xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ เผย 5 เดือนปี 66 “ปลาทูน่ากระป๋อง” แชมป์ส่งออกไปตลาด FTA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศวิเคราะห์การส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่เจรจา FTA พบช่วง 5 เดือนปี 66 ส่งออกได้ 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 15.7% ขยายตัวทั้งญี่ปุ่น ชิลี เปรู จีน กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เผยปลาทูน่ากระป๋องสัดส่วนส่งออกสูงสุด ตามด้วยปลาแปรรูป ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ล่าสุด 15 ประเทศไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว เหลือแค่ 3 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย แนะก่อนส่งออกอย่าลืมใช้สิทธิ FTA ด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป พบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 22.7% ชิลี เพิ่ม 96.7% เปรู เพิ่ม 183.1% จีน เพิ่ม 25.7% กัมพูชา เพิ่ม 11.9% และฟิลิปปินส์ เพิ่ม 138.1%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกการส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA พบว่า ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เพิ่ม 18.2% สัดส่วน 32.6% ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เพิ่ม 8.4% สัดส่วน 4.6% และปลากระป๋องอื่นๆ เพิ่ม 6.2% สัดส่วน 11.1%

ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมาไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 931.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 4.6% ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ชิลี และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ปัจจุบันไทยมี FTA กับคู่ค้า 18 ประเทศ โดยคู่ค้า 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีน แมคเคอเรลกระป๋อง และไข่ของปลาค็อด อัตรา 5% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีนกระป๋อง อัตรา 16% ทูน่ากระป๋อง ทั้งแบบในน้ำมันและต้มสุกแล้ว อัตรา 20% ปลาไหลแปรรูป และฟิชเพสต์ อัตรา 5% และอินเดีย เก็บภาษีนำเข้าทูน่าทุกประเภท และคาร์เวียร์ อัตรา 30% และภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าทูน่าต้มสุกในกระป๋องให้ไทยจนเหลือศูนย์ในปี 2579

“ไทยมีศักยภาพการผลิตปลากระป๋องและแปรรูปเป็นยอมรับจากทั่วโลก จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และไทยมี FTA จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปของไทยขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อขยายส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ” นางอรมนกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น