xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : ดอกหญ้า e-Book ฟื้นแบรนด์ร้านหนังสือในตำนาน สู่มากกว่าแพลตฟอร์มออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่น่าสนใจในแวดวงหนังสือและวรรณกรรม เมื่อแบรนด์ “ดอกหญ้า” ร้านหนังสือในตำนานที่มีชื่อเสียงในอดีต ด้วยสโลแกน “เพียงแวะเข้ามาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ” ได้มีนักลงทุนที่ต้องการสร้างสรรค์สังคมเข้ามาสนับสนุนร่วมลงทุน โดยแต่งตั้ง “อดิศักดิ์​ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

อดิศักดิ์ได้กล่าวแนะนำตัวในกลุ่มเฟซบุ๊ก “นักเขียนนิยาย” ว่า ในฐานะคนทำงานในแวดวงสื่อมวลชนและหนังสือมากว่า​ 35​ ปี กำลังพัฒนา​ e-Book​ Platform​ ให้เป็นมากกว่าการขายหนังสือบนออนไลน์​ Beyond​ The​ Bookstore โดยได้ขอซื้อแบรนด์ร้านหนังสือดอกหญ้าที่เคยได้รับความนิยมในอดีต​ มาใช้ในชื่อ Dokya​ eBook​ วางไทม์ไลน์จะเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ช่วง 29 มี.ค. ถึง 8 เม.ย. 2567

“ขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ในอ้อมกอดกลุ่มนักเขียน และอยากได้ข้อแนะนำเพื่อพัฒนาให้​ Dokya​ eBook​ สนองตอบความต้องการของทุกท่านให้มากที่สุด” อดิศักดิ์ ระบุ

ต่อมา ข่าวคราวเกี่ยวกับการฟื้นแบรนด์ “ร้านหนังสือดอกหญ้า” ลงมาสู่แพลตฟอร์มอีบุ๊ก ยังถูกเปิดเผยโดยนักเขียนชื่อดังอย่าง “เรืองเดช จันทรคีรี” แห่งสำนักพิมพ์มาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด (มวจ.) ระบุว่า เมื่องานมหกรรมสัปดาห์หนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ มวจ. จับสลากได้หมายเลข J08 อยู่ตรงข้ามบูทสำนักพิมพ์เพชรประกาย

ปลายงานได้พบกับ “คุณปิ๊ก” ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ไพลินบุ๊ค และบริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด เคยเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีของ องอาจ คล้ามไพบูลย์ และเกี่ยวข้องกับ บริษัท เพชรประกาย จำกัด ผู้มีไอเดียบรรเจิดเกี่ยวกับธุรกิจหนังสือ คุยให้ฟังหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการเจรจาซื้อแบรนด์ “ดอกหญ้า” มาสร้างแพลตฟอร์มขายอีบุ๊ก

กระทั่งเฟซบุ๊กเพจ Bizconnext ได้เปลี่ยนชื่อเป็น DokyaEbook และเฟซบุ๊กของอดิศักดิ์ก็โพสต์บอกข่าวดังกล่าว

“ลำพังคุณอดิศักดิ์ มาลงทุนอีบุ๊ก ผมก็รอชมด้วยความตื่นเต้นแล้ว เมื่อมีคุณฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ มาร่วมลงทุนด้วย ธุรกิจหนังสือไทยที่เขาว่ากำลังเริ่มต้นขาขึ้นรอบใหม่ ต้องมีปรากฎการณ์สะท้านสะเทือนแน่ๆ” เรืองเดช ระบุ

แฟ้มภาพ
“ร้านหนังสือดอกหญ้า” ก่อตั้งเมื่อปี 2524 เป็นผู้แทนจำหน่ายและผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ พ็อกเกตบุ๊กวิชาการและสารบันเทิงต่างๆ โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ เคยมีสาขามากกว่า 100 แห่ง มีการขายแฟรนไชส์ให้ผู้สนใจ รวมทั้งมีการเปิดสาขาที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสำนักพิมพ์ดอกหญ้า จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือประเภทต่างๆ

แต่เมื่อสภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุนที่สูงขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ร้านหนังสือดอกหญ้าแต่ละสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดพากันปิดตัวลง กระทั่งสาขาสุดท้าย คือ สาขาท่าพระจันทร์ ถูกดัดแปลงประกอบธุรกิจอื่น ปัจจุบันเหลือร้านที่เคยเป็นสาขาแฟรนไชส์ หนึ่งในนั้นคือ ร้านหนังสือดอกหญ้าบุรีรัมย์ และร้านหนังสือดอกหญ้าชลบุรี

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด (DOKYA EBOOK CO., LTD.) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท ประกอบกิจการขายปลีก ส่ง หนังสือพิมพ์ วารสาร และนิตยสาร โดยมีนายธัญชาติ กิจพิพิธ นางสาวนริศรา กิจพิพิธ และนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เป็นกรรมการบริษัท

ชื่อของ “ธัญชาติ กิจพิพิธ” ในแวดวงธุรกิจเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เจ้าของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน และขนส่งแบบครบวงจร โดยมีบุตรสาวอย่าง “นริศรา กิจพิพิธ” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโส สายงานกลยุทธ์ของบริษัทฯ เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท


นอกจากนี้ยังพบว่า ดอกหญ้า อีบุ๊ก มีผู้ถือหุ้นรวมทั้งหมด 4 ราย จำนวน 8 ล้านหุ้น รวม 80 ล้านบาท

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ
หลังจากที่อดิศักดิ์เข้ามาบริหารงาน Dokya​ eBook ช่วงก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2567 การฟื้นกลับมาใหม่หรือ Re-born เริ่มต้นด้วยการปรับสโลแกนเป็น “เพียงคลิกเข้ามาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ” เพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล และอยากให้ผู้อ่านประทับใจในการบริการเช่นเดิม

พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ “Beyond the Bookstore, Reading for The Future” ที่แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์วงการหนังสือและนักอ่าน ที่จะเป็นมากกว่าแค่ร้านหนังสือรูปแบบเดิมหรือรูปแบบใหม่บนแพลตฟอร์มขายหนังสือออนไลน์ ประเดิมจัดโครงการสร้างนักเขียนนวนิยายที่ถือเป็นก้าวแรกของการฟื้นกลับมาของแบรนด์ดอกหญ้า พร้อมกันรวดเดียว 3 กิจกรรม


กิจกรรมแรก คิดและเขียน “พล็อตนวนิยาย” ความยาวไม่เกิน 5,000 คำ ชิงรางวัลชนะเลิศ เงินสด 10,000 บาท และได้รับการพัฒนาจากนักเขียนมืออาชีพช่วยเป็นพี่เลี้ยง ต่อยอดให้เป็นนวนิยายรายตอน และหากได้รับความนิยมมากพอก็มีโอกาสรวมเล่ม e-Book โดยได้ดึงนักวิจารณ์และอาจารย์ด้านวรรณกรรม “จรูญพร ปรปักษ์ประลัย” พร้อมด้วยนักเขียนนวนิยายชื่อดัง “นิพนธ์ เที่ยงธรรม” และนักเขียนประจำกองบรรณาธิการ Dokya eBook “กัญญาวีร์ โคกฤทธิ์” เป็นกรรมการตัดสิน


กิจกรรมที่สอง “นักพากย์ Audio Book” รับสมัครเป็นรายบุคคลหรือเป็นทีมก็ได้ เลือกนวนิยาย 1 บท จากนวนิยายของ 5 สำนักพิมพ์ คือ สถาพรบุ๊คส์-สำนักพิมพ์พิมพ์คำ นานมีบุ๊คส์ แจ่มใส ดวงตะวัน และนาบู บันทึกเสียงเป็นไฟล์ MP3 ไม่จำกัดเทคนิค ชิงรางวัลชนะเลิศ เงินสด 30,000 บาท และมีโอกาสร่วมทำงานสร้างสรรค์ทีมพากย์ Audio Book กับ Dokya eBook

โดยมี “ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ” คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล “โกมุท คงเทศ” นักพากย์เสียงและนักจัดรายการวิทยุ และ “ชนิตร์นันท์ พูลสวัสดิ์รัตนพงษ์” นักพากย์-วิทยากร Audio Book เป็นกรรมการตัดสิน

กิจกรรมที่สาม “นวนิยายชาวสีรุ้ง LGBTQ+” ถือเป็นกิจกรรมไฮไลต์ที่มีเงินรางวัลสูงสุด เน้นส่งเสริมการยอมรับความหลากหลายทางเพศ และมุ่งสร้างสรรค์สังคมให้เท่าเทียม เริ่มต้นด้วยพล็อตนวนิยายความยาวไม่เกิน 1,000 คำ เขียนเป็นนวนิยาย 5 ตอนแรก ความยาวไม่เกิน 20,000 คำ และเตรียมตัวเขียนให้จบประมาณ 30 ตอน เพื่อเผยแพร่ให้อ่านต่อเนื่องทุกตอนจนจบ และคนอ่านได้ร่วมตัดสิน ชิงรางวัลชนะเลิศ เงินสด 50,000 บาท และรางวัลขวัญใจมหาชน 20,000 บาท

โดยได้ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์กลุ่ม LGBTQ+ อย่าง “วิทยา แสงอรุณ” พร้อมด้วย “อรรถ บุนนาค” บรรณาธิการสำนักพิมพ์ JLIT ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรม BL/Y และ “ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่” นักกิจกรรมประเด็นสมรสเท่าเทียม เป็นกรรมการตัดสิน

อดิศักดิ์ ยังมีแนวคิดที่จะให้ Dokya eBook สร้างระบบนิเวศวงการหนังสือตั้งแต่ต้นน้ำ ผ่านการสร้างสรรค์คอนเทนท์งานเขียนในรูปแบบต่างๆ ไปถึงปลายน้ำ ให้คนอ่านสามารถเข้าถึงการซื้องานเขียนในราคาที่เหมาะสม และการอ่านหนังสือได้จากทุกช่องทาง จึงต้องสร้างกลไกบ่มเพาะนักเขียนใหม่ Content Creator อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับและเพิ่มความหลากหลายของหนังสือ รวมทั้งการเรียนรู้เทคโนโลยี มาช่วยในการพัฒนาคอนเทนท์

โดยได้เชิญชวน “นันทพร ไวศยะสุวรรณ์” นักเขียนและบรรณาธิการหนังสือที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี ให้มาทำหน้าที่เป็น “อาจารย์ใหญ่” ของโรงเรียนนักเขียน Dokya Academy ที่จะทำงานร่วมกับเครือข่ายนักเขียนมืออาชีพเพื่อช่วยกันสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ กำหนดคอร์สแรกในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ด้วยหลักสูตรการเขียนนวนิยาย และหลักสูตรการพากย์เสียงและ Audio Book ซึ่งผู้สนใจสามารถลงทะเบียนและเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรีตลอดการอบรม

แฟ้มภาพ
การกระโดดเข้ามาสู่ธุรกิจอีบุ๊คของอดิศักดิ์ ในนาม Dokya eBook เกิดขึ้นในยามที่แพลตฟอร์มอีบุ๊กกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าตลาดอย่าง MEB ที่สามารถทำรายได้มากถึง 1,000 ล้านบาท ตามมาด้วย Ookbee, Comico, Dekdee และ Kawebook รวมทั้งค่ายร้านหนังสือยักษ์อย่าง นายอินทร์ (Naiin) และ ซีเอ็ด (SE-ED) ก็ยังพัฒนาแพลตฟอร์มอีบุ๊กเป็นของตัวเอง เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้อ่านที่เปลี่ยนไป โดยใช้ต้นทุนที่น้อยกว่าการจัดพิมพ์หนังสือเล่ม


แต่จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า อีบุ๊กประเภทนิยายและวรรณกรรม ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเจ้าตลาดอย่าง MEB พบว่าในปี 2565 มีรายได้จากการขายอีบุ๊กประเภทนิยายและวรรณกรรมมากถึง 76.30% ด้วยรายได้ราว 1,306.03 ล้านบาท ส่วนอีกเจ้าหนึ่ง Kawebook พบว่ามีรายได้จากวรรณกรรมออนไลน์หมวดมันส์ เชิงผจญภัย กำลังภายใน แฟนตาซี แอคชัน มากที่สุด รองลงมาคือหมวดรัก ที่มีทั้งความสัมพันธ์แบบชาย-หญิง ชาย-ชาย (Yaoi) และหญิง-หญิง (Yuri)

ที่น่าสนใจก็คือ งานมหกรรมสัปดาห์หนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 12–23 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีสำนักพิมพ์ทั้ง 340 สำนักพิมพ์ที่รวมออกบูธมากถึง 930 บูธ มีหนังสือจำหน่ายกว่า 1 ล้านเล่ม หนังสือปกใหม่ 3,000 ปก และมีเงินสะพัดจากการเลือกซื้อหนังสือของนักอ่านมากกว่า 400 ล้านบาท เชื่อว่าการสนับสนุนจากภาครัฐที่ผลักดันให้หนังสือเป็น Soft Power จะยกระดับทำให้อุตสาหกรรมหนังสือเติบโตได้อย่างยั่งยืน

แม้ว่าผู้อ่านหนังสือเล่มกับอีบุ๊กจะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกัน แต่ก็มีส่วนเกื้อหนุนส่งเสริมกัน เนื่องจากอีบุ๊กถือเป็นเวทีของนักเขียนหน้าใหม่ ที่สนใจบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แก่ผู้อ่าน หากงานเขียนได้รับความนิยม ก็สามารถพัฒนามาเป็นหนังสือเล่ม ซึ่งยังคงมีผู้อ่านที่เป็นแฟนคลับ ต้องการเก็บสะสมเป็นหนังสือหรือคอลเลคชัน รวมทั้งยังเจาะกลุ่มผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ วัยทำงาน รวมทั้งผู้ที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือเล่ม หรือการเข้าห้องสมุด ได้มีโอกาสเข้าถึงผลงานในวงกว้างมากขึ้น

และด้วยต้นทุนการทำหนังสือเล่มที่ปัจจุบันมีต้นทุนที่สูงขึ้น จึงเป็นการคัดกรองให้หนังสือเล่มที่มีคุณภาพและได้รับความนิยมออกสู่ท้องตลาด ช่วยเพิ่มมูลค่างานเขียนให้น่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทางเว็บไซต์ ibusiness.co เฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น