xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” มอบนโยบาย ทช. เสนอของบปี 67 กว่า 9 หมื่นล้าน ผุด 14 โปรเจกต์ใหญ่เชื่อมโครงข่ายถนนสายรองกับสายหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุริยะ” มอบนโยบาย ทช.ครบรอบ 21 ปีมุ่งพัฒนาถนนสายรองเชื่อมโยงสายหลัก เดินทาง-ขนส่งสินค้าสะดวก กางงบปี 67 เสนอกว่า 9 หมื่นล้านบาท สั่งเร่งรัดเบิกจ่าย ผุดโปรเจกต์ใหญ่ 14 โครงการ และ 3,000 โครงการเล็กต้องมีประสิทธิภาพ

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงชนบท (ทช.) ครบรอบ 21 ปี และมอบนโยบายในการดำเนินงานแก่ ทช.ว่า ทช.เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเส้นทาง นำความเจริญสู่ท้องถิ่น พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางทั่วทั้งประเทศให้เชื่อมถึงกัน โดยให้เน้น การดำเนินงาน ในด้านการพัฒนาถนนสายรอง เชื่อมโยงจากถนนสายหลักของกรมทางหลวง เพื่อเข้าสู่พื้นที่การเกษตร เพื่อนำพืชผลการเกษตรของพี่น้องประชาชนไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสะดวก รวมถึงพัฒนาถนนสายรอง เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ และเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้งนี้ ในการพัฒนาจะต้องคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัย ให้เกิดแก่ผู้ใช้เส้นทางของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ


นอกจากนี้ ให้เน้นมาตรฐานการออกแบบ และมาตรฐานการก่อสร้าง ต้องมีการกำกับควบคุมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของ ทช.ที่จะต้องพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยด้านการจราจร การทาสีตีเส้น ป้ายสะท้อนแสงต่างๆ ต้องดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ดี ทำให้พี่น้องประชาชนเดินทางได้อย่างมั่นใจทั้งในกลางวันและกลางคืน ทั้งในสภาพอากาศที่ดีและในเวลาทัศนวิสัยไม่ดีมีฝนตกหนัก

ทั้งนี้ ได้กำชับนโยบายเร่งด่วน เรื่องสถานการณ์น้ำท่วมถนน โดยให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมบูรณะหากมีความจำเป็นเร่งด่วน งบประมาณไม่เพียงพอ ตนพร้อมนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดสรรงบกลางให้ดำเนินการ


สำหรับปีงบประมาณ 2567 ทช.เสนอขอวงเงิน 9.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รับจัดสรรประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่จำนวน 14 โครงการ และโครงการขนาดเล็กกว่า 3,000 โครงการ โดยเป็นการก่อสร้าง บำรุงรักษาอำนวยความปลอดภัยของถนนและสะพานทั่วประเทศ รองรับการเดินทางของประชาชนและสนับสนุนการขนส่งสินค้า


สำหรับโครงการที่นำเสนอของบดำเนินการในปี 2567 ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 2) ระยะทาง 43.485 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบแม่น้ำโขงตลอดสายทาง ผ่านจุดท่องเที่ยวสำคัญเริ่มต้นที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร, สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2, หาดมโนภิรมย์, วัดสองคอน, แก่งกะเบา/และจุดสิ้นสุดที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม ซึ่งโครงการจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเลียบแม่น้ำโขง และช่วยกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่

2. โครงการก่อสร้างถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ระยะทาง 3.510 กิโลเมตรเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองกำแพงเพชร โดยโครงการจะเชื่อมต่อ ทล.1 กับ ทล.112 (ทางเลี่ยงเมือง) ซึ่งสภาพปัจจุบันมีการจราจรที่หนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าของรถบรรทุกถ้าหากโครงการเกิดขึ้นจะช่วยให้การเดินทางจากภาคกลางไปสู่ภาคเหนือมีความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย

3. โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.11 -ทล.1 อ.เมือง จ.ลำปาง (ตอนที่ 1) ระยะทาง 5.400 กิโลเมตร เพื่อให้รถบรรทุกขนส่งสินค้าไม่ต้องเดินทางผ่านตัวเมืองลำปาง ช่วยลดปัญหาจราจร มลพิษทางอากาศ และลดการเกิดอุบัติเหตุ ส่งเสริมการเชื่อมโยงของโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง Logistic ให้สมบูรณ์


อย่างไรก็ตาม ตนได้เน้นเรื่องการบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณ การบริหารสัญญาของโครงการต่างๆ ให้วางแผนล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เป็นไปตามแผนในขั้นปฏิบัติ โดยเฉพาะโครงการในงบประมาณปี 2567 ซึ่งมีระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง

ปัจจุบัน ทช.มีโครงข่ายในความรับผิดชอบทั่วประเทศ จำนวน 3,450 สายทาง ระยะทางรวม 49,653.785 กิโลเมตร สำหรับปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ทช.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 47,108.9146 ล้านบาท สิ้นปีงบประมาณเบิกจ่ายไปแล้ว จำนวน 42,606.6463 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.44 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 66)


กำลังโหลดความคิดเห็น