xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.-บ้านปู พร้อมรุกตลาดแบตเตอรี่เต็มสูบ จับมือบิ๊กเพลเยอร์ตั้ง รง.ในไทยป้อนอีวี-BESS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระแสความนิยมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในไทยและภูมิภาคนี้ รวมกับนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ เสมือนเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่บรรดาค่ายรถอีวีจากจีนได้ปักหมุดลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในไทย

ทำให้หนึ่งในซัปพลายเชนที่สำคัญของการผลิตรถอีวีอย่างแบตเตอรี่ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน เห็นได้จากบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ (บิ๊กเพลเยอร์) ของโลกหลายรายจับมือร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนไทย เพื่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ขึ้นในประเทศไทย

เสือปืนไวไม่ใช่ใครอื่น คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทยที่วางวิสัยทัศน์ก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานตามเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด โดยได้จัดตั้งบริษัท อรุณพลัส จำกัด บริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปั้นให้เป็นผู้นำด้านระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่ ผลิตรถอีวี ไปจนถึงสถานีชาร์จอีวี

โดยช่วงกลางปี 2566 อรุณพลัส จับมือกับผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกอย่าง Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack (CTP) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี โดยโรงงานดังกล่าวผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูงที่นำเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบกันเป็นแพกโดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูล ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพความจุพลังงานสูงขึ้น น้ำหนักเบา และมีความปลอดภัย กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท เดินสายการผลิตแบตเตอรี่ภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี

อรุณพลัสยังได้ร่วมมือกับ CATL เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ของ CATL มาใช้ในประเทศ เช่น เทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Battery Recycling) เทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ CATL (CATL Integrated Intelligent Chassis : CIIC)ในอนาคต

เป็นก้าวแรกในการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบครบวงจรในอาเซียน เนื่องจาก CATL เป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Battery Value chain) ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่


นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) เปิดเผยว่า แนวโน้มการใช้รถอีวีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2569 การใช้รถอีวีทั่วโลกเพิ่มขึ้นใกล้ 30 ล้านคัน ขณะที่ไทยเองก็มียอดจดทะเบียนรถอีวีในปีนี้อยู่ที่ 7 หมื่นคัน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน ทำให้แบตเตอรี่มีความสำคัญ ช่วยลดข้อจำกัดการใช้พลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงแดดหรือพลังงานลมที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้แบตเตอรี่มากักเก็บพลังงาน (BESS) ช่วยลดโหลดสำรองไฟฟ้าและยังเป็นซัปพลายเชนที่สำคัญที่สำคัญในการผลิตรถอีวีด้วย

ดังนั้นจึงได้ตั้งบริษัท นูออโว พลัส (อรุณพลัสถือหุ้น 51% กับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC 49%) มีทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับแบตเตอรี่แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต ออกแบบระบบ ให้บริการด้านเทคนิคและ Energy Solution แก่ลูกค้า รวมไปถึงงานวิจัยทั้งในด้านกระบวนการผลิต นวัตกรรมแบตเตอรี่และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ครอบคลุมทุกกลุ่มหลัก(Segment) ของตลาดแบตเตอรี่ ได้แก่ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) สำหรับกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม (Commercial and Industry: C& I) และกลุ่มบ้านเรือน (Residential Energy Storage System: RESS) เป็นต้น

นูออโว พลัส จับมือกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. ในนาม “เอ็นวี โกชั่น” (NV Gotion) ตั้งโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อผลิตแบตเตอรี่และให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร โดยผลิตชุดแบตเตอรี่แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) ที่มีความปลอดภัยและคุณภาพสูงรองรับตลาดยานยนต์และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ คาดว่าจะเริ่มผลิตแบตเตอรี่ภายในปลายปี 2566 ด้วยกำลังผลิตเบื้องต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้า 20,000-25,000 คัน


ขณะนี้บริษัทได้เจรจากับค่ายรถอีวีหลายรายเพื่อป้อนแบตเตอรี่ดังกล่าว โดยได้รับคำสั่งซื้อจากค่ายรถอีวีสัญชาติจีนแบรนด์ NETA แล้ว ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการเจรจาหาลูกค้าเพิ่มเติมด้วย เมื่อได้คำสั่งซื้อมากเพียงพอก็จะทยอยขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2-4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีภายในปี 2567-68 ขึ้นกับความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ บริษัท เอ็นวี โกชั่น เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท นูออโว พลัส จำกัด ถือหุ้น 51%กับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (Gotion) บริษัทในกลุ่มของ Gotion High-tech Co., Ltd. (Top-Tier Battery Player ของโลกที่มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่า 14 แห่งทั่วโลก โดยป้อนแบตเตอรี่ให้กับค่ายรถโฟล์คสวาเกนที่จีนด้วย) ถือหุ้น 49% ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท นับเป็นโรงงานแบตเตอรี่ระดับกิกะวัตต์ (Giga Battery Factory) โดยจะนำเข้าวัตถุดิบเซลล์แบตเตอรี่จากจีนมาประกอบเป็นโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า

การที่กลุ่ม ปตท.มีการจับมือกับยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตแบตเตอรี่หลายรายนั้น ตอบสนองค่ายรถอีวีทั้งหลายที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยสามารถเลือกใช้แบตเตอรี่ได้ตามสเปกที่ต้องการ และหากมีปริมาณความต้องการแบตเตอรี่ที่มากพอระดับ 10 กิกะวัตต์ชั่วโมง ก็มองโอกาสการลงทุนต่อยอดไปสู่การผลิตขั้นต้นอย่างเซลล์แบตเตอรี่ แทนการนำเข้าเพื่อมาประกอบในไทย ซึ่งการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ไทยต้องนำเข้าแร่ที่หายากไม่ว่าจะเป็นแร่ลิเทียม นิกเกิล ฯลฯ ซึ่งในอนาคตก็อาจเป็นธุรกิจใหม่ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าขณะนี้โรงงานที่จีนโอเวอร์ซัปพลาย ทำให้จีนต้องหันไปลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในต่างประเทศรวมทั้งไทยเพื่อขยายตลาด ทำให้ธุรกิจแบตเตอรี่มีแนวโน้มต้นทุนต่ำลง ทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ อรุณพลัส ได้ปูทางความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการขยายระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับ Honhai Precision Industry Co., Ltd หรือ FOXCONN ตั้งบริษัทร่วมทุน ”ฮอริษอน พลัส”(Horizon Plus) เพื่อผลิตรถอีวี รองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2567 จะเริ่มเดินสายการผลิตเฟสแรกที่ 50,000 คัน และขยับเพิ่มเป็น 150,000 คันในปี 2573 ซึ่งขณะนี้บริษัทได้มีการเจรจากับค่ายรถอีวีหลายรายที่ต้องการเข้ามาทำตลาดในไทยเพื่อรับจ้างผลิตรถอีวีให้

อรุณพลัส ยังได้ร่วมทุนกับบริษัท Kwang Yang Motor Co., Ltd. (KYMCO)และบริษัท KYMCO CAPITAL PRIVATE EQUITY MANAGEMENT Co.,Ltd.(KC) จัดตั้งบริษัท เอไอออเนกซ์ จำกัด (Aionex) ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 600 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่าย และผลิตรถไฟฟ้า 2 ล้อรวมถึงให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า 2 ล้อ โดยวางเป้าหมายเป็นผู้นำธุรกิจรถไฟฟ้า 2 ล้อในไทยและอาเซียน

โดยอรุณพลัส KYMCO และ KC ถือหุ้นในสัดส่วนการถือหุ้น 51% 29% และ 20% ตามลำดับ ซึ่ง KYMCO มีประสบการณ์การจัดจำหน่ายและผลิตรถไฟฟ้า 2 ล้อ ด้วยยอดขายรถไฟฟ้า 2 ล้อเป็นอันดับ 1 ในไต้หวัน และอันดับ 3 ในยุโรป

การมีโรงงานผลิตรถอีวีอย่างฮอริษอน พลัส นับเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญให้กับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ CTP และเอ็นวี โกชั่นอีกทางหนึ่งด้วย เช่นเดียวกับการรุกตลาดรถไฟฟ้า 2 ล้อ


สำหรับโรงงานนำร่องผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน ภายใต้แบรนด์ G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid ของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากสหรัฐอเมริกา ด้วยกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ต่อปี ในที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง นับเป็นโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบแห่งแรกของกลุ่มปตท.ที่ผลิตเซลล์แบตเตอรี่แล้วนำมาประกอบเป็นแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี 24M ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัย มีอายุการใช้งานที่ยาวนานและรีไซเคิลได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเหมาะสำหรับใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการเข้าลงทุนใน 24M เพื่อต้องการผลิตแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บไฟฟ้าเมื่อครั้งที่ GPSC เป็นผู้ลงทุน ก่อนจะโอนทรัพย์สินมาเป็นนูออโว พลัส แม้ว่าปัจจุบันโรงงานนำร่องนี้จะยังไม่สามารถขยายกำลังผลิตให้เป็นระดับกิกะวัตต์ชั่วโมง แต่ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคต

เนื่องจากโรงงานต้นแบบแห่งนี้ ทาง 24M ใช้ในศูนย์ทดลองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะขยายสเกลสู่ระดับกิกะวัตต์ในต่างประเทศที่ได้รับไลเซนส์จาก 24M เพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ทั้งที่จีน นอร์เวย์ ญี่ปุ่นและอินเดีย เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในน้้นทางบริษัทได้เข้าถือหุ้น 11.1% ในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีนซึ่งตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี SemiSolidของ 24M ด้วยกำลังผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงเพื่อป้อนให้ค่ายรถ Chery ของจีน คาดว่าโรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในกลางปี 2567 แม้ว่าจะล่าช้ากว่ากำหนดเดิมจากหลายเรื่องในช่วงโควิด-19 ก็ตาม แต่หากโรงงานดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดี ปตท.ก็อาจใช้โมเดลนี้มาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในไทยได้


อีกกลุ่มบริษัทที่ไม่อาจมองข้าม คือ กลุ่มบ้านปู (BANPU) ที่แตกไลน์ธุรกิจจากธุรกิจเหมืองถ่านหินและไฟฟ้า ก่อนปรับกระบวนการเปลี่ยนผ่าน(Transition)ทั้งองค์กรในทุกประเทศที่บ้านปูมีฐานธุรกิจอยู่ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญการขยายพอร์ตฟอลิโอพลังงานสะอาด

บ้านปูได้จัดตั้งบริษัท “บ้านปู เน็กซ์” ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.บ้านปู (BANPU) 50% และ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) 50% เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net-Zero Energy Provider ให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันบ้านปู เน็กซ์ (Banpu Next) ดำเนินธุรกิจ 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจซื้อขาย ธุรกิจอี-โมบิลิตี และธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน

ทั้งนี้ บ้านปู เน็กซ์ และดูราเพาเวอร์ จับมือในการขยายธุรกิจแบตเตอรี่ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น นำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของดูราเพาเวอร์ไปใช้กับโซลูชัน และบริการด้านพลังงานของบ้านปู เน็กซ์ ไม่ว่าจะเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมีในบริการไรด์ แชร์ริ่ง (Ride Sharing) รถยนต์ไฟฟ้าในบริการเช่ายานยนต์ไฟฟ้า (Mobility Sharing) และเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเล (e-Ferry) รวมไปถึงตลาดระบบกักเก็บพลังงาน ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศจีนและตั้งโรงงานประกอบแบตฯ ในประเทศไทย
รวมถึงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บ้านปู เน็กซ์ ได้ทุ่มเงินราว70ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในดูราเพาเวอร์จาก 47.68% เป็น 65.10% รองรับการเติบโตและสร้างศักยภาพทางการตลาดในธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน และแบตเตอรี่รถอีวี เนื่องจากดูราเพาเวอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ และระบบไฟฟ้าสำรองแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในเมืองซูโจว ประเทศจีน


ล่าสุด บ้านปู เน็กซ์ ยังได้ลงนามในสัญญาเข้าซื้อหุ้น 40 %ในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด หรือ SVOLT Thailand มูลค่าการลงทุน 750 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นเดิมคือ SVOLT Energy Technology (Hongkong) ซึ่งจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ 60 % โดย SVOLT เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สัญญาติจีนรายใหญ่อันดับ 8 ของโลก

ทั้งนี้ SVOLT Thailand ได้ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Module Pack Factory) ที่อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดกําลังการผลิตเริ่มต้นที่ 60,000 ชุดต่อปี หรือราว 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี คาดส่งมอบแบตเตอรี่ให้ลูกค้าในช่วงไตรมาส 1/2567 โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นค่ายรถจีนอย่างบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) และ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด หรือ Hozon Auto หรือเจ้าของแบรนด์ NETA ซึ่งในอนาคต SVOLT Thailand ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่มากกว่า 100,000 ชุดต่อปี รองรับการขยายตลาดไปสู่ตลาดภูมิภาคอาเซียน

ส่วนโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในไทยที่บ้านปู เน็กซ์ร่วมทุนกับดูราเพาเวอร์ ตั้งโรงงานที่นิคมฯอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี วงเงินลงทุนรวม 1,400 ล้านบาท โดยบ้านปู เน็กซ์ ถือหุ้นใหญ่ 70% คาดว่าโรงงานแบตเตอรี่ดังกล่าวจะเริ่มไลน์การผลิตได้ในปี 2567 เน้นกลุ่มลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อการพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นรถบัสไฟฟ้า (e-Bus) รถบรรทุกไฟฟ้า รวมถึงเรือท่องเที่ยวโดยสารไฟฟ้าในประเทศไทย และมองหาโอกาสที่จะขยายตลาดไปไปประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยวางเป้าหมายกำลังผลิตแบตเตอรี่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีภายในปี 2570 โดยมีกลุ่มเชิดชัยฯ เป็นลูกค้าสำคัญเนื่องจากมีความต้องการนำแบตเตอรี่ไปประกอบe-Busของกลุ่มเชิดชัยฯ และลูกค้ารายอื่นๆ

ความคืบหน้าโครงการร่วมทุนระหว่างบ้านปู เน็กซ์ ดูราเพาเวอร์และเชิดชัย มอเตอร์เซลล์ เพื่อตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่จังหวัดนครราชสีมานั้น ขณะนี้ทางเชิดชัยฯ อยู่ในช่วงพัฒนาและปรับปรุงโรงงานเพื่อเตรียมผลิตรถบัสไฟฟ้า เบื้องต้นทางบ้านปู เน็กซ์จะป้อนแบตเตอรี่สำหรับรถบัสไฟฟ้าให้เชิดชัยฯ และกลุ่มลูกค้าของเชิดชัยก่อน ขณะเดียวกันก็มีโปรเจ็กต์ร่วมกันในการออกแบบระบบการชาร์จเพื่อรองรับการเดินรถบัสไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย

เมื่อทั่วโลกร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหวังควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ทำให้มีการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่เพื่อให้มีความจุสูง ขนาดเล็ก คุณภาพดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่ถูกลงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บไฟฟ้าที่นับวันจะเติบโตขึ้น ซึ่งไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ทำให้บิ๊ก เพลเยอร์แบตเตอรี่ระดับโลกจับมือกับบริษัทไทยปูฐานก่อนขยับก้าวสู่การลงทุนระดับเซลล์แบตเตอรี่ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น