xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เร่งทำข้อเสนอยื่นนายกฯ แก้ ศก. แนะ "พลังงาน" ไม่ใช่แค่ลดราคาแล้วจบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ส.อ.ท.” เตรียมจัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง ยาว แบบมี How to ชัดเจนลงลึกในรายละเอียด ยื่นให้นายกรัฐมนตรีคาดแล้วเสร็จต้น ต.ค.เป็นอย่างช้า หนุนรัฐลดราคาพลังงานแต่คงไม่จบแค่นี้ต้องแก้ทั้งโครงสร้างเพื่อยั่งยืนให้ไทยแข่งขันได้ มองนโยบายไม่ตรงปก บางเรื่องดีต่อเอกชน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลเตรียมพิจารณาปรับลดราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้านั้นถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่กังวลคือจะเป็นแนวทางแค่ระยะสั้น ท้ายสุดแล้วโครงสร้างพลังงานของประเทศไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิมซึ่งไม่ยั่งยืน ดังนั้น ส.อ.ท.เตรียมจัดทำข้อเสนอ (Position Paper) ที่จะยื่นให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง ถึงแนวทางและการปฏิบัติในการแก้ไขเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ลงลึกรายละเอียดแต่ละด้าน รวมถึงการดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท. รวมทั้งด้านราคาพลังงาน โดยคาดว่าจะจัดทำเสร็จในปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค.นี้

“ราคาดีเซลนั้นหากลดราคาลงมาได้ก็จะทำให้ช่วยลดค่าขนส่ง ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 ที่รัฐประกาศไว้ที่ 4.45 บาท/หน่วย ที่ผ่านมาเราเองเรียกร้องให้อยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วยก็เชื่อว่ารัฐน่าจะให้ของขวัญแก่ประชาชน ถ้ายิ่งต่ำกว่านี้ก็ยิ่งดี แต่สิ่งที่เราอยากได้คือความยั่งยืนราคาพลังงานของไทยควรอยู่ในจุดที่แข่งขันได้ไม่ใช่ต้องมาคุยแก้ไขกันบ่อยๆ ดังนั้น ส.อ.ท.เราจะทำการบ้านอย่างละเอียดเป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณา โดยจะหาโอกาสพูดคุยกับนายกฯ ซึ่งคงจะเป็นช่วงหลังกลับจากเดินทางไปสหรัฐฯ เพราะรัฐและเอกชนต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับนโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีนั้นส.อ.ท.มองว่าควรศึกษาถึงข้อดีและผลกระทบที่จะตามมาด้วย ดังนั้นควรผ่าตัดโครงสร้างทั้งระบบเพื่อแก้ไขแบบยั่งยืน ซึ่งขณะนี้แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มขยับสูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะยิ่งหนุนให้ราคาน้ำมันของไทยสูงขึ้น และเมื่อเข้าฤดูหนาวอาจเห็นราคาน้ำมันแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลทำให้เอกชนมีความกังวล

จ่อทำข้อเสนอแบบ "How to" ยื่นรัฐ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้นในแง่ของภาคประชาสังคมมองถือว่าไม่ตรงปก แต่บางเรื่องภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ได้อยากให้ตรงปกเพราะหากตรงก็จะกระทบต่อต้นทุน เช่น ค่าแรง ขณะเดียวกันก็ไม่มีวิธีการปฏิบัติหรือ How to แม้ว่าการแถลงนโยบายไม่มีความจำเป็น แต่หากหารือกับเอกชนอยากเห็นแผนปฏิบัติมากกว่าแผนเฉยๆ พร้อมกับจัดลำดับความสำคัญเพราะขณะนี้เศรษฐกิจแย่กว่าที่คิดไว้ ดังนั้นทีมส.อ.ท.โดยตนอยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอการแก้ไขเศรษฐกิจแบบละเอียด มีวิธีทำ จัดลำดับระยะสั้น กลาง ยาวที่จะให้ ส.อ.ท.เสนอรัฐบาลต่อไป

“ในเรื่องพลังงาน จุดประสงค์พูดมาโดยตลอดไม่ได้มองแค่ว่าต้องลดค่าพลังงานอย่างเดียว เรามองเรื่องการปรับโครงสร้างถึงการได้มาของราคาพลังงานด้วยซ้ำไป ถ้าคุยกันแล้วการลดค่าพลังงานเป็นระยะสั้น ระยะยาวต้องการปรับโครงสร้าง บางประเทศเขาทำกันมานานมากเช่นญี่ปุ่น ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องปรับโครงสร้าง เราอยากเห็น How to ลดค่าไฟแล้วจบ ไม่ใช่ เรื่องใหญ่คือการปรับโครงสร้างทั้งระบบ” นายมนตรีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น