xs
xsm
sm
md
lg

"มูลนิธิชัยพัฒนา" และการบินไทยทำบันทึกความเข้าใจการจำหน่ายข้าวหอมมะลิ “จันกะผัก” เพื่อประกอบอาหารสำหรับบริการผู้โดยสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บันทึกความเข้าใจการจำหน่ายข้าวหอมมะลิ “จันกะผัก” ระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนา กับ บริษัท การบินไทย เพื่อนำไปประกอบอาหารสำหรับให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบินของการบินไทย

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่หน่วยธุรกิจการบิน บริษัท การบินไทยฯ ร่วมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการจำหน่ายข้าวหอมมะลิ “จันกะผัก” ระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับบริษัท การบินไทยฯ ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 ชั้น 1 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กรุงเทพมหานคร


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนาลงนามบันทึกความเข้าใจการจำหน่ายข้าวหอมมะลิ “จันกะผัก” ระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมูลนิธิชัยพัฒนา ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จะจำหน่ายข้าวหอมมะลิ “จันกะผัก” แก่ บริษัท การบินไทยฯ เพื่อนำไปประกอบอาหารสำหรับให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบินของการบินไทย ในชั้นหนึ่ง (First Class) และชั้นธุรกิจ (Business Class) และกิจกรรมอื่นๆ ของฝ่ายครัวการบิน เช่น ร้านพัฟแอนด์พาย รวมทั้งหากมีผลิตภัณฑ์อื่นเพียงพอ อาทิ ผักสด จากมูลนิธิชัยพัฒนา บริษัท การบินไทยฯ จะให้การสนับสนุน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาให้แก่ลูกค้าชาวไทยและต่างชาติได้รับทราบ โดยบันทึกความเข้าใจการจำหน่ายข้าวหอมมะลิ “จันกะผัก” มีระยะการดำเนินงานร่วมกัน 2 ปี ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำการปลูกข้าวที่ปลอดภัยด้วยวิธีประณีตให้มีการขยายตลาด รวมถึงเผยแพร่ข้าวหอมมะลิชั้นดีของไทยสู่สายตาชาวโลกผ่าน บริษัท การบินไทยฯ สายการบินแห่งชาติของคนไทย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยต่อไปในอนาคต


ข้าวหอมมะลิ “จันกะผัก” เป็นข้าวที่ผลิตด้วยความประณีต ความใส่ใจ ปลอดภัยจากสารเคมี จากแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของประเทศไทย โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา มีพระประสงค์ให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพสำรองในยามที่ประเทศชาติประสบภัยพิบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ขึ้น เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 สะสมไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน จากความศรัทธา ความเชื่อมั่น และความเข้าใจ มูลนิธิชัยพัฒนาจึงมีเกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทานที่มีคุณภาพดีด้วยกันหลายราย แต่เนื่องจากมาตรฐานคุณภาพที่สูงของการเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรบางส่วนไม่สามารถผ่านเกณฑ์ของการเป็นเมล็ดพันธุ์ได้


ถึงแม้กระนั้นก็ตาม คุณภาพของผลผลิตดังกล่าวก็มีความเหมาะสมที่จะผลิตเป็นข้าวสำหรับบริโภคชั้นเยี่ยมได้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีรับสั่งให้รับซื้อข้าวที่เกษตรกรปลูกด้วยความพากเพียรและประณีตนี้ด้วยราคาที่เป็นธรรม นำมาสีบรรจุเพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้มีข้าวหอมมะลิที่อร่อยและปลอดภัยได้รับประทาน ภายใต้ชื่อข้าวหอมมะลิ “จันกะผัก”




กำลังโหลดความคิดเห็น