TGE เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติทำสัญญาบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพรวม 7 เมกะวัตต์ คาดได้รับผลตอบแทนจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าราว 349.90 ล้านบาท
นายสืบตระกูล บินเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์ที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจรับบริหารจัดการโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าทำสัญญากับ บริษัท ท่าฉาง ไบโอแก๊ส จำกัด (TBG) เพื่อขยายธุรกิจสู่การรับบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2 แห่ง ในพื้นที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำลังการผลิต 2.8 เมกะวัตต์ (MW) และ 4.2 MW ตามลำดับ โดยมีระยะเวลาบริหารตามสัญญา 3 เดือนนับจากวันที่เข้าทำสัญญา
ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 17 มกราคม 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าทำสัญญาบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพกับ TBG โดยมีระยะเวลาของสัญญา 4 ปี 9 เดือน นับจากวันที่เข้าทำสัญญา โดยมีมติแต่งตั้ง บริษัท พาย แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระภายใต้สัญญาบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพดังกล่าว บริษัทจะได้รับส่วนแบ่งรายได้เป็นรายเดือนในอัตรา 50% ของรายได้ทั้งหมดที่ TBG ได้รับจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567-31 ธันวาคม 2571 (ระยะเวลารวม 5 ปี) ซึ่ง TGE จะได้รับรายได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตลอดอายุสัญญา 4 ปี 9 เดือน จาก TBG โดยประเมินมูลค่าผลตอบแทนอยู่ที่ 332.40 ล้านบาท ซึ่งรวมกับมูลค่าผลตอบแทนจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ระยะเวลา 3 เดือนแรกก่อนเข้าทำสัญญาระยะยาวดังกล่าวอีก 17.50 ล้านบาท จะทำให้มูลค่ารวมผลตอบแทนจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพมีจำนวนประมาณ 349.90 ล้านบาท
ทั้งนี้ TGE ไม่มีภาระหน้าที่ในการจัดหาแหล่งเงินทุนในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด และมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงไฟฟ้าจะสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพให้เดินเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสืบตระกูลกล่าวต่อไปว่า บอร์ดบริษัทได้มีมติอนุมัติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 157,142,857.50 บาทจากทุนจดทะเบียนเดิม 1,100,000,000 บาทเป็น 1,257,142,857.50 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 314,285,715 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาทเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมโดยไม่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศในสัดส่วน 7 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ ราคาใช้สิทธิ 1 บาท/หุ้น สามารถใช้สิทธิได้ 1 ครั้ง มีอายุ 1 ปี กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ (Record Date) ในวันที่ 25 มกราคม 2567 โดยวัตถุประสงค์การเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนรองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2566 คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้ โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการต้นทุน ส่วนกรณีที่รัฐบาลประกาศมาตรการลดค่าไฟฟ้าจาก 4.10 บาทต่อหน่วยเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายน -ธันวาคม 2566 แทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ เนื่องจากมีผลเฉพาะกับรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าแก่บริษัทภายในกลุ่มท่าฉางเท่านั้นซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 10% ของรายได้จากการดำเนินงาน
ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 3 โครงการที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ Power Purchase Agreement (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจังหวัดสระแก้ว โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจังหวัดชุมพร และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันได้ปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2567
นอกจากนี้ คาดว่าจะมีความคืบหน้าการเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนรวมถึงการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
แผนการดำเนินงานและการลงทุนในปี 2567 กลุ่มบริษัทคาดว่าจะได้รับสัมปทานซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งโดยรวมประมาณ 90 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัญญาสัมปทานฯ และสัญญาบริการที่ได้รับรวม 76.6 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ที่ 29.7 เมกะวัตต์ รวมถึงได้รับสัมปทานโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 5 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมอยู่ที่ 39.9 เมกะวัตต์ และการให้บริการบริหารโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพเพิ่มเติมอีก 2 แห่งรวม 7 เมกะวัตต์ ตลอดจนมีแผนในการรุกเข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่กลุ่มบริษัทมีความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและรุกตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อตอบสนองแนวโน้มในอนาคตที่จะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตมากขึ้น รวมถึงเดินหน้าเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้าง New S-Curve ให้กับธุรกิจผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตอย่างก้าวกระโดด