xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) วอลุ่มเทรดหุ้นหดตัวชัด ฉุดกำไรไตรมาส 3 โบรกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



 ไตรมาส 3 ผลประกอบการโบรกเกอร์ลด ตามวอลุ่มเทรดในตลาดที่หดตัว ฉุดค่าคอมมิชชั่นหุ้น ไล่ควานหามูลเหตุเสียงแตก มีทั้งตามภาวะตลาดขาลง นักลงทุนชะลอลงทุน อีกฟากเชื่อโปรแกรมเทรดทำรายย่อยลำบาก ตลาดซบเซา ภาพรวม บล.เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ชดเชย แห่ขอไลน์เซนสินทรัพย์ดิจิทัล อนาคตอาจเห็นการควบรวมเพิ่มขึ้น 

ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาลง จากดัชนีหลักทรัพย์ที่ลดลงต่ำกว่า 1,400 จุด ( เมื่อ 14 พ.ย. ดัชนีปิดที่ระดับ 1,386.04 จุด) และประเด็นสำคัญ คือ ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงหนักจนเหลืออยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เคยสูงถึง 7.4 หมื่นล้านบาท ทำให้มีการประเมินว่าธุรกิจโบรกเกอร์ (บริษัทหลักทรัพย์) น่าจะเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าว ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่จดทะเบียนและซื้อขายบนกระดานหุ้น จำนวน 4 บริษัท ได้รายงานผลดำเนินงานไตรมาส3/66 และผลดำเนินงานงวด9 เดือนปี 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพบว่าคำอธิบายผลดำเนินงานของแต่ละบริษัทมีประเด็นที่น่าสนใจ

เริ่มที่ บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิงส จํากัด (มหาชน)(ASP) แจ้งผลการดําเนินงานตามงบการเงินรวม ไตรมาสที่ 3/66 มีกําไรสุทธิ 102.98 ล้านบาท ลดลง 4% จากงวดเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมีจํานวน 107.50 ล้านบาท โดยหนึ่งในเหตุผลที่น่าสนใจ คือบริษัทมีรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในไตรมาสนี้ จํานวน 128.19 ล้าน บาท ลดลง 34% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 2,641 ล้านบาท เป็น 1,637 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ASP มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น 25.77 ล้านบาท หรือ 8% ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ขณะที่ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ลดลง 17.30 ล้านบาท หรือ 23% เนื่องจากการกู้ยืมสาหรับลูกค้าเพื่อซื้อหลักทรัพย์ลดลง

ส่วนผลดําเนินงานตามงบการเงินรวมงวด 9 เดือนปี 2566 บริษัทมีกําไรสุทธิ 341.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากงวดเดียวกันปีก่อนซึ่งมีจํานวน 288.84 ล้านบาท โดยมีรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 239.07 ล้านบาท หรือ 35% แต่มีกําไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินเพิ่มขึน 205.91 ล้านบาท หรือ 245%

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (MST) ชี้แจงผลการดำเนินงานไตรมาส3/669 ว่าบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 120.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.39 ล้านบาท หรือ 2.03% จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 117.69 ล้านบาท โดยในไตรมาสดังกล่าง บริษัทมีรายได้ค่านายหน้าลดลง 69.09 ล้านบาทหรือ 20.02% เป็นผลมาจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ลดลงจาก 71,210.58 ล้านบาท/วัน เหลือ 51,433.97 ล้านบาท/วัน หรือ 27.77%

โดยสัดส่วนนักลงทุนบุคคล ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทลดลงจาก 37.74%ในไตรมาส3/65 เหลือ 33.29% เป็นผลให้มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยของนักลงทุนส่วนบุคคลลดลงจาก 26,874.37 ล้านบาท/วัน เหลือ 17,313.80 ล้านบาท/วัน หรือ 35.58% ส่วนรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพิ่มขึ้น 0.14 ล้านบาท จาก 40.73 ล้านบาท เป็น 40.87 ล้านบาท หรือ0.34% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการลดลง 42.49 ล้านบาท จาก 85.99 ล้านบาท เหลือ 43.50 ล้านบาท หรือ 49.41% เนื่องมาจากค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ลดลง 27.23 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาทางการเงิน ลดลง 16.34 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมและบริการอื่นลดลง 1.26 ล้านบาท

ถัดมา บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (มหาชน) (GBX) รายงานผลดำเนินงานไตรมาส3/66 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 3.83 ล้านบาท ลดลง 2.97 ล้านบาท หรือ 43.68% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.80 ล้านบาท ขณะที่ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 23.10 ล้านบาท ลดลง 21.22 ล้านบาท หรือ 47.88% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 44.32 ล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจาก รายได้ค่านายหน้าธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทย่อยในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 39.14 ล้านบาท ลดลง 27.54 ล้านบาท หรือ 41.30% ขณะที่รายได้ค่านายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 8.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.65 ล้านบาท หรือ 42.40%

ขณะที่งวด 9 เดือนแรกปี 2566 บริษัทย่อยมีรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 133.55 ล้านบาท ลดลง 105.17 ล้านบาท หรือ 44.06% และมีรายได้ค่านายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 20.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.64 ล้านบาท หรือ 27.65%

สุดท้ายคือ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) (KGI) รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3/66 ว่า มีกำไรสุทธิ 255.68 ล้านบาท ลดลง 27% จากไตรมาส 3/65 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 348.55 ล้านบาท เป็นผลให้ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 705.56 ล้านบาท ลดลง 24% จากงวดเดียวกันปีก่อนซึ่้งมีกำไรสุทธิ 933.30 ล้านบาท

โดยบริษัทให้เหตุผลการลดลงของกำไรสุทธิว่า ในไตรมาส3/66 บริษัทมีรายได้รวม 978 ล้านบาท ลดลง 12% จากไตรมาส3/65 ซึ่งมาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ 214.12 ล้านบาท ลดลง 26% จาก 288.78 ล้านบาทในไตรมาส3/65 เช่นเดียวกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ รวมถึงกำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน ที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ระดับ 9% และ 15% ตามลำดับ มีเพียงรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 60.24 ล้านบาท มาอยู่ที่ 100.16 ล้านบาท หรือ 66%

ค้นหามูลเหตุตลาดหุ้นตกต่ำ

ทั้งนี้ คำชี้แจงของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์ที่เริ่มประกาศผลดำเนินงานไตรมาส3/66 ออกมาแล้วนั้น พบว่า มูลเหตุหลักของกำไรสุทธิในไตรมาสนี้ที่ลดลง ล้วนมาจากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปมากหรือเกือบครึ่งของสถานการณ์ปกติที่เคยเป็นอยู่ เมื่อปริมาณการซื้อขายลดลง ย่อมแสดงถึงธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนลดลง นั่นทำให้รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทโบรกเกอร์ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หรือธุรกิจหลักลดลงตามไปด้วยนำไปสู่ผลดำเนินงานหดตัว 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดไม่ใช่เรื่องเดายาก เพราะมีรายงานว่าหลายบล.ประเมินทิศทางธุรกิจของตนเองไว้ล่วงหน้าแล้ว สะท้อนได้จากการแสดงความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์หลายรายที่เคยแสดงความเห็นถึงทิศทางธุรกิจในช่วงก่อนหน้านี้ ว่าสภาวะตลาดหุ้นอยู่ในช่วงค่อนข้างเปราะบาง จากปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสงคราม ค่าเงิน ราคาน้ำมัน ถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดทุน จนทำให้นักลงทุนมีการลดพอร์ตการลงทุน และส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายต่อวันลดลงไปด้วย โดยปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่ คงเป็นช่วงของการ Wait & See เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความมั่นใจมากกว่านี้

โปรแกรมเทรด ตปท.ตัวการ?

ขณะเดียวกันมูลค่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงมาก ไม่เพียงสะท้อนถึงบรรยากาศการลงทุนที่ซบเซาแต่ยังมีหลายฝ่ายเชื่อว่านี่คือส่งสัญญาณอันตราย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนนักลงทุนในตลาดเปลี่ยนไป จากเดิมนักลงทุนทั่วไป(รายย่อย)มีมากถึง 70% แต่ปัจจุบันเหลือประมาณ 30% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมากอยู่ที่ 50% กว่าจากเดิมที่ระดับ 20%

สิ่งสำคัญที่คนในฟากนี้เชื่อนั่นคือ  การใช้โปรแกรมเทรดดิ้งของนักลงทุนต่างชาติ ที่ช่วยให้ชนะการลงทุนหรือสามารถทำผลกำไรได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป ทำให้นักลงทุนจำนวนมากขาดทุน หรือหยุดการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ขณะเดียวกันเชื่อว่าโปรแกรมเทรดิ้งที่นักลงทุนต่างชาตินำมาใช้ อาจสามารถทำธุรกรรมที่สามารถหลบเลี่ยงการตรวจสอบของผู้ควบคุมตลาด อย่าง ตลท. และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ นั่นรวมถึงมีการ SHORT SELL ที่อาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไข 

โดยประเด็นดังกล่าว กลายเป็นที่พูดถึงกันในแวดวงตลาดทุน โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ต้องการให้หน่วยงานที่ควบคุมออกมาหยุดการทำธุรกรรมดังกล่าว พร้อมตรวจสอบ เพื่อหวังไม่ให้ตลาดหุ้นไทยแย่ลงไปมากกว่านี้




หลายปัจจัยลบกดดันตลาด

ขณะอีกฟาก เชื่อว่า การทรุดตัวของตลาดหุ้นไทยเป็นภาวะเศรษฐกิจ ที่กดดันผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เช่นเดียวกับการตลาดอื่นๆ ขณะที่ปริมาณซื้อขายที่ลดลงนั้น มาจากภาพรวมที่ยังอยู่ในขาลง ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะชะลอการลงทุนออกไปมากกว่า 

“มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ(ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นไปทางแย่ลง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ในไตรมาส 3/66 ที่ทยอยประกาศออกมาไม่ค่อยดีเท่าไร

สำหรับปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นก็ลดลงเหลือ 4.5 หมื่นล้านบาท/วัน นั่นย่อมทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ฯเคลื่อนไหวในแนวลบมากกว่าบวก ส่วนประเด็นสำคัญที่กดดันดัชนีฯส่วนตัวมองไปที่สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพรวมของตลาดแย่ลง

“หากพูดถึงผลประกอบการ บจ.ทั้งตลาดไม่รวมกลุ่มแบงก์และกลุ่มพลังงาน ถือว่าสามารถกดดันให้ดัชนีลดลงได้ถึง 30 จุด นั่นเพราะหากไม่รวมสองกลุ่มข้างต้นอีก 600 -700 บริษัทในตลาดหุ้นไม่ค่อยดี”

นอกจากนี้อีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไม่น่าลงทุน มาจากความกังวลต่อการลงทุนในหุ้นกู้ หลังมีหลายบริษัทไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ได้ ทำให้หุ้นกู้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร โดยรวมปี 2566 ถือว่าเป็นปีที่ไม่ดีสำหรับตลาดหุ้นไทย ซึ่งย่อมส่งผลต่อธุรกิจโบรกเกอร์ไปด้วย

“ที่ผ่านมา แม้ภาพรวมตลาดอาจไม่ดี แต่วอลุ่มการซื้อขายยังมี หุ้นกู้ของบริษัทต่างๆสามารถออกมาระดมทุนได้ต่อเนื่อง แต่ปีนี้ไม่ใช่ ไม่เพียงเท่านี้การนำเงินลงทุนในต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และทองคำนักลงทุนไม่ได้หนีไปเทรดสินทรัพย์ประเภทอื่น แต่สินทรัพย์ที่ สามารถลงทุนได้ช่วงนี้ให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก คริปโตเคอร์เรนซีก็ใช่ว่าจะดี ทองคำพอราคาปรับตัวขึ้นหน่อยคนก็แห่เอาออกมาขาย จากนั้นราคาก็ลดลง จะนำลงไปลงทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศ ส่วนนี้ก็มีความกังวลโดยเฉพาะแนวคิดภาครัฐที่ต้องการจะเก็บภาษี” 

ส่วนกรณีเรื่อง Short Sell ที่หลายฝ่ายกังวลว่าเป็นสาเหตุที่ทำลายตลาด ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ แต่เหตุที่ตลาดซบเซานั้นมาจากภาพรวมเศรษฐกิจ ที่ผลประกอบการของ บจ.ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อนักลงทุนต่างชาติทราบข้อมูลก็ตัดสินใจเลือกที่จะขายหุ้นออกไป

ขณะเดียวกันนโยบายประชานิยมของรัฐบาลก็มีผลต่อตลาดหุ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อนักลงทุนรู้ว่าแหล่งเงินที่นำมาใช้เป็นการกู้ นั่นทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่ามีความเสี่ยง เมื่ออะไรต่ออะไรไม่ดี มาเจอความเสี่ยงเพิ่มขึ้นการตัดสินใจชะลอการลงทุน หรือขายหุ้นออกไปจึงเกิดขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็น “จิตวิทยาการลงทุน”

คาดครึ่งปีหลัง 67 ตลาดฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามส่วนตัวนั้น "มงคล" ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 หมายความว่า ช่วงต้นปีตลาดหุ้นยังเป็นขาลงต่อเนื่องมาจากปีนี้ กลุ่มที่จะโดดเด่นคาดว่าจะเป็นกลุ่มแบงก์ ขณะที่กลุ่มพลังงานแม้เติบโตแต่ยังมีหลายปัจจัยกดดัน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อนักลงทุนเลือกที่จะชะลอการลงทุนในหุ้น คริปโตฯ ทองคำ อาจทำให้เกิดการชะลอเข้าลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆจนทำให้หลายตลาดทรุดตัวลงได้ 

ส่วนธุรกิจโบกรเกอร์นั้น ไม่สามารถบังคับให้ลูกค้ากลับเข้ามาเทรดได้ ที่ทำได้ตอนนี้คือคอยดูแลประคับประครองลูกค้าที่ยังเทรดอยู่ให้มีธุรกรรมต่อเนื่อง รวมถึงเริ่มหันมองหารายได้จากธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น การออกสินทรัพย์หรือเครื่องมือการลงทุนใหม่ เป็นต้น “อย่าพูดถึงการแข่งขันกันภายในธุรกิจโบรกเกอร์ในตอนนี้ แค่ประคับประครองตัวเองต่อไปได้ถือว่าดีแล้ว”

โบรกฯขยับตัวลงทุนธุรกิจใหม่

ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณที่โบรกเกอร์หลายราย ผันตัวเดินหน้าเข้าหาธุรกิจใหม่ๆมากขึ้น โดยมีรายงานว่าโบรกเกอร์นับสิบราย ได้ยื่นคำขอใบอนุญาตเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายโทเคนหรือเหรียญดิจิทัล เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ เพราะรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหุ้นลดลง เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหุ้นตกต่ำ ตลาดหุ้นซบเซา และการแข่งขันสูง จนคาดว่า ผลประกอบการบริษัทโบรกเกอร์ค้าหุ้นส่วนใหญ่ปีนี้จะขาดทุน

แต่การขอใบอนุญาตเป็นโบรกเกอร์ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ทำให้บริษัทโบรกเกอร์หุ้น เลือกวิธีตั้งบริษัทลูก เพื่อประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง

การควบรวมเพื่ออยู่รอด

สิ่งที่ช่วยตอกย้ำว่า ธุรกิจโบรกเกอร์จำเป็นต้องเร่งปรับตัวมาจากรายงานของ “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ในเรื่อง “ความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอลงของบริษัทหลักทรัพย์ไทย อาจกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการ” โดย “ฟิทช์”ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทแม่ (independent companies) และมีเครือข่ายธุรกิจ (franchise) ที่ค่อนข้างอ่อนแอ" เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรในภาคอุตสาหกรรมในปี 2566 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ตามสภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่อ่อนแอและการแข่งขันที่รุนแรง

ทั้งนี้ การควบรวมกิจการอาจเป็นปัจจัยบวกต่อผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมในระยะกลาง การมีจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างมากในอุตสาหกรรมและมีรายได้ที่ผันผวนนั้นเป็นข้อจำกัดต่อสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน เมื่อปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างมากจากจุดสูงสุดในปี 2564 โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อย อีกทั้งอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน ขณะที่แหล่งรายได้จากธุรกิจอื่นนั้นยังคงไม่เพียงพอที่จะชดเชยการปรับตัวลดลงของรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 

นอกจากนี้สภาวะการลงทุนของตลาดการเงินในประเทศยังได้รับผลกระทบจากเรื่องอื้อฉาวทางบัญชีของบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งและการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์น่าจะเริ่มปรับตัวมีเสถียรภาพหรือปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566-2567 โดยมีจำนวนบริษัทที่รอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) คงค้างเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหนุนผลการดำเนินงาน ขณะที่ผลการดำเนินงานและปริมาณธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์อาจได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสถานะการณ์ตลาดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น