xs
xsm
sm
md
lg

สนค.เผยทำธุรกิจยุคนี้ต้องยึดหลัก ESG ตอบโจทย์สู่อนาคตที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สนค.เผยการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นบรรทัดฐานการทำธุรกิจในอนาคต เหตุส่งผลดีต่อศักยภาพธุรกิจในระยะยาว และสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าธุรกิจที่แสวงหาแค่ผลกำไร ชี้ไทยมีการตื่นตัวต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Index และล่าสุด ครม.ไฟเขียว Thailand ESG Fund ซื้อกองทุนหุ้นยั่งยืนได้ลดภาษี

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามแนวโน้มการดำเนินธุรกิจ โดยเห็นว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG จะเป็นบรรทัดฐานการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งหมายความว่าการทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) โดยเป็นแนวโน้มสำคัญที่ไม่สามารถมองข้าม เพราะการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG จะส่งผลต่อศักยภาพของธุรกิจในระยะยาว และสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าธุรกิจที่แสวงหาเพียงแค่ผลกำไร

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สหภาพยุโรป (EU) เป็นตัวอย่างของต่างประเทศที่มีมาตรการเข้มข้นเพื่อส่งเสริมและผลักดันภาคธุรกิจให้ดำเนินการตามแนวทาง ESG โดยในปี 2563 EU ได้ออกกฎหมายการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว (EU Taxonomy) และมีการออกกฎหมายอื่นๆ ตามมา เช่น กฎหมายการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Corporate Sustainability Reporting Directive : CSRD) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566

โดยกฎหมาย CSRD กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียน (Listed Company) ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทจะส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหรือผู้มีส่วนได้เสียมีข้อมูลในการประเมินผลงานของบริษัทในด้านความยั่งยืน โดยข้อมูลที่ต้องเปิดเผยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการด้านต่างๆ ของบริษัท เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม การปฏิบัติต่อพนักงาน การต่อต้านทุจริต และความหลากหลายของคณะกรรรมการบริษัท

นอกจากนี้ EU อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายการสอบทานธุรกิจด้านความยั่งยืน (The Corporate Sustainability Due Diligence Directive : CSDDD) โดยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 รัฐสภายุโรปเห็นชอบร่างกฎหมาย CSDDD ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้บริษัททั้งสัญชาติ EU หรือบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจใน EU ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต้องสอบทาน (Due Diligence) กิจกรรมของตนเองและของซัปพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ในการสอบทานมีสิ่งที่ต้องดำเนินการ เช่น จัดทำนโยบาย Due Diligence จัดทำจรรยาบรรณธุรกิจ บ่งชี้ถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมของบริษัท และมีแนวทางป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ตลอดจนให้เผยแพร่รายงานการดำเนินการตามกฎหมาย CSDDD บนเว็บไซต์ของบริษัท ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมาย CSDDD จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการตื่นตัว และเล็งเห็นถึงความจำเป็นของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่แนวทาง ESG โดยตั้งแต่ปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในปี 2561 ได้มีการจัดทำดัชนีความยั่งยืน (SET ESG Index) ขึ้นเป็นครั้งแรก และเมื่อกลางปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแพร่ “คู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน” และ “เอกสารแนะนำตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (ESG Metrics) ตามกลุ่มอุตสาหกรรม” เพื่อเป็นแนวทางให้กับภาคธุรกิจในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนในการตัดสินใจลงทุน

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดทำมาตรฐานกลางเพื่อจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ได้เผยแพร่ “มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1” ซึ่งมุ่งเน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้อ้างอิงการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่แนวทาง ESG

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund : TESG) ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อกองทุน TESG ในอัตราร้อยละ 30 ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี และยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหน่วยลงทุนหากถือครบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี มาตรการดังกล่าว ให้เริ่มทันทีจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2575 ซึ่งกองทุน TESG มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการออมผ่านการลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น โดยกองทุน TESG จะจำกัดให้ลงทุนเฉพาะบริษัทในประเทศไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทไทยดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ผู้ลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุน TESG และนำมาลดหย่อนภาษีงวดปี 2566 ได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น