xs
xsm
sm
md
lg

ฝันร้ายติดล้อ!! รถใหม่ไฮเทคทั้งเก็บ-แชร์-ขายข้อมูลผู้ใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ผลศึกษาพบรถรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้เป็น “คอมพิวเตอร์ติดล้อ” อย่างที่ผู้ผลิตโอ้อวด แต่เป็น “ฝันร้ายติดล้อ” จากการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ โดยแบรนด์ที่น่ากังวลที่สุดคือเทสลา
ผลศึกษาพบรถยอดนิยมที่สุดของโลกหลากหลายแบรนด์เป็น “ฝันร้ายติดล้อ” เพราะทั้งเก็บ แชร์ และขายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ นอกจากนั้นยังพร้อมส่งให้รัฐบาลโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล ที่สำคัญผู้บริโภคยังไม่มีอำนาจควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตนเอง โดยแบรนด์ที่น่ากังวลที่สุดคือเทสลา ตามด้วยนิสสัน

วันพุธที่ผ่านมา (6 ก.ย.) มูลนิธิมอซิลลาในแคลิฟอร์เนียได้เปิดเผยผลการศึกษารถ 25 แบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และพบว่า รถยนต์มีคะแนนด้านการรักษาความเป็นส่วนตัวแย่ที่สุดในบรรดาผลิตภัณฑ์กว่าสิบประเภทที่ทำการศึกษา ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์เก็บข้อมูลสุขภาพ แอปเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ ลำโพงอัจฉริยะ และเครื่องใช้ภายในบ้านที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอื่นๆ

มอซิลลาที่เป็นที่รู้จักจากเว็บเบราเซอร์ “ไฟร์ฟ็อกซ์” ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ชี้ว่า รถสมัยใหม่เป็นฝันร้ายด้านความเป็นส่วนตัวในยุคสมัยที่ผู้ผลิตต่างโอ้อวดว่า รถของตนเป็น “คอมพิวเตอร์ติดล้อ”

รายงานเสริมว่า ขณะที่คนมากมายกังวลว่า นาฬิกาที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอาจสอดแนมเรา ค่ายรถกลับย่องเข้าสู่ธุรกิจข้อมูลอย่างเงียบกริบด้วยการเปลี่ยนรถเป็นเครื่องดูดข้อมูลทรงพลัง

มอซิลลาระบุว่า เทสลาเป็นแบรนด์ที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากที่สุด ตามด้วยนิสสัน

เจน คาลไทรเดอร์ นักวิจัยหลักที่จัดทำรายงานการศึกษาชิ้นนี้ แจงว่า รถยนต์สมัยใหม่ติดตั้งไมโครโฟน และผู้ใช้มักพูดคุยประเด็นอ่อนไหวต่างๆ โดยไม่ได้ระมัดระวังบนรถ นอกจากนั้นรถยังมีกล้องที่จับภาพทั้งด้านในและด้านนอกห้องโดยสาร

จากรายงาน แบรนด์รถ 84% ยอมรับว่า แชร์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้กับผู้ให้บริการ โบรกเกอร์ข้อมูล และธุรกิจที่ไม่เปิดเผยอื่นๆ ขณะที่ 74% ขายข้อมูลลูกค้า และกว่าครึ่งบอกว่า พร้อมแชร์ข้อมูลกับรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล

Connected Vehicles หรือรถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและสื่อสารกับสิ่งต่างๆ ได้ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงเหมืองข้อมูลการขับขี่เท่านั้น แต่ยังติดตามการทำงานของฟังก์ชันด้านความบันเทิงในรถและฟังก์ชันของบริษัทอื่นๆ เช่น วิทยุหรือแผนที่ผ่านดาวเทียม

มอซิลลาพบว่า แบรนด์รถถึง 92% ไม่ให้หรือให้สิทธิ์ผู้ใช้น้อยมากในการควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตนเอง มีเพียงเรโนลต์และดาเซียของฝรั่งเศสที่อนุญาตให้ผู้ใช้ลบข้อมูลส่วนตัว ซึ่งอาจสืบเนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายของสหภาพยุโรป

รายงานยังระบุว่า ไม่มีรถยนต์แม้แต่แบรนด์เดียว ซึ่งรวมถึงฟอร์ด เชฟโรเล็ต โตโยต้า โฟล์คสวาเกน และบีเอ็มดับเบิลยู ที่ยืนยันว่า ปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยขั้นต่ำสุด ขณะที่ 68% ตกเป็นเหยื่อการแฮ็ก การละเมิดข้อมูล หรือข้อมูลรั่วไหลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อัลเบิร์ต ฟ็อกซ์ คาห์น นักวิชาการด้านเทคโนโลยีและสิทธิมนุษยชนของศูนย์คาร์เพื่อนโยบายสิทธิมนุษยชนของฮาร์วาร์ด บอกว่า นับวันรถส่วนใหญ่ยิ่งกลายเป็นเครื่องดักฟังติดล้อมากขึ้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่คนขับยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลของตนและผู้โดยสารในรถ กลายเป็นเทคโนโลยีที่รุกล้ำ และทำให้ความเป็นส่วนตัวในรถยนต์กลายเป็นพื้นที่สำหรับการสอดแนม

กลุ่มพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่เป็นตัวแทนของผู้ผลิตรถยนต์และรถบรรทุกส่วนใหญ่ที่ขายในอเมริกายืนยันในจดหมายที่ส่งถึงผู้นำรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนนี้ว่า เหล่าผู้ผลิตรถยึดมั่นในเป้าหมายการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค พร้อมร้องเรียนว่า กฎหมายความเป็นส่วนตัวของรัฐที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันสร้างความสับสนในหมู่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิ์ความเป็นส่วนตัว รวมทั้งทำให้การปฏิบัติตามกฎเป็นไปได้ยาก นอกจากนั้นยังทำให้อุปกรณ์ต่างๆ และสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอโฆษณาและเครื่องมือการตลาดที่กำหนดเป้าหมายเฉพาะ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมข้อมูลจำนวนมากจากการละเมิดความปลอดภัยทางไซเบอร์

ทั้งนี้ ในการสำรวจความคิดเห็นของพิว รีเสิร์ชเมื่อปี 2020 พบว่า คนอเมริกัน 52% เลือกไม่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการบางอย่างเพราะกังวลว่า จะถูกเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัว

เกี่ยวกับประเด็นการรักษาความปลอดภัยนั้น มาตรฐานขั้นต่ำสุดของมอซิลลารวมถึงการเข้ารหัสข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดในรถ ทว่า นักวิจัยเผยว่า แบรนด์รถส่วนใหญ่ไม่ยอมตอบอีเมลที่ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ไป ส่วนบางแห่งที่ตอบก็ให้ข้อมูลแค่บางส่วน

แต่สำหรับนิสสันกลับทำให้นักวิจัยเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิดเผยข้อมูลอย่างซื่อสัตย์ ซึ่งตรงข้ามชัดเจนกับเหล่าบิ๊กเทคอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล โดยผู้ผลิตรถชั้นนำของญี่ปุ่นแห่งนี้เผยว่า ข้อมูลส่วนตัวที่อ่อนไหวที่ได้รับการรวบรวมครอบคลุมถึงหมายเลขใบขับขี่ของผู้ขับ สถานะคนเข้าเมือง เชื้อชาติ เพศวิถี และข้อมูลการวินิจฉัยโรค

นิสสันสำทับว่า บริษัทอาจแชร์ “ข้อสรุป” จากข้อมูลเพื่อสร้างโปรไฟล์ที่สะท้อนความชอบ บุคลิกลักษณะ แนวโน้มทางจิตวิทยา ความโน้มเอียง พฤติกรรม ทัศนคติ ความเฉลียวฉลาด ความสามารถ และความถนัดของผู้บริโภค

นักวิจัยยังพบว่า นิสสันเป็น 1 ใน 6 บริษัทรถที่บอกว่า อาจรวบรวม “ข้อมูลทางพันธุกรรม” หรือ “ลักษณะทางพันธุกรรม”

ค่ายรถแถวหน้าของญี่ปุ่นแห่งนี้ยังเปิดเผยว่า เก็บข้อมูล “กิจกรรมทางเพศ” แต่ไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นิสสันแถลงว่า บริษัทปกป้องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลของผู้บริโภคและพนักงานอย่างจริงจังมาก รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ทั้งหมดและดำเนินการอย่างโปร่งใสที่สุดในการรวบรวมและแชร์ข้อมูลส่วนตัว

แบรนด์รถไฟฟ้าเทสลาได้คะแนนสูงลิบในดัชนี “ความน่าขนลุก” ของมอซิลลา ตามมาด้วยนิสสัน โดยในกรณีเทสลานั้น หากเจ้าของรถเลือกไม่อนุญาตให้เก็บข้อมูล ประกาศด้านความเป็นส่วนตัวของเทสลาจะระบุว่า บริษัทอาจไม่สามารถแจ้งปัญหาที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของรถลดลง เกิดความเสียหายร้ายแรง หรือไม่สามารถใช้งานได้ “แบบเรียลไทม์” กับผู้ขับ
กำลังโหลดความคิดเห็น