xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ตรวจนอมินี ปี 66 พบธุรกิจเสี่ยง 439 ราย ใน 9 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยปีงบ 66 ตรวจสอบ “นอมินี” 3 ธุรกิจเสี่ยง 9 จังหวัด รวม 439 ราย พบที่เชียงใหม่ และชลบุรี เจอความผิดปกติ มีผู้ถือหุ้นคนไทย 2 ราย ถือหุ้นใน 269 บริษัท ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว โรงแรมรีสอร์ต ค้าปลีก ค้าส่ง เร่งเก็บข้อมูลตรวจสอบเพิ่ม และยังพบสำนักงานบัญชี-กฎหมาย แนะนำหรือจ้างคนไทยเป็นนอมินี ย้ำหากพบผิดจริงเล่นงานหนัก โทษทั้งจำ ปรับ

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 ว่า ในปีงบประมาณ 66 กรมได้กำกับดูแลและตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินีอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบทั้งสิ้น 439 ราย ใน 3 กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต พื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เบื้องต้นพบนิติบุคคลที่อาจกระทำความผิดนอมินีในจังหวัดเชียงใหม่ และชลบุรี โดยพบผู้ถือหุ้นคนไทย 2 รายมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ใน 269 บริษัท เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 60 ราย ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง 6 ราย ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ต 4 ราย ธุรกิจบริการ 184 ราย และธุรกิจอื่นๆ เช่น ค้าส่ง/ค้าปลีก ขนส่ง เกษตรกรรม 15 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลมูลค่าการลงทุนและข้อมูลการประกอบธุรกิจเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสำนักงานบัญชีและกฎหมายหลายแห่ง แนะนำหรือจ้างคนไทยเข้ามาถือหุ้นแทนคนต่างชาติ โดยให้คนไทยถือหุ้นสัดส่วน 51% และต่างชาติ 49% เพื่อทำให้บริษัทนั้นมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทยและประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคนไทยจงใจให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ร่วมประกอบธุรกิจ หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ที่เข้าข่ายนอมินี จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

“การกระทำความผิดนอมินี ส่วนใหญ่เกิดจากคนไทยยอมรับผลประโยชน์ สมยอม หรือมีที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมาย จึงขอเน้นย้ำให้คนไทยอย่าหลงเชื่อ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดทั้งนิติบุคคล ผู้ให้ความช่วยเหลือ และผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน”

สำหรับปีงบประมาณ 67 อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานตรวจสอบประจำปี โดยจะเน้นธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สำหรับพื้นที่เป้าหมาย จะหารือร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น กรมยังได้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อการประกอบธุรกิจ เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ฯลฯ

นายจิตรกรกล่าวอีกว่า แนวทางการป้องปรามนอมินีนั้น กรมได้ตรวจสอบตั้งแต่การจดทะเบียน โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลจะตรวจสอบเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยรายนั้นมีฐานะทางการเงินที่ลงทุนด้วยตนเองได้

ส่วนเมื่อจดทะเบียนแล้ว กรมมีโครงการตรวจสอบประจำปี โดยคัดเลือกกลุ่มเสี่ยง เช่น ธุรกิจที่คนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึง 50% ธุรกิจมีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ ให้สิทธิคนต่างด้าวมากกว่าคนไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการออกเสียงลงคะแนน สิทธิการรับเงินปันผล สิทธิการรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น รวมถึงนำเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในทำธุรกิจ เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าว โดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติ มาประกอบพิจารณาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น