“อาหารที่มะขายก็ตามที่เห็นเลยมีข้าวผัด ไก่ทอดกระเทียมเป็นเมนูหลักเลย กะเพราไก่แล้วก็มีผัดเผ็ดเป็ดย่าง ส่วนก๋วยเตี๋ยวก็จะมีเนื้อ, ไก่, เป็ด ผัดไทย ผัดซีอิ๊ว แต่ว่าเมนูเด่นที่สุดของในร้านก็คือ มะตะบะขายแผ่น 10บาท ทุกอย่างในร้านก็ยัง 10บาทเหมือนเดิม”
มะฟะ หรือ คุณสุทธิวา วงศ์นุ้ยในวัย66 ปี เป็นเจ้าของร้าน “สู้แค่หมด” ขายอาหารราคา 10 บาททุกเมนูในย่านหนองจอก กรุงเทพฯ มานานกว่า26 ปีแล้ว เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้ “มะ” จะทำอาชีพขายเครื่องไฟฟ้าเครื่องเรือน แล้วก็ช่วงนั้นก็คือเครื่องไฟฟ้าเครื่องเรือนกลายเป็นของที่ไม่จำเป็น เพราะทุกคนก็จะหยุดการซื้อไปบ้างกอปรกับเป็นการขายระบบเงินสด-เงินผ่อนด้วย มันก็ทำให้ธุรกิจที่ทำอยู่เริ่มสะดุดและตอนนั้นเองก็เพิ่งจะซื้อที่ดินเพื่อว่าจะเก็บเอาไว้ ซึ่งก็อยู่ในละแวกนี้เหมือนกัน ทีนี้ที่ดินที่ซื้อเอาไว้ราคาประมาณ4 ล้านบาท ก็คิดว่ารายได้ดี ๆ ประมาณสัก3-4 ก็คงจะผ่อนได้หมด แต่พอตัดสินใจซื้อไปได้สัก3 เดือนก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี2540 เกิดขึ้น! อย่างไม่ทันได้ตั้งเนื้อตั้งตัวเลย ตอนนั้นก็คืออาชีพก็คือเป็นศูนย์(0) เลย ไม่มีรายได้เลย ในขณะที่ดอกเบี้ยตอนนั้นก็ประมาณเดือนละ 4 หมื่นบาท
ค้นพบอาชีพใหม่ พระเจ้าให้มา
“คิดไม่ถูกเลยค่ะว่าจะทำอะไรกับชีวิตดี ก็อยู่แบบไปประมาณปีหนึ่งที่ว่าตั้งสติก่อนมั้งคะ คิดว่าเราจะทำยังไงดีกับชีวิตเรานะ ก็พอดี “พระเจ้า” ให้ก็ไปบ้านหลานน่ะ มีหลานเขาทำงานอยู่โรงงานขายไก่โรงงานหนึ่งคือเป็นโรงงานใหญ่โตนะคะ เขาก็ผัดกะเพราเครื่องในไก่มาเลี้ยง 1 ชาม พอทานไปแล้วตัวเองมีความรู้สึกว่าไม่ได้ตั้งใจคำตอบหรอก ถามว่าเออผัดกะเพราก็อร่อยดีนะเอามาเลี้ยงน้าเนี่ย อร่อยดีจังเลย แล้วซื้อเครื่องในไก่ที่ไหนมาอะไรเงี้ย เขาก็บอกอ๋อไปซื้อมาจากโรงงานค่ะน้า น้าจะเอาเหรอถ้าซื้อประมาณ40 โลเนี่ยเขาคิดแค่โลละ8 บาท ช้อนแทบร่วงน่ะ! ที่กำลังทานอาหารอยู่เพราะตอนนั้นในตลาดที่เขาขายกัน ราคามันตั้ง 38 หรือ 35 นะขั้นต่ำ อันนี้ 8 บาท! แล้วเป็นเครื่องในยังไงเขาก็บอกว่า เป็นเครื่องในที่เขามาเป็นพวง ๆ ก็เลยบอกงั้นเอามาให้น้าสัก40 กิโลฯ พอขึ้นรถก็บอกกับลุง(สามี) ที่ไปด้วยกันก็บอกว่าเธอเชื่อมั้ยว่า ถ้าพระเจ้าให้กับเราเนี่ย กะเพราไก่ชามนี้น่าจะใช้หนี้4 ล้านหมด!”
ประเดิมอาชีพแม่ค้า ขายเครื่องในไก่
มะบอกว่าเครื่องในไก่ที่สั่งซื้อมา ใน 1 กิโลฯ จะทิ้งส่วนที่เสียไปประมาณ 2 ขีด ก็เหลือให้เราอยู่ 8 ขีด ก็ยังเยอะอยู่“ก็รับเครื่องในไก่มาวิ่งขาย ตามซอยโน้นซอยนี้ ตามบ้านเพื่อน ๆ ซึ่งทุกคนก็ตื่นเต้นว่า เฮ้ย!จากอาชีพที่เป็นเถ้าแก่นะเขาตกใจว่ามาวิ่งขายเปลี่ยนแบบอย่างนี้ เขาก็ซื้อแบบงงๆ แล้วก็ขายแต่แบบพี่น้องขายกับญาติกับเพื่อนฝูงที่รู้จัก ทีนี้มีอยู่วันหนึ่งเขาก็แซวกันน่ะเขาก็แซวว่าเขาบอกว่า พวกเขาน่ะกินไก่เราเนี่ยจนจะขันได้กันแล้ว (หัวเราะ) เขาตลกมากแต่เราเนี่ยไม่ตลกแล้ว แต่ว่าไม่ตลกแล้วมีความรู้สึกว่าเขาต้องซื้อเพราะเกรงใจเราอะไรเงี้ยนะ ก็เลยตัดสินใจไปขายตลาดนัด”
สู่การส่งไก่ให้โรงเรียน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
พอไปขายตลาดนัด มันก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร แต่ก็ต้องขายเพราะว่าตอนนั้นมันไม่มีอะไรทำเลย คนก็ดำ ไก่ก็เขียว อยู่ข้างตลาดนัดลมก็แรง แดดก็ร้อน“โอ้โหสารพัดเลยนะชีวิตลาดนัดนี่ก็ต้องบอกเลยนะ เป็นชีวิตนักสู้นะ ต้องบอกว่าเป็นอาชีพที่นักสู้เลยนะ สำหรับมะให้เป็นการค้าขายที่ทรหดที่สุด”เป็นบททดสอบเลยแต่ว่าก็ต้องทำ พอทำก็พอดีมีคนที่เราเคารพ(เรารู้จัก) เขามาเห็นภาพแล้วก็สงสาร ก็เลยชวนว่าไปขายไก่โครงการอาหารกลางวันของนักเรียนดีมั้ย เพราะว่าเป็นครูอยู่เขารับราชการอยู่ก็ชวน ชวนก็เลยลอง “งั้นเอาโรงเรียนพี่เนี่ยแหละโรงเรียนแรกเลยนำร่อง ก็ส่งไก่ให้โรงเรียน แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นแนะนำมาในเขตมีนบุรี และก็หนองจอก”แต่ว่าไก่ของมะก็คือของมะทำสะอาด ตรงที่ว่าถ้าเป็น “ไก่บด” ก็จะบดเลยบางร้านจะไม่ได้ล้างก่อน แต่ของมะก็คือมาล้างให้สะอาดแล้วก็เขาเรียกว่า ถ้าภาษาอิสลามเขาจะเรียก “น้ำเดิน” ก็คือการเปิดน้ำให้มันไหลผ่าน ก็คือเปิดให้น้ำไหลผ่านอันนี้เป็นขั้นตอนของ หลักการของอิสลามที่ว่าอาหารทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นผักหรือเนื้อหรือทุกอย่าง จะต้องให้น้ำไหลผ่านหมด ก็เสร็จแล้วทุกคนมาเห็นก็คือ สะอาด แล้วก็จะมีการแพ็กบรรจุลงในถุงให้เสร็จ แล้วใส่ตู้แช่ไว้ คือแม่ครัวพอไปถึงแล้วสามารถกรีดถุงออกพร้อมนำไปปรุงอาหารได้เลย “ก็จะได้ลูกค้าเยอะลูกค้าจำนวนมาก จากหลักที่ขาย 100 โล 50-100 โล ก็กลายเป็น 800-1,000 โล/วัน ทีนี้ถ้าหากว่าต่อวันเนี่ย เราไม่ต้องไปบวกกำไรเขาเยอะ ถ้าหากวันนึงได้ 1,000 โลเนี่ย เราบวกแค่กำไร 5 บาท/กิโลฯ วันนึงก็ได้ 5,000 บาทแล้วนะ แค่ 5 บาทเนี่ยก็ถือว่ายังไงล่ะ กำไรสูงแล้ว เพราะว่าจำนวนเราได้แล้วใช่มั้ย ถ้า 1,000 โลเนี่ยกิโลละ 5 บาท เราก็จะได้ 5,000 บาท”
สู้แค่หมด ขายอาหารเมนูละ10 บาท
แต่ว่าถามว่าชีวิตทำตรงนั้นก็ไม่ได้มีความสุขนะ เพราะว่าเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้ว่าง ก็จะพยายามวิ่งขายไก่ตามคลองตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ขาดรายได้เลยสักวันเดียว “ตามหมู่บ้านตามคลองเขาก็จะนั่งคอยว่า เดี๋ยวคอยนะจะมีแขกกะเหรี่ยง เขาเรียกมะแขกกะเหรี่ยงกับลุงนะ(หัวเราะ) เขาบอกว่าเดี๋ยวเขาจะมีไก่ถูก ๆ มาขาย เพราะว่ามันจะผ่านขั้นตอนเยอะรับจากโรงงานตรงสู่มือผู้บริโภคเลย เขาก็จะได้ราคาต่ำ” แต่ก็ตั้งปฏิภาณไว้นะว่า ถ้าใช้หนี้หมดก็เลิก เป็นอาชีพที่ไม่สนุกหรอก เพราะว่าต้องไปนั่งรอไก่ที่โรงงานตั้งแต่ตี2 ถึงจะได้ไก่ครบ พอได้ไก่ครบมาถึงบ้านก็ต้องมาฟันมาสับมาล้างไก่ทำให้สะอาดเตรียมไว้ แล้วพอสว่างก็ต้องรีบเอาไก่นั้นไปส่งให้กับลูกค้าต่ออีก “พอเห็นแดดเนี่ยตามะจะหลับ(หัวเราะ) เพราะว่าเราไม่ได้นอนทั้งคืนเลย แต่ตอนนั้นอายุก็อยู่ในเกณฑ์ประมาณ40 อายุประมาณ40 ก็ยังแข็งแรงอยู่ แต่ปัจจุบันนี้มัน66 แล้วนะมันไปลุยอย่างนั้นก็คงไม่ไหวแล้ว”
ทีนี้พอเราได้ไก่จากตรงนั้น เริ่มขายโครงการอาหารกลางวันด้วยใช่มั้ย ทีนี้ไก่ที่ได้มามันราคาถูก ก็เมื่อก่อนหน้าบ้านมะเนี่ยจะมีรั้วและก็ใครจะมาหามะต้องไปเปิดประตูให้ ก็จะทำกริ่ง“ตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่แบบนั้นน่ะ มะยังไม่พบสัจธรรมคือมีความรู้สึกว่าลูกเราเนี่ยจะต้องไปอีกสังคมหนึ่งเรียนยังไงล่ะเดี๋ยวถ้าเราสังคมกับชาวบ้านแถวนี้ เดี๋ยวลูกเราพูดจาไม่เพราะเราจะต้องอยู่ในกรอบการเลี้ยงดูอีกแบบหนึ่ง แต่ว่ามันไม่ใช่เลยที่มะพูดเนี่ยผิดหมดเลย เพราะมะไม่พบสัจธรรมมีเด็กที่ใส่เสื้อมั่งไม่ใส่เสื้อมั่งมาเกาะรั้ว แล้วตรงด้านหน้านั้นน่ะ เป็นสนามหญ้ามีเครื่องเล่นมากมายเลยตรงนั้นน่ะ ไม่ได้เป็นลักษณะร้านขายของเก่าอย่างนี้หรอก(หัวเราะ) มันจะเป็นปูสนามหญ้าถึงเวลาก็จะมีคนมาตัดหญ้ามาแต่งสวนอะไรเงี้ย เสร็จแล้วเด็กก็มาเกาะแล้วเด็กเล็ก ๆ สองคนก็วิ่งเล่นกันอยู่ที่ก็กว้าง เขาก็บอกว่าโต๊ะหรือว่ายายนะ ยายรู้จักเจ้าของบ้านมั้ยเนี่ยถ้ารู้จักแล้วก็ขอเขาได้มั้ย ขอให้ไปเล่นกับเขาบ้างเขาอยากจะปั่นเรืออยากจะมาเล่นสนามบ้าง แต่ตอนนั้นมะฟังแล้วเนี่ยมะก็ฟังเฉย เพราะมีความรู้สึกว่าถ้าเข้ามาเนี่ยมันก็จะเป็นวุ่นวายในบ้าน และก็จะมาเล่นแล้วก็มันจะเป็นอีกสังคมหนึ่งหรืออะไรเงี้ย มะก็ไม่ได้ แต่พอมาถึงวันที่มะประสบปัญหาที่ว่ายังไงเนี่ยของวันนี้ มะนึกถึงเด็กคนนั้นพวกกลุ่มนี้ มะก็เลยเปิดรั้วหมดเลยแล้วก็ให้เด็ก ๆ เนี่ยเข้ามาเล่น”ใครอยากจะเล่นอะไรวันแรกหลังคาเรือไปทางหนึ่งเลย เพราะว่าเด็ก ๆ เขาจะเล่นกันแบบเมามันมาก สนุกสนานเลย แล้วก็อาหารก็เลี้ยงฟรีที่เลี้ยงฟรีก็คือมี ไก่กระเทียม กะเพราไก่ เมนูพวกนี้ซึ่งไก่เราเองจะมีอยู่แล้ว ก็คือได้ทำบุญกับเด็ก ๆ ไปด้วยเลี้ยงฟรี ให้เล่นฟรี“มันเหมือนกับการไถ่บาปในใจ ว่าที่เราเคยไม่พบสัจธรรมนะ ที่เราเคยเห็นอะไรอย่างนั้นน่ะ อันนั้นน่ะผิดหมดเลย สิ่งที่ถูกต้องก็คือ คนทุกคนเนี่ยมีค่าเท่ากัน คนหิวเหมือนกัน ต้องการความสุขเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันเป็นโอกาสของคนแต่ละคนที่พระเจ้ากำหนดมาไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราเนี่ยอยู่ในจุดที่ว่าเราสามารถช่วยเหลือใครได้เนี่ย คิดว่าเราควรจะเป็นผู้ให้มากกว่า”ก็เลยเลี้ยงเด็กให้เด็กเล่น พอมาผู้ปกครองเขาก็บอกว่าอย่าให้กินฟรีเลย เพราะว่าจะได้มาสนุกด้วยกับเด็ก ๆ จะได้เข้ามาด้วย ไม่ใช่รับเฉพาะเด็กให้กินฟรีอย่างนั้นก็เลย เขาบอกว่าให้ขายอาหารก็แล้วกัน “ขายก็เลยมานั่งคิดว่า ถ้าเราจะขายอาหารเนี่ยหนึ่งเราไม่มีฝีมือ ฝีมือไม่มีจริง ๆ ทำกับข้าวไม่เป็น ก็ตอนที่ลุงเขาไปขอเนี่ยแม่ต้องออกมาบอกเลยนะ ว่าขอลูกสาวไปเนี่ยเรื่องกับข้าวอย่างหนึ่งนะทำไม่เป็น เพราะทอดไข่ดาวยังทอดไม่ได้เลย เขาพูดอย่างนี้นะเพราะตอนสมัยสาว ๆ ตอนยังไม่แต่งงานเนี่ยนะ เอ่อมะจะทำอาชีพในลักษณะอะไรล่ะ ค้าหวายเส้นจากระนอง ชุมพรมาส่งในกรุงเทพฯ และก็ขายเครื่องไฟฟ้าเครื่องเรือน ทำอาชีพอีกแบบหนึ่งไม่ใช่เป็นลักษณะแม่บ้านแม่เรือนอะไรประมาณนั้นนะ ก็บอกว่าเราทำอาหารไม่เป็นเราไม่กล้าขาย เขาบอกขายมาเถอะจะขายยังไงก็ได้ กับลุงก็เลยปรึกษากันว่าถ้าเราขายแพงเนี่ยเขาทานไปแล้วไม่อร่อยเนี่ย เขาก็ต้องว่าเรานะ แต่ถ้าเราขายถูกเนี่ยเขาทานไปแล้วไม่อร่อย เขาก็คงไม่เอาเรื่องเอาราวกับเรา เขาก็จะบอกว่าเออช่างมันเถอะ10 บาทใช่มั้ย ก็เลยตัดสินใจตั้งชื่อร้านว่า “10 บาท สู้แค่หมด” แต่สู้แค่หมดเนี่ยก็คือว่า ถ้าวันไหนที่เราหมดหนี้ หนี้ตรงนี้ ก็จะเลิกไม่ขายแล้ว”
หมดจริง ๆ หนี้4 ล้าน!!! ในที่สุดก็เคลียร์หมด
ลูกค้ากลุ่มแรก ๆ เลยที่แวะเข้ามาอุดหนุนร้าน มะฟะบอกว่าเป็นกลุ่มจักรยานที่รวมตัวกันปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ พอเข้ามามะยังทำอาหารไม่เสร็จก็จะบอก เธอวิ่งเข้าไปในสวนไปเก็บกะเพรามาก่อน เธอมาเด็ดกะเพราเลย บางที30-40 คันมาถึงก็มานั่งเด็ดกะเพรา มะเด็ดขนาดไหน บอกเธอจะกินขนาดไหนเธอเด็ดขนาดนั้นล่ะ เด็ดใบกะเพรา เสร็จแล้วก็ปรุงอาหารเขาก็จะคอย“แล้วก็ครั้งแรกคือมะทำไม่ทัน มะก็เลยออกแบบใหม่ว่า เอาอย่างงี้ดีกว่าเราไม่ทำดีกว่าเพราะถ้าเราทำไม่อร่อยเดี๋ยวเขาว่าเรา มะก็เตรียมอุปกรณ์เอาไว้นอกร้านเลยนะ ตั้งไว้นอกร้านเลย และก็เวลาลูกค้าเข้ามามะก็บอกเธอจะทำอะไรเธอผัดเองเลยนะ ผัดเองเลย ป้าเอาใส่ไก่เยอะบอกไม่เป็นไรใส่เท่าไหร่ 10 บาท คุณจะใส่เท่าไหร่ก็ผัดมาเลย คิด10 บาทแล้วมะก็นั่งสบายใจอยู่นอกร้าน พอใครเข้ามามะก็เชิญเลยค่ะ ผัดเองเลยเพราะว่าป้าทำไม่อร่อย เธอจะผัดยังไงเธอผัดเลยนะ ก็ลูกค้าเขาก็ทำแล้วก็ดูเขาก็แฮปปี้มีความสุข” แต่ทีนี้มีอยู่วันหนึ่งที่วิธีการขายแบบนี้ ต้องเลิกไป เพราะว่ามีสามีภรรยามาคู่หนึ่งพอมาถึงก็เลยบอกเชิญเลยค่ะ เดี๋ยวไปทำกับข้าวนะ เขาหันมาเขาบอกอะไรรู้มั้ย “อีนี้อยู่ที่บ้านก็เบื่อฝีมือมันจะแย่อยู่แล้ว(หัวเราะ) ยังจะให้ตามมากินที่นี่อีกเหรอ เออเขาพูดถูกก็เลยตัดสินใจทำเอง บอกว่าเดี๋ยวไปทำให้แต่เธอกินได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งนะ พอทำเสร็จแล้วก็เอาช้อนมาอ้าวชิม ๆ ใช่มั้ย ได้แล้ว ทีนี้อร่อยไม่อร่อยก็ขออย่าให้เป็นฝีมือแฟนเขาก็พอ(หัวเราะ)” ทำอาหารขายไปตามเรื่องตามราวของมะก็คือ10 บาท ทีนี้มีอยู่อีกวันหนึ่งลูกค้าแถวย่านรามคำแหงเขาก็มาร้าน เขาก็บอกว่าขอ “เนื้อผัดน้ำมันหอย” ชามหนึ่ง โอ้โหยากล่ะสิ เพราะเราทำแค่กะเพราไก่ ไก่ทอดกระเทียม เมนูแค่ ๆ นี้และก็มีเป็ดด้วยอีกอย่างหนึ่ง ก็เขาบอกว่าอยากทานมาก“เราก็บอกว่างั้นเดี๋ยว ๆ มาผัดให้ แล้วไอ้เนื้อผัดน้ำมันหอยเนี่ยมันใส่อะไรบ้างล่ะ(หัวเราะ)ไปถามเขา เขาก็บอกว่าเอาน้ำมันหอยกระทงกระเทียมตี ๆ ไปเถอะ แล้วก็ใส่ ๆ ไปเวลาผัดเดี๋ยวก็ใช้ได้ เอ้าเดี๋ยวฉันผัดให้เธอชิมนะ หลังจากนั้นเลยกลายเป็นสนิทกันน่ะ มาถึงเขาถามทำไม่เป็นจริง ๆ เหรอเดี๋ยวมาสอนให้”แล้วอาหารส่วนใหญ่ในร้านเนี่ย สูตรที่ในร้านส่วนใหญ่จะมาจากลูกค้าที่มาทาน
แล้วก็สิ่งที่เป็นจุดขายตอนนั้นอีกอย่าง ที่ว่าเด่นที่สุดในช่วงนั้นคือ ต้นมะพร้าว จะปลูกเต็มเลยทั้งสองฟากแล้วลูกค้าที่เข้ามาก็ให้สอยทานฟรี มีมีดมีไม้สอยให้ ก็ให้ลูกค้าได้ทานฟรีตอนช่วงนั้นก็สอยมาเป็นทะลายเลย มาสับ ๆ แล้วก็แบ่งกันสนุกสนาน แต่เน้นที่สุดก็คือ ราคาถูก“ตรงนี้มันเป็นอะไรที่ 10 บาท ขายได้ หลักสำคัญที่สุดคือ1. ไม่มีค่าแรง2. ไม่มีค่าเช่าที่ ที่เหลือเนี่ยก็ยังขายในราคาที่ไม่สูงได้ เพราะฉะนั้นถ้าที่บอกว่าทำไมเขาต้องขายสูง ทำไมเขาต้องขายแพง อันนั้นเนี่ยอย่าไปว่าคนที่ขายสูงเพราะถ้าเรามองให้ลึกจริง ๆ แล้วเนี่ย ผู้ประกอบการพวกนั้นเขามีต้นทุน ลองไปถามดูสิอย่างน้อยถามค่าเช่าร้านเธอเท่าไรไม่ไกลไปจากนี้เขาบอกเดือนละ2 หมื่น ต้นทุนเขาสูงนะถ้าหากเป็นเงินเหลือของมะ 2 หมื่นเนี่ย มะสามารถแจกได้อีกเยอะเลยน่ะ ใช่มั้ย? แล้วก็อย่างค่าแรงจ้างเขามาวันหนึ่งเท่าไร เขาบอกว่า300-500 อย่าง300 เดี๋ยวนี้ก็น้อยแล้วกลายเป็น400 แล้ว400 ถ้าหากว่าจ้างมาสัก4 คน ไป1,600 แล้วนะ แต่ตรง1,600 เนี่ยเราก็ไม่มี ถ้าจะไปโจมตีเขาขึ้นราคาหรือว่าธุรกิจที่เขาต้องมีต้นทุนเนี่ย อันนี้ต้องเข้าใจว่าคนละวิถีชีวิตคนละอย่างกัน เพราะฉะนั้นคนพุทธเขาถึงเรียกร้านนี้ว่า “ร้านโรงทาน”แต่คนอิสลามก็จะบอกว่า คือการมอบหมายทำเพื่อพระเจ้า”
ส่วน “มะตะบะ” ของที่ร้าน มะบอกว่าเป็นเมนูที่ตนเองมีความถนัดในการทำเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งถ้าใครมาที่ร้านแล้วไม่ได้ทานมะตะบะถือว่าคนนั้นพลาด“มะตะบะกล้วยก็ 10 ไส้ไก่ก็10 โรตีก็10 ทุกอย่างเหมือนเดิม ถ้าใครไม่ได้ทานเมนูตัวนี้ถือว่าพลาดนะ เพราะว่าเป็นเมนูที่ว่ามะทำในชีวิตน่ะเอาดีได้อย่างเดียว(หัวเราะ) ถ้าเรื่องอาหารเอาดีได้อย่างเดียวคือ มะตะบะ” ส่วนเครื่องดื่มมะก็จะขายแค่ “น้ำใบเตย” อย่างเดียวเลยตอนนี้ กลายเป็นน้ำที่ขายดีของที่นี่(เพราะมีแค่อย่างเดียว) แล้วน้ำใบเตยคือลุงทำอร่อยมากนะ ใครก็ต้มไม่อร่อยเท่าลุงเลย เพราะว่าทุกคนบอกว่าฝีมือต้มใบเตยลุงก็คงจะพอกับมะแหละ คือในชีวิตเอาดีน้ำต้มใบเตยอย่างเดียว(หัวเราะ) กับทอดไข่ดาว
ดูสิว่าชีวิตอะไรจะมีความสุขเท่ามะขนาดนี้ ที่พระเจ้าให้ อยู่ในบ้านตื่นขึ้นมาตอนเช้า มะก็มีหน้าที่เช็ดโต๊ะ ล้างห้องน้ำ และก็ไปตั้งร้านลั้ลลา “ขอบคุณพระเจ้าเลยที่ให้กับมะ เพราะถ้าหากว่าวันนั้นมะไม่จนน่ะ ถ้าวันนั้นขอบคุณในความจนของวันนั้น ถ้าวันนั้นเราไม่จนมาเนี่ยบอกเลยนะจะไม่รู้ถึงความสุขที่มันจริง ๆ มันคืออะไร มันไม่ใช่ว่าฉากที่เป็นหัวโขน ฉากที่เป็นเปลือกต้องใช้ของแบรนด์เนม ต้องทำอะไรที่มันดูหรูหราอะไรนั้นน่ะ อันนั้นน่ะมะบอกเลยว่าความทุกข์จริง ๆ แต่ถ้าตรงนี้เราคือความสุขจริง ๆ ที่ทำตัวไม่ต้องยึดติดกับอะไร อะไรก็ได้ยังไงก็ได้ สบาย ๆ มันก็ไม่ต้องไปคิดอะไรเยอะ” แล้วก็การเป็นผู้ให้ มันมีความสุขกับผู้รับนะ แล้วเชื่อเถอะยิ่งให้ คือเราเคยเห็นใครที่จนมาก ๆ แล้วเขามีสมบัติอะไรสักนิดหน่อยนะ เขาประกาศเลยว่าเอาไปเลยฉันไม่เสียดายแล้ว ใครอยากได้เอาไปเลยเพราะไหน ๆ ว่ามันจะจนกว่านี้ไม่มีแล้ว“คือคำพูดนี้มะพูดกับลุงบอกว่าลุง ลองแจกเลย เธอเชื่อฉันเถอะเธอลองแจกดูซิว่า มันจะจนไปกว่านี้ไหม(หัวเราะ) แจกเขาไปเลยมันจะจนกว่านี้ไหมนะ แต่มันไม่ใช่! พอแจกไปแล้วเนี่ยมันมีแต่สิ่งที่ดี ๆ เข้ามา พูดง่าย ๆ ภาษาอิสลามคือสิริมงคลเข้ามา ปรากฏว่าที่ดินที่มีปัญหาเนี่ย มะเอากลับมาได้หมดเลย ได้หมด แล้วยังมีโอกาสซื้อเพิ่มได้อีก มะยังนึกในใจอุ้ย! มันคืออะไรใช่มั้ย คืออะไรตรงจุด ๆ นี้ ก็คือ “พระเจ้า” ให้เห็นชัดเลย”
จากที่บากบั่นทำงานหาเงินเพื่อใช้หนี้กันอย่างไม่ย่อท้อ ขายไก่โดยส่งโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนด้วยและก็ตอนหลังยังเปิดร้าน “10 บาท สู้แค่หมด” มะฟะหรือ คุณสุทธิวา วงศ์นุ้ย บอกว่าภายในเวลา9 ปีก็สามารถเคลียร์หนี้4 ล้านได้จนหมดเกลี้ยง! แต่ทว่าการเสพติดความสุขที่ได้จากการเป็น “ผู้ให้” ได้นำพากัลยาณมิตรและสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตอย่างมากมายจนไม่สามารถที่จะเลิกทำร้านได้! ถึงตอนนี้ผ่านมากว่า 26 ปีแล้วสำหรับร้าน “สู้แค่หมด” สู้จนกระทั่งหนี้หมดจริง ๆ ด้วยพลังแห่งการให้ “ยิ่งให้ยิ่งได้” เป็นธุรกิจบุญจริง ๆ เพราะมะบอกว่ายังมีคนใจดีที่เข้าร่วมสมทุบบุญกับมะมาช่วยเหลือมาร่วมกันส่งต่อสิ่งดี ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้คนร่วมไปกับมะและลุงอย่างที่ไม่เคยคาดคิดหรือว่าขอรับการบริจาคใด ๆ แต่อย่างใดแต่พอทุกคนมาที่ร้านก็จะเข้าใจและก็จะร่วมด้วยช่วยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนฟังดูแล้วก็รู้สึกอิ่มเอมในในไปกับมะฟะด้วย
ขอบคุณเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดี ๆ จาก “มะฟะ-คุณสุทธิวา วงศ์นุ้ย” เจ้าของร้าน “สู้แค่หมด” ชุมชนคลองเก้า เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ร้านเปิดทุกวันอาทิตย์ - พฤหัสบดี(หยุดวันศุกร์) หรือสอบถามเพิ่มเติมโทร.02-988-6992
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *