มี่เสวี่ย (MIXUE) ร้านไอศกรีมและเครื่องดื่มสัญชาติจีน สำหรับคนไทยแม้อาจยังไม่คุ้นตานัก แต่ก็เริ่มมีลูกค้าติดใจกับไอศกรีมวาฟเฟิลรสนม ไซส์ใหญ่โดนใจ อร่อยหวานมันเพียงโคนละ 15 บาท และน้ำมะนาวแช่เย็น (เลมอน) แก้วใหญ่สะใจ หวานเปรี้ยว เพียงแก้วละ 20 บาท รวมทั้งเมนูชาและไอศกรีม ในรูปแบบของร้านสีแดงสดใส และมาสคอตน่ารักที่ชื่อว่า สโนว์คิง
แต่ใครจะรู้ว่า มี่เสวี่ยเป็นแบรนด์ดังสัญชาติจีนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ทางภาคกลางของจีน และขยายสาขานับหมื่นแห่งทั่วประเทศจีน ต่อมาปี 2561 เปิดสาขานอกประเทศจีนแห่งแรกที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กระทั่งปี 2565 เปิดสาขาที่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนจะมายังประเทศไทย ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 26,000 แห่ง
ที่มาที่ไปของร้านมี่เสวีย มาจากนายจาง หงเชา เริ่มกิจการน้ำแข็งไสก่อนตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ก่อนที่จะบุกเบิกไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในราคา 2 หยวน ถูกกว่าเจ้าอื่นที่ขายในราคา 10 หยวน น้ำมะนาวแช่เย็นขายในราคา 4 หยวน และยังมีชานมไข่มุกราคาเฉลี่ยแก้วละ 7-8 หยวน ถูกกว่าเจ้าอื่นที่ขาย 20 หยวน แต่คุณภาพและความอร่อยไม่แพ้กับแบรนด์ดังในจีน
จุดเด่นของร้านมี่เสวียในจีน มาจากเพลงโฆษณาประจำแบรนด์ที่ติดหูอย่างรวดเร็ว การตั้งราคาขายไอศกรีมและเครื่องดื่มแบบถูกแสนถูก เจาะตลาดเมืองชั้นสาม ชั้นสี่ เป็นที่นิยมในหมู่นักเรียน นักศึกษา วัยรุ่น คนทำงานแรงงานที่มีงบน้อยแต่ต้องการของอร่อย ในภาวะที่ผู้บริโภคต้องประหยัดเพราะพิษเศรษฐกิจ กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วถึงเมืองชั้นหนึ่ง
นอกจากนี้ ร้านมี่เสวีย ยังวิจัยและพัฒนาสินค้าเอง ผลิตเอง บริหารคลังสินค้า บริหารจัดการโลจิสติกส์เอง จัดส่งเอง จึงมีความได้เปรียบด้านต้นทุน แม้กระทั่งในช่วงโควิด-19 ยังสนับสนุนทั้งลดค่าแฟรนไชส์ ลดราคาจัดซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ 50%
ร้านมี่เสวี่ยในประเทศไทย ดำเนินงานโดย บริษัท มี่เสวี่ย (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท ประกอบธุรกิจแฟรนไซส์และอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า ปัจจุบันมีผู้ทำสัญญากว่า 20 ราย โดยมีเป้าหมายขยายสาขาให้ได้ 2,000 สาขาภายใน 3 ปี เริ่มจากกรุงเทพฯ แล้วขยายไปต่างจังหวัด
ทดลองเปิดสาขาแรกที่ย่านรามคำแหง 53 เมื่อเดือนกันยายน 2565 กระทั่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
นอกจากนี้ ยังมีสาขาในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า อาทิ โลตัสบางกะปิ สีลมคอมเพล็กซ์ ฟอร์จูนทาวน์ รวมถึงใจกลางเมืองเปิดใกล้กันถึง 4 สาขา ได้แก่ สยามสแควร์ อาคารสยามสเคป เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ และเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นแหล่งชอปปิ้งและย่านสถานศึกษาชั้นนำอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุดเพิ่งจะฉลองเปิดร้าน 4 สาขาไปเมื่อไม่นานมานี้
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ (Soft Serve) ในไทยมีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท โดยมีแดรี่ควีน (Dairy Queen) ซึ่งเครือไมเนอร์ กรุ๊ป (Minor Group) ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาทำการตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2539 ปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2565 มีสาขาในรูปแบบลงทุนเอง 239 สาขา ต่างประเทศ 2 สาขา และแฟรนไชส์ 264 สาขา รวม 505 สาขา
โดบผลิตภัณฑ์ที่เป็นซิกเนเจอร์ของแดรี่ควีน คือ บลิซซาร์ด (Blizzard) ที่มีความหลากหลายและรสชาติเข้มข้น รวมทั้งไอศกรีมปั่น (Moolatte) และไอศกรีมเค้ก มีการจัดจำหน่ายในรูปแบบของคีออส (Kiosk) ในรูปแบบของการนำกลับบ้าน (Take Away) และบริการจัดส่ง (Delivery) เท่านั้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไป นอกนั้นจะเป็นผู้เล่นรายอื่นๆ ที่นำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟมาเป็นเมนูเสริม หรือเมนูรอง ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เป็นต้น
น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่แบรนด์น้องใหม่สัญชาติจีนอย่างมี่เสวี่ย ที่มีลักษณะร้านเป็นคีออสเหมือนกัน จึงเป็นที่จับตามองว่า อาจจะมาขับเคี่ยวกับเจ้าตลาดอย่างแดรี่ควีนในไทยหรือไม่ เมื่อเริ่มมีจำนวนสาขาหลักร้อย คงต้องมาลุ้นกัน
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทางเว็บไซต์ ibusiness.co เฟซบุ๊ก Ibusiness และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ทุกวันจันทร์)