xs
xsm
sm
md
lg

"แอร์พอร์ตลิงก์" ขัดข้องบ่อยดีเลย์นาน กรมรางชี้เยียวยาผู้โดยสารเอกชนกำหนดเอง รัฐสั่งได้ต้องรอ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"แอร์พอร์ตลิงก์"ขัดข้องบ่อย ล่าสุดรถเหลือ 7 ขบวน ผู้โดยสารตกค้างกว่า 40 นาที ชดเชยเยียวยาไม่ชัดเจน กรมราง เผยอยู่ที่เอกชนกำหนด รัฐบังคับไม่ได้ เหตุไม่มีกฎหมาย ต้องรอพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ผ่านสภาฯ คาดว่าจะใช้ได้เร็วสุดปลายปี 67


รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เกิดขัดข้อง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เมื่อเวลา 08.13 น. และ ใช้เวลากว่า 40 นาที จึงสามารถเปิดเดินรถได้ตามปกติอีกครั้ง ส่งผลให้ผู้โดยสาร ต้องตกค้างอยู่บนสถานีเป็นจำนวนมากประกอบกับเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนซึ่ง ประชาชนต้องเดินทางไปทำงาน ผู้โดยสารส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนไปทำงานสายและมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเดินทางไปสนามบินและต้องตกเครื่อง

จากรายงาน แจ้งว่า เกิดเหตุเวลา 08:13 น. โดยขบวนรถ Express 04 เกิดระบบห้ามล้อ (ระบบเบรค) ขัดข้อง ก่อนเข้าที่สถานีหัวหมากฝั่งขาออกนอกเมือง ส่งผลให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ล่าช้า โดยผู้ให้บริการได้ดำเนินการแก้ไข โดยนำขบวนรถ City 05 เข้าทำการต่อพ่วงขบวน Express 04 เพื่อดันขบวนรถไฟฟ้าที่ขัดข้องไปยังสถานีหัวหมากในทางรถไฟที่ไม่ขัดขวางการเดินรถ และขนถ่ายผู้โดยสารออกจากขบวนรถ ก่อนนำขบวน Express 04 ออกจากการให้บริการ และนำขบวนรถ city 05 ทำขบวนรับผู้โดยสารต่อไปยังสถานีสุวรรณภูมิ และประกาศเดินรถตามปกติในเวลา 08.56 น.ใช้เวลาแก้ไขกว่า 40 นาที
จึงสามารถเดินรถได้ตามปกติ

@ผู้โดยสารเซ็ง รถเสียไม่แจ้งก่อนแตะบัตรเข้าระบบ

จากการตรวจสอบ พบว่า หลังเกิดปัญหาขบวนรถขัดข้อง ผู้โดยสารตกค้างบนสถานีจำนวนมากจนแออัด ขณะที่มีผู้โดยสารไม่ทราบว่าขบวนรถขัดข้อง เพราะ ไม่มีการประกาศแจ้งก่อนที่จะแตะบัตรเข้าไปในระบบ เมื่อเข้าระบบแล้วจึงรู้ว่ารถขัดข้องผู้โดยสารจึงตัดสินใจออกจากระบบโดยแตะบัตรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปใช้ขนส่งอื่นแทน หมายความว่าต้องเสียเงินค่าเดินทางโดยไม่ได้ใช้บริการ

ทั้งนี้ จาก ข้อมูลเบื้องต้นการชดเชยผู้โดยสาร ของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พบว่า มีการชดเชย 2 มาตรการ คือ
1. กรณีผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสาร และยังไม่ได้เดินทาง หากมีการประกาศว่ามีเหตุขัดข้อง ผู้โดยสารสามารถคืนตั๋วโดยสารได้ทันที

2. กรณีผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารและเดินทางไปกับขบวนรถแล้ว และมีเหตุล่าช้าเกิน 1 ชั่วโมง ผู้โดยสารสามารถคืนตั๋วโดยสาร (Refund) ตามส่วนที่ยังไม่ได้เดินทางได้


@กรมรางเผยไม่มีกฎหมาย ทำได้แค่ขอความร่วมมือช่วยเยียวยา ผู้โดยสาร

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าว กรมรางฯ แจ้งว่า ได้เร่งรัดบริษัท เอเชีย เอรา วันจำกัด ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในการตรวจสอบหาสาเหตุการขัดข้องดังกล่าว เพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันในอนาคต รวมถึงจะหารือผู้ให้บริการถึงมาตรการการชดเชยผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การให้ตั๋วโดยสารฟรีแก่ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าสำหรับใช้ในการเดินทางครั้งถัดไป เป็นต้น

นายพิเชฐกล่าวว่า ปัจจุบันเนื่องจาก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้ยังไม่มีกฎหมายบังคับ เกี่ยวกับการเยียวยาชดเชยผู้โดยสารระบบรางในกรณีต่างๆ โดย ผู้ประกอบการ จะเป็นผู้กำหนด การชดเชยเอง ในขณะที่กรมราง ทำได้เพียงประสานขอความร่วมมือกับ ผู้ประกอบการเท่านั้นซึ่งในพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ....นั้น จะมีกฎหมายลูก กำหนดมาตรการชดเชยเยียวยากรณีระบบรางขัดข้อง บังคับเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ หากขัดข้องเกิน 15 นาที ต้องเยียวยา รวมถึงมีบทลงโทษกรณี ผู้ให้บริการไม่ดำเนินการตาม อย่างเข้มงวดซึ่งจะเป็นการคุ้มครอง ผู้โดยสาร ที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น

โดยปัจจุบัน กรณีรถไฟฟ้าขัดข้องและเกิดความล่าช้า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT จะมีพนักงานแจ้ง ก่อนที่ผู้โดยสารจะ แตะบัตรเข้าระบบ และมีชดเชยเยียวยา 2 แบบ คือ 1. กรณีผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสาร และเดินทางถึงจุดหมายแล้ว จะได้รับชดเชยตั๋วให้อีก 1 เที่ยว 2.กรณีผู้โดยสารซื้อตั๋วโดยสาร แต่ยังไม่ได้เดินทาง เมื่อพบขบวนล่าช้าจึงตัดสินใจยกเลิกเดินทางและออกจากระบบ ในสถานีเดิม จะได้รับชดเชยตั๋ว 2 เที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางชดเชยที่ค่อนข้างดีมาก

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดง และ BTS จะชดเชยตั๋ว 1 เที่ยว กรณีรถไฟฟ้าขัดข้องและเกิดความล่าช้าทุกกรณี

@เร่งสรุปร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ เสนอคมนาคม ในธ.ค.นี้

นายพิเชฐกล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ....อยู่ระหว่าง ปรับปรุง ในประเด็นเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และความเห็นเพิ่มเติมอื่นๆ โดยจะนำเสนอ กระทรวงคมนาคม ได้ภายในกลางเดือนธ.ค.66 ตามนโยบาย นายสุรพงษ์ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอน ก่อนนำเสนอต่องสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 วาระ2 วาระ3 ต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จ และประกาศใช้ในปลายปี 2567

รายงานข่าวแจ้งว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีขบวนรถทั้งสิ้น 9 ขบวน ปัจจุบัน นำเข้าซ่อมใหญ่ 1 ขบวน เหลือให้บริการ 8 ขบวน โดย ในช่วงเวลาเร่งด่วนช่วงเช้า กำหนดรถให้บริการ 6 ขบวนตามตารางเวลา และมีอีก 2 บวน จัดเป็นรถวิ่งเสริม ช่วงที่มีผู้โดยสารหนาแน่น และสำรอง 1 ขบวน ล่าสุด เกิดระบบห้ามล้อขัดข้อง 1 ขบวน เท่ากับ เหลือรถให้บริการเพียง 7 ขบวน เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น