xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพงษ์” ถกหน่วยงานคมนาคม "ระบบราง-ขนส่งทางบก" ชี้งบประมาณมีน้อย กำชับทำแผนใช้จ่ายให้ตรงตามนโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุรพงษ์” ประชุม 8 หน่วยงานคมนาคม “ระบบราง-ขนส่งทางบก” วางแนวทางการทำงาน กำชับเร่งปรับปรุงกรอบงบปี 67 ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ชี้งบมีน้อยต้องจัดสรรรายจ่ายให้ตรงประเด็นและความต้องการ

วันนี้ (19 ก.ย. 2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกประชุมหน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล จำนวน 8 แห่ง โดยมีผู้บริหารระดับสูงของทุกหน่วยงานเข้าร่วม ได้แก่ 1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 5. บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) 6. บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) 7. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 8. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า เป็นการทำความรู้จักกับผู้บริหารแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งได้รับทราบปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยได้ให้แนวทางการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสภา และขอให้ทุกหน่วยงานทำงานให้ทันตามห้วงเวลาที่รัฐบาลต้องการ

เนื่องจากเป็นรัฐบาลใหม่ อาจจะมีวิธีคิดใหม่ ซึ่งวันนี้หลังจากฟังการนำเสนอในภาพรวมของหน่วยงานแล้ว ได้ให้แต่ละหน่วยงานกลับไปปรับปรุงการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 และการจัดทำงบประมาณประจำปี 2568 ให้ตรงกับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสภา เป็นการหารือหลักการ ยังไม่ได้ลงรายละเอียด โดยหลังจากนี้จะไปตรวจเยี่ยมและให้นโยบายแต่ละหน่วยงานต่อไป

นายสุรพงษ์กล่าวว่า งบประมาณปี 2567 มีกรอบเวลาในการปรับปรุงน้อย เนื่องจากจะต้องประกาศใช้งบประมาณให้ได้ทันภายในเดือน เม.ย. 2567 หรือภายในไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หลักการและกรอบวงเงินจึงจะไม่ได้มีการปรับปรุงอะไรมากนัก เพราะแต่ละหน่วยงานจะต้องสรุปรายละเอียดภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2566 นี้แล้ว ส่วนงบประมาณปี 2568 นั้นให้จัดทำตามนโยบายรัฐบาลและกำชับเรื่องที่จะช่วยแก้ปัญหาอุปสรรค และข้อกฎหมายที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ที่ไม่ทันสมัย ให้ไปดูด้วย

“วันนี้เป็นการรับทราบภาพรวมปัญหาอุปสรรค ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด ส่วนงบประมาณปี 2567 นั้นผมไม่ได้สั่งการอะไร เพียงแต่ให้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล หากจะมีการปรับตรงไหนหรือไม่ หน่วยงานไปดูมา คงไม่ได้มีการปรับลดอะไร เพราะวงเงินงบประมาณจริงๆ ที่ได้ก็ไม่พออยู่แล้ว เพียงแต่ให้ไปดูการจัดทำเพื่อใช้จ่ายให้ตรงประเด็น ตรงกับนโยบายและความจำเป็นมากกว่า” นายสุรพงษ์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่กระทรวงคมนาคม ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อเดือน มี.ค. 2566 ในภาพรวม (9 ส่วนราชการ และ 5 รัฐวิสาหกิจ) รวมทั้งสิ้นวงเงิน 238,002.05 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 30,431.54 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 207,570.50 ล้านบาท โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับจัดสรร 3,587.23 ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้รับจัดสรรวงเงิน 167.29 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับจัดสรรวงเงิน 23,457.74 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับจัดสรร 23,135.61 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รับจัดสรร 4,416.78 ล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเป็นประธาน มีมติเห็นชอบทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยปรับกรอบใหม่เป็นวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 3.35 ล้านล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและกรอบวินัยการเงินการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น