xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าโปรเจกต์ทางคู่สายใหม่ ’เหนือ & อีสาน’ เวนคืนพุ่งเกือบ 2 หมื่นแปลง สถิติอุโมงค์ยาวสุด เส้นทางแห่งอนาคต ’ท่องเที่ยว-ขนส่งเชื่อมชายแดน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ตามแผนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นอกจากทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทางระยะทางรวม 993 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง อีก 5 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะทยอยเปิดเดินรถบางช่วงได้ตั้งแต่ปี 2566 นั้น ยังมีทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม ระยะทางรวม 677 กม. ที่กำลังก่อสร้าง โดยรฟท.นำบทเรียนจากการก่อสร้างทางคู่ระยะเร่งด่วนมาปรับแก้ ตั้งเป้าสร้างเสร็จเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2571-2572 ตามลำดับ


โดยรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กม. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 กรอบวงเงินลงทุน 85,345 ล้านบาท โดยมีค่าเวนคืนประมาณ 10,660 ล้านบาท

มีสถานีและที่หยุดรถไฟรวม 26 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 5 แห่ง เส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด (59 ตำบล 17 อำเภอ) ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย

สถานะ การก่อสร้าง ณ เดือนต.ค. 2566 มีความคืบหน้ารวม 3.016% เร็วกว่าแผน 0.289% ( แผนงาน 2.727%)

แบ่งงานก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน) เริ่มวันที่ 15 ก.พ. 2565 สิ้นสุด วันที่ 14 ม.ค. 2571 ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย–งาว ระยะทาง 103.7 กม.ผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ มูลค่างาน 26,560 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 ช่วงงาว–เชียงราย ระยะทาง 132 กม.ผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี2 มูลค่างาน 26,890 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย–เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี3 มูลค่างาน 19,385 ล้านบาท


@“บ้านไผ่-นครพนม”เพิ่งเข้าพื้นที่ งานช้ากว่าแผน 0.575%

ส่วนรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. กรอบวงเงินลงทุน 66,848 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าเวนคืน 10,080.33 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 55,462 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 160 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน 1,131 ล้านบาทค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา 15 ล้านบาท

มี 30 สถานี ( 18 สถานี 12 ที่หยุดรถ ) และ 1 ชุมทางรถไฟ มีย่านกองเก็บตู้สินค้า(CY) จำนวน 3 แห่งที่สถานีร้อยเอ็ด สถานีสะพานมิตรภาพ 2 และสถานีสะพานมิตรภาพ 3 มีลานบรรจุตู้สินค้าจำนวน 3 แห่ง ที่สถานีภูเหล็ก สถานีมหาสารคาม และสถานีโพนทอง มีสะพานรถไฟข้ามถนนคลองแม่น้ำ 158 แห่ง ผ่านพื้นที่ 6 จังหวัด (19 อำเภอ 70 ตำบล) ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม

มี 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง ประมาณ 180 กม. มีผู้รับจ้างคือกิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ มูลค่างาน 27,095 ล้านบาทกำหนดแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2570 การก่อสร้าง ณ เดือนต.ค. 2566 คืบหน้า 1.746 % ช้ากว่าแผน 1.055% ( แผนงาน 2.801%)

สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม.มีผู้รับจ้าง คือ กิจการร่วมค้า ยูนิค มูลค่างาน 28,306 ล้านบาทกำหนดแล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2570 การก่อสร้าง ณ เดือนต.ค. 2566 คืบหน้า 0.035 % ช้ากว่าแผน 0.575% ( แผนงาน 0.610%) เนื่องจากเพิ่งเข้าพื้นที่เมื่อพ.ค. 2566


@หวั่นล่าช้า เร่งเวนคืน”ส่งมอบพื้นที่ไป -ก่อสร้างไป”

การเวนคืน เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลทำให้โครงการล่าช้า ซึ่งจากการสำรวจ เส้นทางช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ต้องมีการเวนคืน ที่ดินประมาณ 9,661 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 1,200 หลังคาเรือน

โดยล่าสุดพื้นที่เวนคืนรวม 9,114 แปลง แบ่งเป็น ที่ดินมีโฉนด 7,321 แปลง (สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว จำนวน 2,857 แปลง สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย จำนวน 2,817 แปลง สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ จำนวน 1,647 แปลง) และที่ดินอื่นๆ อีก 1,793 แปลง

สถานะ เดือน ต.ค. 2566 ส่วนของโฉนดที่ดินรวม 9,114 แปลง ส่งมอบพื้นที่แล้ว 5,636 แปลง (77.0%)

ส่วนที่ดินอื่นๆ ณ เดือน ต.ค. 2566 ได้แก่ พื้นที่ครอบครอง จำนวน 316 แปลง ส่งมอบแล้ว 264 แปลง (83.5%)พื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 929 แปลง ส่งมอบแล้ว 359 แปลง ( 39%) พื้นที่กรมป่าไม้ 548 แปลง ส่งมอบแล้ว 521 แปลง ( 95%)

“เรื่องประชาชนไม่พอใจราคาเวนคืนมีทุกโครงการ ซึ่ง รฟท.ใช้กลไกให้ราคาที่มากกว่าราคาประเมินของธนารักษ์สูงสุดถึง 3.2 -4 % มีกระบวนการยื่นอุทธรณ์ได้ ส่วนใหญ่ประชาชนพึงพอใจราคา โดยจะเวนคืนไปพร้อมกับทยอยส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้าง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสำคัญในการก่อสร้าง เพื่อเริ่มงานได้เร็วขึ้น เวนคืนมีระยะเวลา 24 เดือน ซึ่งจะครบในเดือนก.พ. 2567 ตอนนี้มั่นใจว่าจะทำได้ตามแผน”


@เวนคืนเพิ่ม”สร้างโลคัลโรด-ย้ายสายไฟฟ้า กฟผ.18 จุด”

“ปัฐตพงษ์ บุญแก้ว” วิศวกรโครงการ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท.กล่าวว่า ล่าสุด จะต้องมีการเวนคืนเพิ่ม อีกหลายจุด เพื่อทำถนนโลคัลโรด เป็นการอำนวยความสะดวก ประชาชนในการเข้าออกพื้นที่ ตามแนวเส้นทาง และมีการเวนคืนเพิ่ม ช่วงที่ตัดผ่านเสาไฟฟ้าของ กฟผ. รวมประมาณ 18 จุด (ในสัญญา1 จำนวน 3 จุด ,สัญญา 2 จำนวน 13 จุด และสัญญา 3 จำนวน 2 จุด) ซึ่งมีทั้งรูปแบบ ย้ายแนวเสาไฟฟ้า และ การปรับปรุงยกระดับสายไฟฟ้า เพื่อให้มีความปลอดภัย ประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น จุดละ 10-20 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบค่าเวนคืน 10,600 ล้านบาท

@บ้านไผ่-นครพนม เวนคืนพุ่งเป็น 9,994 แปลง

ส่วนสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-นครพนม จากการสำรวจล่าสุด ต้องมีการเวนคืน ที่ดินประมาณ 17,500 ไร่ โดย มีพื้นที่รวม 9,994 แปลง เพิ่มจากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 7,400 แปลง แบ่งเป็น ที่ดินมีโฉนด 8,834 แปลง (สัญญาที่ 1 ช่วงช่วงบ้านไผ่-หนองพอก จำนวน 4,632 แปลง สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 จำนวน 3,902 แปลง) และที่ดินอื่นๆ อีก 1,160 แปลง

สถานะ เดือน ต.ค. 2566 ส่วนของโฉนดที่ดินรวม 8,834 แปลง ทำการรังวัดแล้ว ทำสัญญาและส่งมอบพื้นที่แล้ว 2,783 แปลง (31.0%)

ส่วนที่ดินอื่นๆ สถานะ เดือน ต.ค. 2566 ได้แก่ พื้นที่ครอบครอง อยู่ระหว่างตรวจสอบ พื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 848 แปลง ดำเนินการแล้ว 124 แปลง ( 14.69%) พื้นที่กรมป่าไม้ 312 แปลง กำลังดำเนินการ


@ไฮไลท์ เจาะภูเขาลึก 50 เมตรทะลวง”อุโมงค์งาว”ยาวสุดในไทย 6.2 กม.

ด้วยแนวเส้นทาง”เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ตัดผ่านภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงต้องออกแบบก่อสร้างทั้งเป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์รวม 4 แห่ง ที่มีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวมถึง 27.03 กม.

อุโมงค์รถไฟ 4 แห่งประกอบด้วย 1.อุโมงค์สอง จ.แพร่ ความยาว 1.2 กม. 2. อุโมงค์งาว จ.ลำปาง ความยาว 6.2 กม. จะเป็นสถิติใหม่ อุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย 3. อุโมงค์แม่กา จ. พะเยา ความยาว 2.7 กม. และ 4. อุโมงค์ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.4 กม.

“ปัฐตพงษ์ บุญแก้ว” ระบุว่าการเจาะอุโมงค์งาว มีความท้าทาย และถือเป็นจุดวิกฤติหนึ่งของโครงการ เพราะหากเจาะไม่สำเร็จตามแผน อาจจะทำให้ทั้งโครงการล่าช้าได้ ดังนั้นเพื่อความรวดเร็ว จึงจะใช้วิธีเจาะจากด้านบน เพืีอเปิดช่วงกลางอุโมงค์ บริเวณกม.ที่ 3.1 ของอุโมงค์ เมื่อเจาะอุโมงค์จากตรงกลางออกไปหาทางเข้า2 ด้านหมดแล้ว จึงทำการปิดตรงกลาง ด้านบนภูเขากลับไปสภาพเดิม

“โครงการมีการเจาะสำรวจชั้นดิน/หินตลอดแนวอุโมงค์ เพื่อออกแบบและกำหนดวิธีการก่อสร้างที่ป้องกันเรื่องแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว มีระบบระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วยและ ภายในอุโมงค์มีทางเชื่อมกรณีฉุกเฉินเพื่ออพยพเป็นระยะ ตามมาตรฐาน”


“นิรุฒ มณีพันธ์”ผู้ว่าฯรฟท.กล่าวว่า รถไฟนำประสบการณ์ ในการก่อสร้างทางคู่ระยะเร่งด่วนมาปรับ ทั้งการรวมโยธาและระบบอาณัติสัญญาณ ไว้ในสัญญาเดียวกัน และการเวนคืนที่ทำให้ทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างเริ่มเข้าพื้นที่ได้เร็ว ประกอบกับรถไฟสาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นโครงการที่ประชาชนรอคอยมาถึง 60 ปี ส่วนสายบ้านไผ่-นครพนมก็รอกันมา 50 ปี ประชาชนจึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เชื่อว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟที่สวยที่สุด เพราะสองข้างทางมีวิวผืนป่าธรรมชาติ ผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับลอดอุโมงค์ จะเป็นเส้นทางที่สร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว อีกทั้ง มีสถานีเชียงของ เหนือสุดของไทย ถึงชานแดนจึงเป็นเส้นทางหลักรองรับการขนส่งสินค้าจากประเทศจีน โดยมีศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า (Intermodal Facilities) ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนสายบ้านไผ่-นครพนม ปลายทางสิ้นสุดที่สถานีสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) เชื่อมกับ สปป.ลาว ที่แขวงสะหวันนะเขต และแขวงคำม่วน เส้นทางผ่านตอนกลางของภาคอีสานรองรับระเบียงการค้าแนวตะวันตก-ตะวันออกตอนบน จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ และภาคอีสาน”
กำลังโหลดความคิดเห็น