กลุ่มบริษัท ไทย สมายล์ กรุ๊ป ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า "ไทยสมายล์บัส" และเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า "ไทย สมายล์ โบ้ท" เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายบัตรโดยสาร HOP Card ผ่านออนไลน์ นอกจากจำหน่ายผ่านพนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือ บัสโฮสเตส และเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารที่ท่าเรือ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
โดยสามารถสั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ ผ่านเฟซบุ๊ก “ไทยสมายล์บัส” หรือ “ไทยสมายล์โบ้ท” LINE Official Account “THAISMILEBUS” โดยจำหน่ายในราคา 60 บาท (มูลค่าเงินสดในบัตร 40 บาท) และค่าจัดส่งเริ่มต้นที่ 25-35 บาท ล่าสุดได้เปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์ม ช้อปปี้ (Shopee) และ ลาซาด้า (Lazada) สั่งซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับ HOP Card เป็นบัตรโดยสารแบบเติมเงิน สำหรับใช้โดยสารรถเมล์ "ไทยสมายล์บัส" ที่ครอบคลุม 123 เส้นทาง ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเรือไฟฟ้า "ไทยสมายล์โบ้ท" 3 เส้นทาง ด้วยการ แตะบัตรขณะขึ้น 1 ครั้ง และลงอีก 1 ครั้ง เพื่อชำระค่าโดยสารแทนการใช้เงินสด โดยมีโปรโมชันค่าโดยสารเหมาจ่ายรายวัน เดลิ แมกซ์ แฟร์ (Daily Max Fare)
เมื่อผู้โดยสารแตะจ่ายค่าโดยสารรถเมล์ไทยสมายล์บัสครบ 40 บาท และมียอดเงินคงเหลือในบัตรมากกว่า 25 บาท จะได้รับสิทธิค่าโดยสารเหมาจ่ายรายวัน โดยไม่จำกัดสาย ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวภายในวันนั้น และหากแตะจ่ายค่าโดยสารรถเมล์ไทยสมายล์บัส ควบคู่ไปกับเรือไทยสมายล์โบ้ท ครบ 50 บาท จะได้รับสิทธิค่าโดยสารเหมาจ่ายรายวันทั้งรถเมล์และเรือเช่นกัน
โปรโมชัน เดลิ แมกซ์ แฟร์ ของไทยสมายล์บัส ได้รับความสนใจจากผู้โดยสารอย่างกว้างขวาง แต่อุปสรรคก็คือ บัตร HOP Card จำหน่ายผ่านบัสโฮสเตส และเคาน์เตอร์ที่ท่าเรือ ซึ่งพบว่าหาซื้อยาก และบัตรจำหน่ายหมดบ่อยครั้ง รวมทั้งมีผู้ค้าหัวใสนำบัตรมาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยโก่งราคาบวกเพิ่มเป็นใบละ 99 บาท ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค
กลุ่มบริษัท ไทย สมายล์ กรุ๊ป ชี้แจงว่า ได้เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านออนไลน์ครบวงจรดังกล่าว และยืนยันว่าจะพัฒนาบริการต่างๆ ให้ตอบสนองผู้บริโภค และสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีเป้าหมายลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑลให้ดีที่สุด
HOP Card ออกบัตรโดย บริษัท ดิไวน์ คอนเน็ค จำกัด โดยกลุ่มบริษัท ไทย สมายล์ กรุ๊ป นำมาจำหน่ายเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 ใช้กับเครื่องอ่านบัตร E60 สีม่วงที่ติดตั้งบริเวณประตูหน้า ประตูกลางของรถโดยสารไทยสมายล์บัส รวม 2 จุด และบริเวณประตูขึ้นเรือไทยสมายล์โบ้ท รวมทั้งมีเครื่อง AVM สีเหลือง สำหรับอัปเดตยอดเงินที่บริเวณเสากลางรถตรงข้ามประตูลงรถ
วิธีเติมเงิน ให้สแกนภาพคิวอาร์โค้ดด้านหลังบัตรจากแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) หรือกล้องถ่ายรูป เพื่อไปยังเว็บบราวเซอร์ที่หน้า “เติมเงินบัตร Thai Smile Bus” ใส่จำนวนเงินขั้นต่ำ 50 บาท เลือกชำระผ่าน QR Code แคปหน้าจอแล้วสแกนจ่ายผ่านแอปฯ ธนาคาร จากนั้นให้ อัปเดตยอดเงินที่เครื่อง AVM โดยแตะบัตรค้างไว้ จนกว่าจะมีเสียงและขึ้นยอดเงินเป็นอันเสร็จสิ้น
หากบนรถไม่มีเครื่อง AVM ให้ติดต่อบัสโฮสเตส หากมีการเติมเงินมากกว่า 1 ครั้ง ให้ทำการอัปเดตยอดเงินตามจำนวนรอบที่เติม เช่น เติมเงินไป 2 ครั้ง ให้แตะบัตรค้างไว้ 2 รอบ
สำหรับการตรวจสอบยอดเงินคงเหลือ สามารถลงทะเบียนบัตร HOP Card เพื่อใช้ตรวจสอบได้ที่แอปพลิเคชัน TSB Go เข้าไปที่ไอคอนโปร์ไฟล์ เลือกเมนู "บัตรโดยสาร (Hop Card)" กรอกข้อมูลบัตรเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นสามารถตรวจสอบได้ทั้งข้อมูลยอดเงินพร้อมใช้ในบัตร ยอดเงินรออัปเดตเข้าบัตร และสามารถเติมเงินได้ที่แอปฯ โดยไม่ต้องสแกนหลังบัตรอีก
นอกจากนี้ การลงทะเบียนบัตร HOP Card บนแอปพลิเคชัน TSB Go ยังช่วยในกรณีบัตรหาย เพราะสามารถซื้อบัตร Hop Card ใบใหม่แล้วขอรับยอดเงินจากบัตรใบเดิมคืนได้ โดยติดต่อเจ้าหน้าที่ Call Center หมายเลข 0-2405-9789 เพื่อแจ้งหมายเลขบัตรใหม่ พร้อมชื่อ-นามสกุล และเบอร์โทรติดต่อกลับ จากนั้นรอรับเงินคืนเข้าบัตรภายใน 15 วันทำการ
ที่ผ่านมากลุ่มบริษัท ไทย สมายล์ กรุ๊ป ส่งเสริมการใช้บัตร HOP Card อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำร่องรถเมล์ที่ระบุข้อความ "รับเฉพาะ HOP Card" ติดอยู่ที่หน้ารถ ให้บริการสลับกับรถที่มีบัสโฮสเตสตามปกติ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้โดยสาร การตั้งบูทจำหน่ายบัตรโดยสาร HOP Card ตามป้ายรถเมล์ต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายบนรถประจำทางในลักษณะ Troop on Bus
นอกจากนี้ ยังมีการจัดประกวดคลิปสั้น ผ่านแพลตฟอร์มติ๊กต็อก สื่อสารถึง HOP Card และโปรโมชันเดลิ แมกซ์ แฟร์ ตามคอนเซ็ปต์ภายใน 1 คลิป ในแบบฉบับของตนเอง เพื่อสร้างการรับรู้บนออนไลน์ ได้แก่ "ง่าย" ใบเดียวจบ ไม่ต้องพกเงินสด "สะดวก" ครอบคลุมรถโดยสาร 123 เส้นทาง และเรือ 3 เส้นทาง "ประหยัด" แตะขึ้น แตะลง รถต่อเรือ จ่ายสูงสุดไม่เกิน 50 บาท
แม้การจำหน่ายบัตร HOP Card ผ่านออนไลน์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้บัตรแรบบิท (Rabbit Card) ของกลุ่มบริษัทบีทีเอส เปิดร้านค้าทางการ rabbitcard_official บนชอปปี้ให้สั่งซื้อได้เช่นกัน แต่ก็ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับคนที่ไม่มีเวลาตามหาบัตร HOP Card ด้วยตัวเอง สามารถกดสั่งซื้อ ชำระเงิน และรอรับบัตรที่บ้าน หรือที่ทำงานที่สะดวกได้ทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการปิดช่องทาง จากกลุ่มคนที่เอาเปรียบผู้บริโภค นำบัตร HOP Card ไปขายต่อในราคาที่สูง ซึ่งทำให้บริษัทฯ สูญเสียโอกาส แทนที่บัตรจะเข้าถึงผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้โดยสารตัวจริง การเปิดให้สั่งซื้อออนไลน์โดยคิดค่าจัดส่งตามจริง ในมุมมองของผู้บริโภคย่อมเป็นที่เข้าใจได้ อย่างน้อยยังได้รับบัตร HOP Card ของแท้ส่งมาจากบริษัทโดยตรง
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทางเว็บไซต์ ibusiness.co เฟซบุ๊ก Ibusiness และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ทุกวันจันทร์)