xs
xsm
sm
md
lg

#iBusinessReview : คอยน์ ดรากอน ตู้ฝากเหรียญอัตโนมัติ เทคโนโลยีจากฮ่องกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา มีตู้คีออสสีแดงเข้ม ตั้งอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ชื่อว่า "คอยน์ ดรากอน" (COIN DRAGON) ระบุว่า "ฝากได้ทุกเหรียญที่นี่" สามารถนำเหรียญทุกมูลค่ามาฝากที่เครื่อง เพื่อแปลงมูลค่าเป็น e-Voucher หรือเติมเงินลง e-Wallet บัตรแรบบิท และบัญชีธนาคารต่างๆ อาจมีคนสงสัยว่า ที่มาที่ไปของเครื่องคีออสนี้มาจากไหน


คอยน์ ดรากอน เป็นเครื่องฝากเหรียญอัตโนมัติ ก่อตั้งที่ฮ่องกงเมื่อปี 2559 ให้บริการรับฝากเหรียญเพื่อเติมเงินลงในบัตร Octopus เติมเงินลง e-Wallet ฝากเข้าบัญชีธนาคาร แลกบัตรกำนัล e-Voucher และบริจาคเข้าองค์กรการกุศล มีเครื่องให้บริการครอบคลุมทั่วเกาะฮ่องกง ก่อนที่จะขยายบริการไปยังประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย


สำหรับประเทศไทยทดลองให้บริการครั้งแรกที่อาคารทีเอสที ทาวเวอร์ เมื่อเดือนกันยายน 2566 ก่อนให้บริการอย่างจริงจัง ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 4 สถานี และศูนย์การค้าเมกาบางนา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเครื่องคอยน์ ดรากอนให้บริการรวม 8 แห่ง โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม อโศก อ่อนนุช อารีย์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และหมอชิต


ปัจจุบัน สามารถนำเหรียญที่ได้ไปแลก e-Voucher ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าและบริการต่างๆ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม หรือเติมเงินและฝากเงิน โดยมีค่าธรรมเนียม 10% ได้แก่ บัตรแรบบิท e-Wallet อย่าง LINE Pay, TrueMoney Wallet และฝากเข้าบัญชีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และในปีนี้ (2567) จะสามารถฝากเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย




Ibusiness review ทดลองใช้บริการคอยน์ ดรากอน โดยนำเหรียญ 25 สตางค์ และเหรียญ 50 สตางค์ที่มีอยู่มาฝากที่เครื่องดังกล่าวเพื่อเติมเงินลงในบัตรแรบบิท พบว่าเมื่อใช้ครั้งแรกขั้นตอนอาจยังไม่คุ้นชิน เริ่มจากการเลือกเมนู "ฝากเหรียญ" เลือกบริการที่ต้องการ ในที่นี้เลือกเป็นบัตร Rabbit Card อ่านข้อกำหนด เลือก "ยอมรับเงื่อนไข" อ่านคำเตือนก่อนกดตกลง

จากนั้นเทเหรียญลงไปในช่องถาดใส่เหรียญ (Coin Tray) แล้วทำการยกถาดไปทางขวาเพื่อให้เหรียญหล่นลงไปในเครื่อง แล้วรอเครื่องดำเนินการนับ ซึ่งผู้ให้บริการระบุว่า สามารถนับเหรียญได้ 600 เหรียญต่อนาที ระบบจะขึ้นมูลค่าเหรียญแต่ละประเภท ก่อนกดปุ่ม "ยืนยันรายการ" จากนั้นนำบัตรแรบบิทไปแตะที่เครื่องอ่านบัตรค้างไว้จนกว่าจะเติมเงินเสร็จสมบูรณ์
















จากการนำเหรียญไปฝากเพื่อเติมเงินลงในบัตรแรบบิท พบว่ามีเหรียญรวมกันมูลค่าทั้งหมด 30 บาท หักค่าธรรมเนียม 10% (3 บาท) เหลือ 27 บาท ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการฝากเหรียญที่สะดวก และง่าย เมื่อเทียบกับการแลกเหรียญวิธีดั้งเดิมที่น้อยครั้งนักจะรับแลกเหรียญ 25 และ 50 สตางค์ รวมทั้งการฝากเหรียญที่ธนาคาร จะมีค่าธรรมเนียมนับเหรียญตามที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดก็คือ ไม่สามารถใส่เหรียญที่เปียกได้ ต้องทำให้เหรียญแห้งเสียก่อน รวมทั้งห้ามใส่เหรียญที่มีสนิม ห้ามใส่วัตถุแปลกปลอม เช่น กระดุมเสื้อ เหรียญโดยสารรถไฟฟ้า กุญแจ เข็มกลัด ลวดเสียบกระดาษ สแตมป์ สติกเกอร์ ฯลฯ หากเกิดความเสียหายขึ้น ทางผู้ใช้บริการจะต้องรับผิดชอบค่าซ่อม และสิ่งแปลกปลอมที่ใส่ลงไปจะไม่ได้รับคืน

ก่อนหน้านี้ในแวดวงการเงิน ก็เคยมีการพัฒนาเครื่องฝากเหรียญมาก่อน เฉกเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนา เครื่องฝากเหรียญอัตโนมัติ (Coin Counter Machine) เปิดตัวที่งาน Money Expo Bangkok 2017 เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะพัฒนาและนำมาใช้จริงที่สาขาในศูนย์การค้า 3 แห่งมาระยะหนึ่ง

โดยเครื่องฝากเหรียญอัตโนมัติ ได้ถูกพัฒนาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในการนำเหรียญไปฝาก หรือแลกธนบัตรที่ธนาคารซึ่งต้องเสียเวลานับเหรียญจำนวนมาก จุดเด่นของเครื่องคือ สามารถตรวจนับเหรียญ รับแลกธนบัตรเป็นเหรียญได้ และยังผนวกระบบเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารของผู้ใช้ ทำธุรกรรมทางการเงินและชำระเงินต่างๆ แบบอัตโนมัติ

ภายหลัง ธนาคารไทยพาณิชย์ ตัดสินใจยกเลิกให้บริการเครื่องรับฝากเหรียญตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถยืนยันตัวตนผู้ฝากเงิน ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ได้ ยังคงเหลือช่องทางฝากเหรียญได้ที่สาขาของธนาคาร คิดค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 200 เหรียญขึ้นไปอยู่ที่ 2% ของมูลค่ารวม ขั้นต่ำ 20 บาท

ถึงกระนั้น ยังมีช่องทางฝากเงินผ่านตู้เติมเงิน ซึ่งพบว่ามีตู้เติมเงินชั้นนำ 2-3 รายที่มีบริการรับฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร แต่มีค่าธรรมเนียมที่สูง เริ่มต้นที่ 20-70 บาทต่อรายการ อาทิ ตู้บุญเติม ของบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), ตู้เติมสบายพลัส ของบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และตู้เติมดี ของบริษัท มีเดียเซ็นเตอร์ จำกัด เป็นต้น

สำหรับเครื่องฝากเหรียญอัตโนมัติ คอยน์ ดรากอน ให้บริการโดย บริษัท ดรากอน เทคโนโลยี บางกอก จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท มีกรรมการบริษัทประกอบด้วย นายริชาร์ด เอริค โคเลน และนายอภิญญา สิงขร มีผู้ถือหุ้นจากชาวอเมริกัน 51% ออสเตรเลียน 48% และสิงคโปร์ 1% รวม 3 ราย


อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ coindragon.io ได้ประกาศว่า "ดรากอน เทคโนโลยี บางกอก เป็นบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้ให้บริการชำระเงิน" ถึงกระนั้นยังต้องรอดูว่า จะเข้าข่ายต้องขอใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ เป็นผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทย

(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น