xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”รายงานสถานการณ์สินค้า เกษตรทรงตัว ไก่ ผัก ลด ปุ๋ย ยาฆ่าพืช-แมลง มีลุ้นลงอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมการค้าภายในรายงานสถานการณ์สินค้าประจำสัปดาห์ เผยข้าวเปลือก มัน ข้าวโพด ปาล์ม ทรงตัว หมูเนื้อแดง กิโลละ 135-137 บาท ไก่ราคาลง ไข่เบอร์ 3 เฉลี่ยฟองละ 4.32 บาท ผักลงเกือบทั้งหมด ส่วนปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมียังลดต่อเนื่อง ยาปราบศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง ก็ลด มีลุ้นลงได้อีก อาหารสัตว์เห็นสัญญาณลง เผยมังคุดใต้ เกือบหมดแล้ว ลำไย ใกล้หมด ลองกอง กำลังจะออกมากสัปดาห์หน้า เตรียมประสานผู้ประกอบการเข้าซื้อแล้ว

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาสินค้าสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ทรงตัวและปรับลดลง โดยราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ข้าวเปลือกยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร โดยข้าวหอมมะลิ ราคา 15,800 บาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมธานี 13,700 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า 12,400 บาทต่อตัน ข้าวเหนียว 13,300 บาทต่อตัน ซึ่งในส่วนของข้าวเหนียว สถานการณ์เริ่มดีขึ้น หลังจากที่เกษตรกรนำข้าวในยุ้งฉางออกมาจำหน่าย และผลผลิตฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยว ทำให้แรงกดดันต่อราคาข้าวสารบรรจุถุงลดลง ส่วนมันสำปะหลัง ราคาทรงตัว 3.40 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 10.55 บาท ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 5.50 บาท และน้ำมันปาล์มบรรจุขวด เฉลี่ย 45.50 บาท

สำหรับเนื้อสัตว์ หมูเนื้อแดงเฉลี่ย กก.ละ 135-137 บาท ไก่ราคาลดลง โดยเนื้อน่องติดสะโพก เฉลี่ย กก.ละ 80.31 บาท เนื้อสะโพก กก.ละ 82.13 บาท เนื้ออก กก.ละ 76.75 บาท ไข่ไก่ เบอร์ 3 เฉลี่ยฟองละ 4.32 บาท แต่ในแหล่งผลิต เช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง และภาคเหนือ ภาคใต้ บางพื้นที่ราคาไม่ถึง 4 บาทก็มี และผักสด ส่วนใหญ่ปรับลดลง เช่น คะน้า เฉลี่ย กก.ละ 33.20 บาท ถั่วฝักยาว กก.ละ 45 บาท กะหล่ำปลี กก.ละ 31.20 บาท กวางตุ้ง กก.ละ 30.30 บาท ผักกาดขาว กก.ละ 34.50 บาท ผักบุ้งจีน กก.ละ 30.20 บาท ต้นหอม กก.ละ 76 บาท ผักชี กก.ละ 121 บาท พริกขี้หนูจินดา กก.ละ 79 บาท

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สถานการณ์ต้นทุนการผลิตสำคัญของเกษตรกร พบว่า ปุ๋ยเคมี ราคายังทรงตัว โดยราคาต่ำกว่ากลางปีที่แล้วอยู่มาก แม่ปุ๋ยยูเรีย ต่ำกว่ากลางปีที่แล้ว 48% แม่ปุ๋ยฟอสเฟต ต่ำกว่า 39% แม่ปุ๋ยโพแทส ต่ำกว่า 42% ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ต่ำกว่า 49% ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต่ำกว่า 32% ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ต่ำกว่า 27% โดยคาดว่าแนวโน้มราคาน่าจะทรงตัวและลดลงในระยะต่อไป เพราะราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย อยู่ที่ 11 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ต่ำกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และความต้องการใช้ปุ๋ยในตลาดโลก เช่น จีน สหรัฐฯ ลดลง เพราะพ้นฤดูกาลเพาะปลูก และในไทยเอง ก็เริ่มชะลอ เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

ส่วนยาป้องกันและปราบศัตรูพืช ก็ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเสต ลด 29% กลูโฟซิเนต ลด 25% ยาฆ่าแมลง อะบาเมกติน ลด 34% ยารักษาโรคพืช โพรพิเนบ ลด 3% และคาดว่าแนวโน้มราคาน่าจะลดลงอีก เพราะปริมาณสต๊อกโลกมีมาก ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย ปรับลดราคาลงเพื่อระบายสต๊อก ขณะที่อาหารสัตว์ ทรงตัว โดยแนวโน้มลดลง จากวัตถุดิบการผลิตสำคัญเริ่มชะลอตัวลง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ราคาเริ่มลดลงแล้ว โดยราคาหน้าโรงงาน กก.ละ 11.34 บาท และผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ข้าวสาลี ราคาเริ่มลดลง กากถั่วเหลือง ก็เริ่มลดลง ครึ่งปีแรกราคาเฉลี่ย 22 บาท/กก. ขณะนี้ 20 บาท/กก. ที่สำคัญ กรมยังไม่อนุมัติให้ผู้ผลิตรายใดปรับขึ้นราคา แต่ที่ราคาดูเหมือนสูงขึ้น เป็นเพราะมีการปรับลดส่วนลดการค้าลงมา

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์ราคาไข่ไก่อย่างใกล้ชิด พบว่า ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และไข่ไก่ฟองใหญ่มีมากขึ้น ราคายังทรงตัว และขณะนี้ ยังมีมาตรการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง ทั้งการเชื่อมโยงอาหาร และชดเชยดอกเบี้ย 3% ส่วนกุ้ง ก็มีมาตรการช่วยเหลือด้วยการชดเชยราคาและช่วยค่าใช้จ่ายด้านการตลาด เป้า 5,000 ตัน ขณะนี้ช่วยไปแล้ว 3,200 ตัน หรือ 66%

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้มังคุดภาคใต้อยู่ในช่วงปลายฤดูกาลผลิตแล้ว เหลืออีกประมาณ 10% ก็หมด ซึ่งในช่วงโค้งสุดท้าย กรมได้ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้ออย่างต่อเนื่อง และจะนำไประบายผ่านโมบายพาณิชย์ 100 จุด และห้างท้องถิ่น 120 สาขาทั่วประเทศ โดยราคาในกลุ่มประมูล เกรดมันใหญ่ 38.88-55.99 บาท/กก. มันเล็ก 26.88-30.89 บาท/กก. ลายใหญ่ 28.89-34.19 บาท/กก. ตกไซส์ ดอก 17-22.99 บาท/กก. และดำ 13-15.55 บาท/กก. ส่วนลำไย ผลผลิตออกแล้ว 93% ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เกรด AA 32-40 บาท/กก. รูดร่วง 28 บาท/กก. ลองกอง ออกแล้ว 30-40% เกรดสูง ราคา 30-40 บาท/กก. เกรดล่าง 15-20 บาท/กก. ซึ่งจะเริ่มออกมาตั้งแต่สัปดาห์หน้า โดยกรมได้ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น