xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเครื่องโค้งสุดท้าย "รถไฟทางคู่" 5 เส้นทางเสร็จปี 66 ทยอยเปิดใช้งาน พลิกโฉมขนส่งทางรางไทย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กว่า 5 ปีนับจากเมื่อ 28 ธ.ค. 2560 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง ระยะทาง 702 กิโลเมตร (กม.) กับผู้รับเหมา จำนวน 9 สัญญา วงเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 69,531 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 การก่อสร้างมีปัญหาล่าช้า ประกอบกับเกิดสถานการณ์โควิด-19 ผู้รับจ้างใช้สิทธิคิดค่าปรับในอัตรา 0% การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องปรับแผนงาน หลายครั้ง ...ล่าสุดงานโยธาทยอยเสร็จแล้วหลายช่วง ซึ่ง รฟท.มีแผนเปิดเร่งใช้งานทางคู่ระยะที่ 1 ภายในปี 2566

@งานโยธาวางรางเสร็จ 100% ในปี 66 เร่งแผนเปิดใช้ทางคู่

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 771 กม. วงเงินรวม 88,014 ล้านบาท โดยแบ่งงานออกเป็น 10 สัญญา มีมูลค่างานโยธา 76,591 ล้านบาท แบ่งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกเป็น 3 สัญญา (เส้นทาง) วงเงิน 11,423 ล้านบาท สำหรับงานโยธา 10 สัญญา มี 1 สัญญายังไม่ได้ประมูล เนื่องจากติดปัญหาการปรับแบบก่อสร้าง ส่วนที่เซ็นสัญญาผู้รับจ้างแล้ว 9 สัญญามีความคืบหน้าดังนี้

สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กม. โดยภาพรวมงานโยธาล่าช้ากว่าแผน 21.81% (แผนงานรวม 100.00% ผลงานรวม 78.19%) แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่

- สัญญาที่ 1 (บ้านกลับ-โคกกระเทียม) ระยะทาง 29 กม. ค่าก่อสร้าง 10,050 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-เอสเอช (ยูนิค/ชิโน-ไฮโดร) เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงาน 15 มิ.ย. 2561-14 มิ.ย. 2565 (48 เดือน) ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า  85.88% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 14.12% 

- สัญญาที่ 2 (ท่าแค-ปากน้ำโพ) ระยะทาง 116 กม. ค่าก่อสร้าง 8,649 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงาน 1 ก.พ. 2561-31 ม.ค. 2564 (36 เดือน) มีการขยายสัญญา 17 เดือน (ก.พ. 2564-ก.ค. 2565) ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 78.19% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 21.81%


@ “มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ” ติดปมปรับแบบ, เพิ่มงบเวนคืน

สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. แบ่งงานเป็น 3 สัญญา ได้แก่

- สัญญาที่ 1 (มาบกะเบา-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 58 กม. ค่าก่อสร้าง 7,560 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงาน 1 ก.พ. 2561-31 ม.ค. 2565 (48 เดือน) มีการขยายสัญญาอีก 309 วันจากเดิม ไปสิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค. 2565 ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 96.22% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 3.78%

- สัญญาที่ 2 (คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ) ระยะทาง 69 กม. ค่าก่อสร้าง 7,060.58 ล้านบาท เดิมออกแบบเสร็จแล้ว แต่ติดปัญหากรณีการรื้อสะพานข้ามแยกสีมาธานี และก่อสร้างอุโมงค์ทดแทน ล่าสุดเทศบาลตำบลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมา ต้องการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ (Elevated Structure) แทนคันดินยกระดับ ระยะทางประมาณ 7.85 กิโลเมตร เพื่อลดปัญหาการระบายน้ำ และการจราจร

- สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 8 กม. มีจำนวน 3 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 ระยะทาง 5.85 กม. อุโมงค์ที่ 2 ระยะทาง 0.65 กม. อุโมงค์ที่ 3 ระยะทาง 1.40 กม. ค่าก่อสร้าง 9,290 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า อิตาเลียนไทย ไรท์ทีนเนลลิ่ง (ITD-RT) เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงานวันที่ 1 ก.ค. 2561-30 ธ.ค. 2564 (42 เดือน) มีการขยายสัญญา 271 วัน ไปสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2565 ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 98.13% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 1.87%

ภาพรวม โครงการสายอีสานยังติดปัญหางบประมาณเวนคืนไม่เพียงพอ และ พ.ร.ฎ.เวนคืนหมดอายุ ปัจจุบัน รฟท.เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพิ่มกรอบวงเงินค่าปรองดองการเวนคืนที่ดินบริเวณด้านหัว และด้านท้ายของอุโมงค์ รวมประมาณ 200 ล้านบาท

สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทางรวม 421 กม. โดยภาพรวมงานโยธาล่าช้ากว่าแผน 3.073% (แผนงานรวม 100.00% ผลงาน 96.927%) แบ่งงานเป็น 5 สัญญา

- สัญญาที่ 1 (นครปฐม-หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กม. ค่าก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท มี บจก.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงาน 1 ก.พ. 2561-31 ม.ค. 2564 (36 เดือน) ขยายสัญญา 20 เดือน (ก.พ. 2564-ก.ย. 2565) ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 97.183% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 2.817%

- สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล-หัวหิน) ระยะทาง 76 กม. ค่าก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง เริ่มงาน 1 ก.พ. 2561-31 ม.ค. 2564 (36 เดือน) ขยายสัญญา 20 เดือน (ก.พ. 2564-ก.ย. 2565) ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 97.537% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 2.465%

- สัญญาที่ 3 (หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์) ระยะทาง 84 กม. ค่าก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงาน 1 ก.พ. 2561-31 ก.ค. 2563 (30 เดือน) ขยายสัญญา 11 เดือน (1 ส.ค. 2563-30 มิ.ย. 2564) และขยายสัญญาครั้งที่ 2 อีก 4 เดือน ไปสิ้นสุดเดือน ต.ค. 2564 ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 99.999% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 0.001%

- สัญญาที่ 4 (ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กม. ค่าก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า KS-C (เคเอสร่วมค้า /China Railway 11th) เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงาน 1 ก.พ. 2561-31 ต.ค. 2563 (33 เดือน) ขยายสัญญา 15 เดือน (1 พ.ย. 2563-31 ม.ค. 2565) ผลงาน ณ เดือนมิ.ย. 2566 คืบหน้า 93.51% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 6.49%

- สัญญาที่ 5 (บางสะพานน้อย-ชุมพร) ระยะทาง 79 กม. ค่าก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า STTP (ชิโน-ไทย/ไทยพีค่อน) เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงาน 1 ก.พ. 2561-31 ม.ค. 2564 (36 เดือน) ขยายสัญญา 15 เดือน (1 ก.พ. 2564-30 เม.ย. 2565) ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 96.523% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 3.477%


@"โควิด" กระทบงานติดตั้งระบบล่าช้า

สำหรับงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม มี 3 สัญญา ภาพรวมล่าช้ากว่าแผน คาดเสร็จสมบูรณ์ปี 2567 ได้แก่

สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กม. ค่าก่อสร้าง 2,988.57 ล้านบาท มีกลุ่มร่วมค้าบีที-ยูเอ็น ประกอบด้วย บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกเนล (ประเทศไทย) จำกัด และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ดำเนินการ ระยะเวลา 39 เดือน เริ่มงานวันที่ 24 ม.ค. 2563 กำหนดแล้วเสร็จเดือน เม.ย. 2566 ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 32.14% (แผนงาน 45.699%) ล่าช้า 13.559%

สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. ค่าก่อสร้าง 2,549.89 ล้านบาท มีกลุ่ม บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และบริษัท LS Industrial Systems หรือ LSIS ประเทศเกาหลีใต้ เป็นผู้ดำเนินการ ระยะเวลา 45 เดือน เริ่มวันที่ 24 ม.ค. 2563 กำหนดเสร็จเดือน ต.ค. 2566 ผลงาน ณ เดือน มิ.ย. 2566 คืบหน้า 19.20% (แผนงาน 19.79%) ล่าช้า 0.59%

สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กม. ค่าก่อสร้าง 7,384.84 ล้านบาท มี บจ.China Railway Signal & Communication หรือ CRSC จากประเทศจีนเป็นผู้ดำเนินการ ระยะเวลา 36 เดือน เริ่มงานวันที่ 27 ม.ค. 2563 กำหนดเสร็จเดือน ม.ค. 2566 ผลงาน ณ เดือนมิ.ย. 2566 คืบหน้า 48.147% (แผนงาน 100.00%) ล่าช้า 51.853%

@ตั้งเป้าสายอีสาน ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร เปิดเดินรถ ต.ค. 66

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมารถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มีการเปิดใช้งานสถานีใหม่ 7 แห่ง ได้แก่ สถานีมาบกะเบา, ปางอโศก, บันไดม้า, ปากช่อง, ซับม่วง, จันทึก และคลองขนานจิตร ไปแล้ว และตามแผนงานจะมีการเปิดเดินรถทางคู่ ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร ระยะทางประมาณ 58 กม. ภายในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2566


@ วางแผนทยอยเปิดสายใต้ จากนครปฐมถึงชุมพร ใน ก.ย. 66

“พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเส้นทางสายใต้ (นครปฐม-ชุมพร) 421 กม. การก่อสร้างทั้ง 5 สัญญา พบว่างานวางรางรถไฟ (track work) ครบ 100% แล้ว คงเหลืองานสถานีและงานเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อย

ปัจจุบันได้เปิดใช้ทางคู่ ช่วงเขาเต่า-ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 78 กิโลเมตรแล้ว ซึ่ง รฟท.เตรียมแผนเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ภายในปลายปี 2566 โดยทยอยเปิดให้บริการ เริ่มจากสถานีบางสะพานน้อย-สถานีคลองวังช้าง ระยะทาง 47.1 กิโลเมตร ในเดือนสิงหาคม 2566 ต่อมายังสถานีปะทิว-สถานีบ้านคอกม้า อีก 14.7 กิโลเมตร ในเดือนกันยายน 2566 สถานีสะพลี-สถานีนาชะอัง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร ในเดือนตุลาคม 2566 และเปิดให้บริการสถานีชุมพร 1.8 กิโลเมตร ในเดือนธันวาคม 2566

“เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์” หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ รฟท. กล่าวถึงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ว่า งานโยธาดำเนินการใกล้เสร็จ และเริ่มมีการทดลองเปิดใช้ทางคู่ใหม่บางช่วงเพื่อทดสอบระบบทางไปแล้ว โดยมีแผนเปิดใช้งานจริงช่วงเดือนกันยายน 2566 โดยเริ่มจากสถานีนครปฐม ถึงสถานีสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ระยะทางประมาณ 400 กม. จากนั้นจะขยายไปจนถึงปลายทางที่สถานีชุมพรในปลายเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไปกับงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และตั้งเป้าหมายจะเปิดใช้งานได้เต็มระบบภายในปี 2568

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ในช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ขณะนี้มีแผนก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ 4 สัญญา ดังนี้

ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 ม. วงเงินลงทุน 85,343.96 ล้านบาท สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ผลงาน 0.934% สัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ผลงาน 2.157% สัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ผลงาน 1.485%

ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินลงทุน 66,846.53 ล้านบาท สัญญา 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ผลงาน 0.112% สัญญา 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ผลงาน 0.007%


@เฟส 2 ชะงัก รอรัฐบาลใหม่ ส่อต้องอัปเดตผลศึกษาใหม่

สำหรับรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กม. วงเงินลงทุนรวม 266,975.99 ล้านบาท ซึ่งรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วถึง 5 เส้นทาง หากโครงการได้รับอนุมัติล่าช้าก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องทบทวนการศึกษาโครงการใหม่ รวมถึงรายงาน EIA จะหมดอายุอีกด้วย

1. ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่า 29,748 ล้านบาท ถือเป็นเส้นทางในเฟส 2 ที่มีความสำคัญในลำดับแรก เนื่องจากเป็นเส้นทางตามยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้

สถานะปัจจุบัน รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 และได้รับความเห็นจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว โดยขั้นตอนต่อไปกระทรวงคมนาคมนำเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

2. ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. มูลค่า 36,683 ล้านบาท สถานะ รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2563

3. ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. มูลค่า 59,399.80 ล้านบาท สถานะ รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565

4. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 57,992.44 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลรายงาน EIA

5. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 23,080 ล้านบาท รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566

6. ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 57,375 ล้านบาท รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566

7. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,864.49 ล้านบาท รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561


ปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 การรถไฟฯ เดินรถให้บริการวันละ 236 ขบวน แบ่งเป็น บริการเชิงพาณิชย์ 84 ขบวน บริการเชิงสังคม 152 ขบวน ...ปัจจุบันให้บริการวันละ 226 ขบวน แบ่งเป็นบริการเชิงพาณิชย์ 84 ขบวน บริการเชิงสังคม 142 ขบวน

ปัจจุบันเส้นทางรถไฟกว่า 4,000 กม.ทั่วประเทศยังเป็นระบบทางเดี่ยวกว่า 80% เป็นทางคู่ไม่ถึง 20% จึงมีปัญหาการเดินรถไม่มีประสิทธิภาพ ขบวนล่าช้า ไม่ตรงเวลา ต้องเสียเวลาในการรอหลีก อีกทั้งยังมีปัญหาความปลอดภัยในการเดินรถ บริเวณจุดตัดถนน

ดังนั้น หากการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง กว่า 700 กม.แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ คาดหมายว่าจะเป็นการเพิ่มความจุของทาง รองรับขบวนรถได้มากขึ้น และจะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ ขบวนรถสามารถเพิ่มความเร็ว ลดเวลาในการเดินทางลงเฉลี่ยอย่างน้อย 1 ชม.จากปัจจุบัน

และหากโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีรถไฟทางคู่ครอบคลุมกว่า 50 จังหวัด มีเส้นทางคู่รวมกันมากกว่า 3,000 กม. ภายในปี 2572 ซึ่งจะสามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว สามารถทำความเร็วในการขนส่งสินค้าได้จากเดิม 29 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. และทำความเร็วในการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มจากเดิม 50 กม./ชม. เป็น 100-120 กม./ชม.

“และจะเป็นก้าวแรกของการพลิกโฉมรถไฟให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศตามเป้าหมาย!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น