือขอประนอมหนี้สิน แต่ยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่สามารถผ่อนชำระหนี้สินได้แน่นอน ช่วง 2 ปีนั้นจึงเห็นการประกาศขายโรงแรมที่พักจำนวนมากทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพราะทุกประเทศในโลกล้วนเจอปัญหาเดียวกับในประเทศไทย
ขณะที่ปี 2565 หลังจากที่ธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวเพราะการเดินทางระหว่างประเทศเปิดกว้างมากขึ้น เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นโรงแรมที่พักที่เคยปิดกิจการไปชั่วคราวหรือเคยประกาศขายเริ่มกลับมาฟื้นฟูกิจการเปิดให้บริการอีกครั้ง เจ้าของหรือผู้ประกอบการรายใดที่มีกำลังเงินทุนหรือสามารถหาสินเชื่อจากแหล่งทุนต่างๆ ได้จะรีบดำเนินการ
อีกทั้งเปิดการเจรจากับสถาบันการเงินอีกครั้งเพื่อให้กิจการหรือธุรกิจของตนเองดำเนินกิจการสร้างรายได้ได้อีกครั้ง ผู้ประกอบการโรงแรมหรือที่พักประเภทต่างๆ ที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 10 ปี หรือเป็นเครือข่ายหรือว่าบริษัทขนาดใหญ่ล้วนสามารถกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง อาจจะมีโรงแรมที่พักที่เจ้าของกิจการบางกลุ่มไม่ต้องการดำเนินกิจการต่อไปแล้วแต่ไม่ใช่เพราะเรื่องของหนี้สิน แต่อาจจะเป็นเพราะว่าคนรุ่นต่อมาไม่ต้องการดำเนินธุรกิจนี้ต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อมีปัญหาเรื่องของหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้ตัดสินใจปิดกิจการแล้วขายทันที และอีกกลุ่ม คือ โรงแรมที่พักที่เพิ่งเปิดให้บริการในช่วงก่อนปี 2563 ไม่กี่ปีแล้วยังอยู่ในช่วงการผ่อนชำระกับทางสถาบันการเงินมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ดำเนินกิจการต่อไปเพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนที่มากพอ ใช้เงินจากสถาบันการเงินในช่วงของการลงทุนและดำเนินกิจการในช่วงแรกแต่ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่พักขนาดไม่ใหญ่มาก จำนวนห้องพักไม่มากนักซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่อาจจะมีการปิดกิจการแบบถาวร และประกาศขาย แต่ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่มากจึงอาจจะไม่เป็นข่าวมากนัก
ในช่วงปี 2565-2566 อาจะมีการซื้อขายโรงแรมกันในประเทศไทยอยู่จำนวนหนึ่งมูลค่ารวมในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท และปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท จากนั้นปี 2566 มีความเป็นไปได้ที่จะปิดการขายกันประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีทั้งนักลงทุนในประเทศไทย เช่น แอสเสทเวิรด์ที่ซื้อโรงแรมในประเทศไทย และนักลงทุนบริษัทต่างชาติที่เข้ามาซื้อโรงแรมในประเทศไทยเพราะธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีทิศทางที่น่าสนใจ แม้ว่าจะเจอวิกฤต หรือปัญหาอะไรมักจะฟื้นตัวเร็วเสมอ
“แต่ช่วงที่ผ่านมามีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและอาจจะไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญคือ การที่ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนจากประเทศไทยออกไปซื้อหรือลงทุนในโรงแรมแรมบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมที่พักในต่างประเทศ ซึ่งรวมๆ แล้วมูลค่าในการลงทุนไม่น้อยกว่ามูลค่าการขายโรงแรมในประเทศไทย”
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนหน้านี้บริษัทหรือผู้ประกอบการไทยหลายรายออกไปซื้อกิจการโรงแรม หรือซื้อหุ้นในบริษัทที่มีชื่อเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป และเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น สิงห์โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ต แมกโนเลียฯ ไมเนอร์ เป็นต้น ซึ่งในปี 2566 มีหลายบริษัทที่ออกนอกประเทศไทยไปซื้อกิจการโรงแรมในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทหรือนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนในต่างประเทศมาต่อเนื่องอยู่แล้วเช่น
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซื้อกิจการรีสอร์ตระดับหรูในเมือง Gaafu Dhaalu Atoll ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศมัลดีฟส์ โดยทางไมเนอร์ร่วมกับทาง Abu Dhabi Fund for Development (ADFD) โดยทางไมเนอร์ลงทุน 60% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 36 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท
บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) บริษัทที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีซีซีออกไปลงทุนนอกประเทศไทยแบบเต็มตัวครั้งแรก ด้วยการเข้าซื้อโรงแรม พลาซ่า แอทธินี นิวยอร์ก มูลค่า 7,789 ล้านบาท โดยทางแอสเสทเวิรด์เข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัทพลาซ่า แอทธินี จำกัด ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น 100% ของ บริษัท พลาซ่า แอทธินี โฮเต็ล จำกัด และในอนาคตอาจจะมีโครงการอะไรตามมาอีกก็เป็นไปได้ เพราะทั้ง 2 บริษัทที่กลายเป็นของแอสเสทเวิรด์แล้วนั้นเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมแห่งนี้ ทาวน์เฮาส์ และแบรนด์พลาซ่า แอทธินีที่มีสิทธิประกอบกิจในสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ยกเว้นประเทศฝรั่งเศส
SC Capital Partners Pte Ltd แม้ว่าจะเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ แต่ผู้ก่อตั้งและเจ้าของที่แท้จริงคือคนไทยได้ มีการร่วมทุนกับ Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ Goldman Sachs Asset Management เพื่อเข้าซื้อกิจการโรงแรม และรีสอร์ตทั้งหมด 27 แห่งจำนวนห้องพักรวมกว่า 7,124 ห้องพักในประเทศญี่ปุ่นจาก Daiwa House Industry ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นด้วยมูลค่ารวม 900 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา มูลค่าประมาณ 31,500 ล้านบาท
บริษัท เอราวัณ ฮ็อป อินน์ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อโรงแรม 4 แห่งในประเทศญี่ปุ่น รวมมูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยแยกเป็น 2 โครงการในเมืองโตเกียว ในย่านอิดาบาชิ และย่านอุเอโนะ และอีก 1 โครงการในเมืองเกียวโต รวมไปถึงการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินอีก 1 โครงการในย่านอาซากุสะ เมืองโตเกียว โดยทางเอราวัณคาดว่าจะเปิดให้บริการครบทั้ง 4 แห่งภายในไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2567
World Medical Alliance Hongkong Company Limited บริษัทย่อยของบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในฮ่องกง เข้าซื้อหุ้นของบริษัท พานาซี เเฟร์วาลทุงส์ จีเอ็มบีเฮช จํากัด 100% ในราคาไม่เกิน 740 ล้านบาท ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ทำให้ทางณุศาศริได้เป็นเจ้าของโรงแรม Panacee Grand Hotel Roemerbad ในประเทศเยอรมนี เพราะว่าบริษัท พานาซี เเฟร์วาลทุงส์ จีเอ็มบีเฮช จํากัดเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัท บาดิชเชอร์ โฮเทลแฟร์วัลทุงส์ จํากัด ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของโรงแรมดังกล่าว
การเข้าซื้อกิจการโรงแรมในต่างประเทศของบริษัทหรือผู้ประกอบการกิจการโรงแรม หรือกลุ่มทุนจากประเทศไทยคาดว่าจะเริ่มมีมากขึ้นในอนาคต แบบที่เห็นในการเข้าซื้อกิจการธุรกิจค้าปลีกในประเทศต่างๆ ของทั้งบริษัทในเครือเซ็นทรัล ทีซีซี และซีพี ซึ่งมีทั้งการซื้อเป็นรานโครงการ และซื้อกิจการของทั้งประเทศนั้นๆ เลย การเข้าซื้อโรงแรมหรือรีสอร์ตในต่างประเทศอาจจะเน้นไปที่ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ และสามารถปรับราคาห้องพักขึ้นได้ต่อเนื่อง
อีกทั้งการลงทุนโรงแรม หรือรีสอร์ตใหม่ในบางประเทศอาจจะทำได้ยากในปัจจุบันด้วยราคาที่ดินที่สูง หรือที่ดินสำหรับการพัฒนาโรงแรมอาจจะมีไม่มากนัก หรือไม่เหลือแล้ว โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก กิจการโรงแรมในหลายประเทศอาจจะมีปัญหาต่อเนื่องหรือสะสมมาจากช่วงโควิด-19 แบบที่เกิดในประเทศไทย แล้วมองหานักลงทุนหรือคนที่มีความพร้อมเข้าไปซื้อกิจการพอดี ประกอบกับกลุ่มทุนจากประเทศไทยต้องการขยายการลงทุนออกไปนอกประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าของบริษัทให้มากขึ้น แต่การลงทุนในประเทศไทยยังคงมีอยู่ควบคู่กันไปเช่นเดิม