xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกวูบ ดอกเบี้ยขาขึ้น ภัยแล้งฉุดดัชนีเชื่อมั่นฯ ส.ค.ต่ำสุดรอบ 1 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 91.3 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 1 ปีจากผลกระทบการส่งออกของไทยที่ลดลงต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก หนี้ครัวเรือนธุรกิจสูงจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รายได้เกษตรกรวูบจากภัยแล้ง ทั้งมาตรการกระตุ้นแรงซื้อ ขอให้ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% ต่อปี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.3 ในเดือน ก.ค. 66 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 1 ปี เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

ประกอบกับปัจจุบันเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใตัรัฐบาลผสม อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง


สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ปรับตัวลดลงจาก 100.2 ในเดือน ก.ค. 66 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและไม่แน่นอนกระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 66 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า

ทั้งนี้ ข้อเสนอของภาคเอกชนที่สำคัญได้แก่1. ให้เร่งรัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศทดแทนตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัว อาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วงท้ายปี ฯลฯ 2. ให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำการปรับโครงสร้างหนี้ 3. เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% ต่อปี รวมถึงการกำกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลงเพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ4. เร่งรัดให้โครงการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ให้ได้รับการอนุมัติในการดำเนินการจริงโดยเร็วควบคู่กับการจัดกิจกรรมโรดโชว์เชิงรุก
กำลังโหลดความคิดเห็น