xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอสไอชี้อุตฯ เหล็กไทยวิกฤตหนัก จี้รัฐ-เอกชนทำโรดแมปก้าวไปสู่ Green Steel

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สหวิริยาสตีล” ชี้อุตสาหกรรมเหล็กไทยวิกฤต หลังอียูบังคับใช้มาตรการ CBAM และอุดหนุนเงินช่วยโรงเหล็กปรับเปลี่ยนใช้พลังงานสีเขียวลดการปล่อยคาร์บอนโดยหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการคล้ายคลึงกันกีดกันการค้า แถมโดนจีนดัมป์ตลาด หวังภาคเอกชนร่วมมือกันจัดทำโรดแมปโดยมีภาครัฐและสถาบันการเงินช่วยซัปพอร์ตทั้งการจัดหาพลังงานสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านเป็น Green Steel

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จํากัด (มหาชน) (เอสเอสไอ) กล่าวในหัวข้อ The Future of Steel ในงานครบรอบ 25 ปีสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ว่า ขณะนี้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาที่หนักและนำมาซึ่งกฎระเบียบต่างๆ ที่นานาประเทศจะนำมาบังคับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนมาบังคับใช้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเก็บภาษีเหล็กที่ปลดปล่อยคาร์บอนสูงในกระบวนการผลิต ปกป้องผู้ผลิตที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าภายในยุโรปนั้น ขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แน่ชัด และเชื่อว่าประเทศอื่นๆ นำมาตรการที่คล้ายคลึงกับ CBAM มาใช้เช่นกัน ทำให้การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศทำได้ยาก ดังนั้น CBAM จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ขณะเดียวกัน วัตถุดิบในการผลิตเหล็กเช่นเศษเหล็กที่หมุนเวียนในตลาดโลก 100 ล้านตันจะเริ่มจำกัดลง เนื่องจากประเทศที่เป็นผู้ส่งออกเศษเหล็กอย่างสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น หันมาตั้งโรงงานถลุงเหล็กเอง และจีนก็ห้ามส่งออกเศษเหล็ก ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยมีปัญหาด้านวัตถุดิบในอนาคต

นอกจากนี้ รัฐบาลในหลายประเทศทั้งสหรัฐฯ และอียูได้ใส่เงินช่วยเหลือ (Subsidy) เพื่อพลิกโฉมพลังงานให้เป็นพลังงานสะอาด ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีพลังงานสะอาดใช้ในการผลิต รวมทั้งรัฐบาลยังให้เงินอุดหนุนโรงงานถลุงเหล็กในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนลง รวมทั้งมีมาตรการ CBAM ปกป้องตลาดด้วย ขณะเดียวกัน ประเทศจีน อินเดีย ฯลฯ ก็จะนำโมเดลนี้มาใช้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยหากต้องการเปลี่ยนการผลิตจาก Gray Steel เป็น Green Steel จะหาพลังงานสะอาดมาจากไหน และค่าไฟฟ้าของไทยก็แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านด้วย

“นับเป็นคลื่นลูกใหญ่ของ Subsidy ที่กำลังเข้ามาเปรียบมันเป็น Infinity War ที่สู้เท่าไรก็ไม่มีวันจบ เพราะเป็นการสู้กับการอุดหนุนจากภาครัฐ ดังนั้นการมองว่าอุตสาหกรรมเหล็กอ่อนแอ ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ผิด แต่ถามว่าทำไมคู่แข่งจึงตัวใหญ่ เราสู้ไม่มีวันชนะ เพราะเราสู้กับทุนรัฐ” นายวินกล่าว

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็กไทยผ่านความท้าทายนี้ไปให้ได้ ผู้ประกอบการเหล็กจะต้องร่วมมือกันจัดระเบียบตัวเองเพื่อแผนจัดทำโรดแมปทั้งเรื่องจัดหาวัตถุดิบ เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อไปสู่ Net Zero ขณะที่ภาครัฐจัดหาพลังงานสีเขียวและเร่งเปิดการใช้โครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม และภาคการเงินต้องช่วยซัปพอร์ตเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กเปลี่ยนจาก Gray Steel เป็น Green Steel เป็นต้น
 


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กของไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากคู่แข่งแม้ว่ากำลังการผลิตในประเทศจะเพียงพอต่อความต้องการ แต่การนำเข้าเหล็กราคาถูกจากจีนทำให้การใช้อัตราการผลิตต่ำกว่า 30% ของกำลังการผลิตจริง โดยพบว่าสินค้าเหล็กบางประเภทก็ถูกการทุ่มตลาดจากจีนแม้ว่าจะมีกฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)

ดังนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กให้อยู่รอด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ


นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการบริโภคเหล็กปีละเฉลี่ย 19 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าปีละ 500,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2566 การค้าเหล็กสำเร็จรูปของไทยพบว่ามีการนำเข้าเหล็กทั้งสิ้น 5.89 ล้านตัน ขยายตัว 5.7% เทียบจากปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 208,485 ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศมีการใช้กำลังการผลิตในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 32% เท่านั้น แสดงว่ายังมีกำลังการผลิตเหลืออีกมากเพียงพอจะตอบสนองความต้องการในประเทศได้

นอกจากนี้ ในปีนี้อียูได้เริ่มใช้มาตรการ CBAM หากในอนาคตมีการใช้มาตรการนี้อย่างเต็มรูปแบบจะมีสินค้าเหล็กจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถนำเข้าไปยังอียูได้ ทำให้สินค้าเหล็กเหล่านี้ต้องส่งออกไปยังประเทศที่ไม่มีมาตรการป้องกันในรูปแบบดังกล่าวรวมถึงตลาดในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็กของไทย ยังมีโอกาสที่ส่งเสริมให้มีการขยายกำลังการผลิตในสินค้ามูลค่าสูงที่ยังไม่มีการผลิต และควบคุมไม่ให้มีการขยายกำลังการผลิตเกินความต้องการ ขณะเดียวกัน ส่งเสริมให้มีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยการใช้สินค้าในประเทศ เช่นมาตรการ Made In Thailand จะช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรการทางการค้า เช่น การใช้มาตรการเอดีเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด พบว่ามีสินค้าเหล็กนำเข้าได้หลีกเลี่ยงมาตรการเอดีเพิ่มขึ้นมาก เช่น วิธีการเจืออัลลอยเพื่อหลบพิกัดภาษี หรือวิธีหลบเลี่ยงภาษีเอดีด้วยการย้ายถิ่นกำเนิด ประเทศไทย จึงควรปรับปรุงการใช้มาตรการเอซี (AC-Anti Circumvention) ตอบโต้การหลบเลี่ยงภาษีให้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับที่หลายๆ ประเทศใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น