xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : หนังไก่แซ่บ KFC เมนูจากไวรัลหัวใจหมื่นดวง ขายดีแบบต้องรอปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กลายเป็นเมนูที่ขายดีกระทั่งหมดก่อนกำหนด สำหรับหนังไก่แซ่บ เมนูเฉพาะกิจของร้านเคเอฟซี (ประเทศไทย) ที่อิงกระแสภาพยนตร์ไทยเรื่อง "ธี่หยด" วางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เฉพาะสาขาที่ร่วมรายการ 59 สาขาในกรุงเทพมหานคร ปรากฎว่ากลายเป็นเมนูขายดี ชนิดที่ว่าไม่พอขาย ส่วนคนต่างจังหวัดก็เรียกร้องให้นำสินค้ามาลงบ้าง


กระทั่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เคเอฟซีประกาศว่า หนังไก่แซ่บขายหมดแล้ว และแย้มว่าปีหน้าเตรียมรอติดตามข่าวดี


น่าสนใจว่าเมนูจากชิ้นส่วนไก่ที่มักจะถูกทิ้ง หรือจำหน่ายในราคาถูกที่สุด (ปัจจุบันช่องทางโมเดิร์นเทรด ขายในราคากิโลกรัมละ 67-87 บาท) เพราะนำไปประกอบอาหารยาก นอกจากนำไปคลุกแป้งแล้วทอดกรอบ ทานคู่กับข้าวเหนียว เป็นเมนูราคาประหยัดตามแผงลอยหรือตลาดนัดต่างๆ มาวันนี้กลายเป็นเมนูที่จุดติดในระดับหนึ่ง เคเอฟซีมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

เริ่มต้นจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง "ธี่หยด" ที่แต่ละแบรนด์มักจะมีการสร้างไวรัลการตลาดเป็นของตัวเอง เคเอฟซีก็มีไวรัลเช่นกัน โดยพบว่าบางตัวใช้หนังไก่เป็นตัวละครหลัก เช่น อินโฟกราฟิกระบุว่า "ผีหลอกที่ว่าหลอนก็ไม่เท่าตอนเธอหลอก (ลอก) หนังไก่เราไป" หรือ "ธี่หยิบ เห็นเมื่อไหร่ มันอดไม่ได้ธี่ (ที่) จะหยิบเข้าปาก" เป็นภาพของหนังไก่จากไก่ทอดจิ้มกับซอสพริก




ปรากฎว่าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เฟซบุ๊ก KFC โพสต์ข้อความว่า "ใครอยากให้ KFC มีหนังไก่ทอดขาย เมนต์หัวใจมาเลยยย / ครบ 10,000 ดวง เมื่อไหร่ เดี๋ยวแอดจัดให้" ปรากฎว่ามีคนกดหัวใจอย่างรวดเร็ว กระทั่งวันต่อมาเคเอฟซีประกาศว่า มาตามสัญญา เมนต์ครบหมื่นใจ ผู้พันก็จัดหนังไก่แซ่บให้ไปเลย ก่อนจะวางจำหน่ายเมนูหนังไก่แซ่บในที่สุด

สำหรับเมนูหนังไก่แซ่บ ขนาด 130 กรัม ขายในราคา 129 บาท ด้วยความที่ผู้บริโภคยุคนี้เห็นว่าเป็นเมนูแปลกใหม่ ซึ่งปกติเห็นตามแผงลอย ตลาดนัดอยู่แล้ว อยากรู้อยากลองว่าถ้าเป็นหนังไก่แซ่บ มาจากร้านเคเอฟซี รสชาติจะเป็นอย่างไร จึงกลายเป็นกระแสไวรัลให้มีผู้สนใจสั่งมาลองชิมและวิจารณ์ถึงรสชาติอย่างกว้างขวาง

ตามแผนเคเอฟซีจะจำหน่ายหนังไก่แซ่บถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 แต่ปรากฎว่าผ่านไปเพียง 7 วัน ประกาศว่าขายหมดแล้ว


Ibusiness review มีโอกาสสัมผัส "หนังไก่แซ่บ" เคเอฟซีด้วยตัวเอง ในวันแรกจำหน่าย พบว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าเป็นหนังไก่ทอดตามแผงลอยหรือตลาดนัดต่างๆ โดยปกติแล้วมักจะมีความกรอบและแข็ง มีรสชาติเค็มและมัน จึงนิยมรับประทานกับข้าวเหนียว ข้าวสวย หรือเป็นกับแกล้มทานคู่กับเมนูอื่น เช่น ส้มตำ

แต่สำหรับหนังไก่แซ่บ พบว่าหนังไก่ทอดจนกรอบ แต่ไม่แข็งเท่า รสชาติเหมือนหนังไก่ที่มาจากไก่ทอดสูตรฮอต แอนด์ สไปซี่ คลุกเคล้าด้วยผงแซ่บ ที่คาดว่าแบบเดียวกับเมนูวิงซ์แซ่บ จึงเหมาะสำหรับเป็นของทานเล่น (Snack) มากกว่า เมื่อสั่งแบบทานนอกร้าน (Take Away) จะมีซอสพริกมาให้ 1 ซอง แต่ด้วยขนาดหนังไก่ 130 กรัม ในความเป็นจริงอาจไม่พอ


ขณะที่ราคาขายพบว่าจำหน่ายในราคาชุดละ 129 บาท ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับวัตถุดิบที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคนละกลุ่มเป้าหมายกับหนังไก่ทอดตามตามแผงลอย ตลาดนัด ที่ขายในราคา 20-30 บาทต่อถุง ซึ่งเจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการเมนูอาหารในราคาประหยัด แต่หนังไก่แซ่บ เคเอฟซีอาจวางตำแหน่งเป็นของทานเล่น โดยมีกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางขึ้นไป

น่าสังเกตว่า เคเอฟซีอาจต้องการทดลองตลาดโดยนำร่องจำหน่ายหนังไก่แซ่บเฉพาะ 59 สาขาในกรุงเทพฯ และเป็นสาขาในบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้จำหน่ายที่ต่างจังหวัด ซึ่งเคเอฟซีอาจจะนำผลตอบรับตรงนี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายในวงกว้างต่อไป จากปัจจุบันร้านเคเอฟซีมีมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ ผ่าน 3 แฟรนไชส์หลัก ได้แก่ เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป (CRG), เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) ของกลุ่มไทยเบฟ และ เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (RD)


ถึงกระนั้น จากการทดลองตลาด ขายดีแบบสินค้าหมดสต็อกก่อนถึงเวลา ในปีหน้า (2567) อาจจะได้เห็นหนังไก่แซ่บเป็นเมนูโปรโมชัน และหากเสียงตอบรับจากผู้บริโภคมีมาอย่างต่อเนื่อง อาจได้รับการบรรจุเป็นเมนูุถาวรของร้าน เฉกเช่นเมนูวิงซ์แซ่บ ที่เปิดตัวในปี 2547 หรือจะเป็นเมนูของหวานอย่างทาร์ตไข่ ที่เปิดตัวในปี 2553 ก็เป็นได้

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทางเว็บไซต์ ibusiness.co เฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น