xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ถกนอกรอบ ซี.พี.เร่งแก้ปัญหาไฮสปีด 2 สาย ดึงโครงสร้างร่วมทำเอง จ่อเพิ่มงบ 'ไทย-จีน' 5 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ผู้ว่าฯ รฟท.” เร่งแก้ปัญหาไฮสปีด 2 สาย ถกนอกรอบ ซี.พี.ดึงโครงสร้างร่วมทำเอง จ่อแก้สัญญาหักค่างานโยธา 1.1 หมื่นล้าน ส่วนไทย-จีน 4-1 ต้องเพิ่มงบ 5 พันล้าน ส่วนมรดกโลก "อยุธยา" รอ HIA ดันเซ็นสัญญาพ.ย.ลุยสร้างทางวิ่งก่อน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางว่า ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ขณะนี้ยังเหลืองานโยธาอีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ซึ่งต้องเร่งแก้ไขให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้เร็วที่สุด

โดยประเด็นโครงสร้างร่วมสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. เป็นช่วงที่เส้นทางทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ขณะนี้ยังเจรจากับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เอกชนคู่สัญญาอยู่ ซึ่งแนวทางล่าสุดทางเอกชนส่งสัญญาณว่าอาจต้องให้ รฟท.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างส่วนโครงสร้างร่วมทั้งหมด 

หาก รฟท.รับก่อสร้างโครงสร้างร่วมทั้งรถไฟไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเอง จะมีการเจรจาปรับลดค่าก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในเนื้องานที่ รฟท.จะเป็นผู้ก่อสร้างให้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 จะมีค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น (เดิมมีแนวคิดให้ ซี.พี.ก่อสร้างโครงสร้างร่วมโดยคำนวณค่าใช้จ่ายรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ที่เพิ่ม ไปปรับเงื่อนไขทางการเงินของสัญญาสัมปทาน 3 สนามบินแทน) 


นายนิรุฒกล่าวว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รฟท.ได้หารือนอกรอบกับทางซี.พี.ในประเด็นโครงสร้างร่วมเพื่อพยายามเร่งหาข้อยุติร่วมกัน จากนั้นจะได้นำเข้าหารือในคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ รฟท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน และเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติ ในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ กับทางซี.พี. และเพิ่มกรอบค่าก่อสร้างรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1

“เบื้องต้นได้รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาต่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม รับทราบแล้ว โดยรฟท.ขีดเส้นในปีนี้ต้องจบ ที่ผ่านมาหารือกันมาหลายรอบ และใช้เวลากันมานานแล้ว ซึ่งเอกชนได้ให้ความร่วมมือในการพิจารณาแนวทางต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน เดิมทางเอกชนได้คำนวณตัวเลขกรณีที่ต้องเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างร่วม และเอกชนส่งสัญญาณว่าอาจจะทำไม่ไหว รฟท.ก็ต้องหารือกันให้ตกผลึก เพราะพื้นที่ ช่วงโครงสร้างร่วม 2 โครงการมีจำกัด ทำให้ต่างคนต่างทำไม่ได้ ต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับทำ” ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าว


@คาด พ.ย.นี้ได้เซ็นสัญญาที่ 4-5 เว้นสถานีสร้างทีหลัง รอปมมรดกโลก "อยุธยา" ยุติ

สำหรับรถไฟไทย- จีน สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.ที่มีกรณีผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก บริเวณสถานีอยุธยา นายนิรุฒกล่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาส่งกลับมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการตรวจทานด้านเอกสารเพื่อความเรียบร้อยครบถ้วน คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างกับ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ผู้รับจ้าง วงเงิน 10,325 ล้านบาท ได้ในเดือน พ.ย. 2566

โดยช่วงผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รฟท.ยังคงใช้แนวเส้นทางเดิม ไม่มีการปรับย้ายแนวแต่อย่างใด โดยหลังลงนามสัญญา 4-5 จะก่อสร้างในส่วนของทางวิ่งไปก่อนและหากได้ข้อยุติเรื่องสถานีอยุธยาค่อยมาดำเนินการก่อสร้างในภายหลังต่อไป ซึ่งการก่อสร้างทางวิ่งก่อนได้ระบุไว้ในสัญญาที่จะเซ็นกับผู้รับเหมาไวัแล้ว

ส่วนกรณีมรดกโลก สถานีอยุธยา นั้น รายงานศึกษารายงาน HIA อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ขณะเดียวกันได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวสถานียังสามารถหารือปรับแบบให้เล็กลงหรือให้สอดคล้องกับพื้นที่โดยรอบได้ 


@รถไฟสร้างเองโครงสร้างร่วม สัญญา 4-1 ไทย-จีนต้องเพิ่มงบอีก 5 พันล้านบาท 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า โครงสร้างร่วมไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินกับรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง มีค่าก่อสร้างรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท แยกเป็นค่างานโครงสร้างในส่วนของไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 11,000 ล้านบาท โครงสร้างรถไฟไทย-จีน 9,000 ล้านบาท  

หาก รฟท.เป็นผู้ก่อสร้าง จะเจรจาซี.พี.เพื่อหักออกจากค่างานโยธา 11,000 ล้านบาท และแก้สัญญาร่วมลงทุนฯ ส่วนรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 เดิมตั้งวงเงินไว้ที่ 4,000 ล้านบาท จะต้องเสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท 

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากสรุปให้รฟท.รับก่อสร้างเอง และนำเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนเรียบร้อย มีความพร้อมที่จะเปิดประกวดราคาได้เลย เนื่องจากมีการออกแบบก่อสร้างมาตรฐานจีน รองรับความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. เหลือส่วนสถานีดอนเมืองที่สามารถใช้วิธีสร้างออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design&Built) ได้ แต่หากจะใช้แบบไฮสปีด 3 สนามบินมาตรฐานยุโรป ความเร็ว 160 กม./ชม.จะต้องออกแบบใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ในขณะที่ค่าก่อสร้างความเร็ว 250 กม./ชม. จะสูงกว่าความเร็ว 160 กม./ชม. ราว 10-15% ซึ่งไม่มากเท่าไร หากเปรียบเทียบกับที่ไม่ทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไป

ส่วนรายงาน HIA มรดกโลกสถานีอยุธยานั้นอยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเดิมมีพลเอก  ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ จึงต้องรอตั้งประธานคนใหม่ก่อน จากนั้นจึงจะส่งไปที่ยูเนสโก ปารีส ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น