xs
xsm
sm
md
lg

"คมนาคม" ถก "ชัชชาติ" วางมาตรการลด PM 2.5 คุมเข้มรถขนส่ง-ไซต์ก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"คมนาคม" หารือร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. กำหนดนโยบายคุมเข้มมาตรการ PM 2.5 เพื่อป้องกันและลดปัญหามลพิษจากภาคคมนาคมขนส่ง สั่งทุกหน่วยเข้มงานก่อสร้าง ขนส่งเพิ่มใช้รถ EV ตรวจค่าฝุ่น รายงานทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในการให้ความสำคัญเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม โดยในที่ประชุมนำเสนอภาพรวมมาตรการในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ผ่านมา เช่น การตรวจและห้ามใช้รถยนต์ควันดำโดยกรมการขนส่งทางบก การควบคุมการก่อสร้างโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การตววจวัดควันดำของรถโดยสารสาธารณะโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น พร้อมทั้งแนวทางมาตรการที่ปฏิบัติในอนาคต และการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร กับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่ากรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

อีกทั้งแหล่งกำเนิดส่วนใหญ่มาจากภาคคมนาคมขนส่ง และเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้กระทรวงคมนาคมผลักดัน เช่น การส่งเสริมการให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การควบคุมรถเข้าออกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งเสริมให้ประชาชนบำรุงรักษารถโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและกรองอากาศ และการเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะ (ขสมก.) เป็นรถ EV เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครพร้อมบูรณาการ และติดตามผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนมาตรการตามที่ประชุมได้ร่วมหารือ โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และรายงานในทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือนมายังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น