xs
xsm
sm
md
lg

กรมรางเร่ง M-MAP 2 ลุยแผนรถไฟฟ้า 29 เส้นทาง ชง ครม.ใหม่ เติมเต็มโครงข่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมรางเร่งสรุปแผน M-MAP 2 ใน ก.ค.นี้ วางโครงข่าย 29 เส้นทาง ทั้งสานต่อจากแผนเดิม และผุดเส้นทางใหม่เติมเต็มโครงข่ายและมาตรการอุดหนุนค่าโดยสาร และภาษี เผยพร้อมดันรถไฟสีแดง 3 สายชงรัฐบาลใหม่ ชี้จำเป็นเร่งด่วน ส่วนช่วง Missing Link ออกแบบศึกษาใหม่ ล่าช้า 4-5 ปี

วันที่ 27 มิ.ย. 66 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2 โดยมีการนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงาน M-MAP 2 และการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง โดยจะมีการสัมมนาเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2566 โดยวันแรกเป็นกลุ่ม หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ และสื่อมวลชน วันที่ 2 เป็นกลุ่มเอกชน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง วันที่ 3 เป็นกลุ่มสถาบันการศึกษา และในวันที่ 24 ก.ค. 2566 จะจัดสัมมนา เพื่อนำเสนอผลการศึกษาอีกครั้งและสรุปการศึกษา และเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี จึงจะประกาศเป็นแผนแม่บทต่อไป

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการได้ออกแบบแบบจำลอง คาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast) แล้วเสร็จ และได้นำมาดำเนินการวางแผน M-MAP 2 โดยการวิเคราะห์และกำหนดแนวเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ให้ตอบโจทย์นโยบายการพัฒนารถไฟฟ้าใน 5 ด้าน ดังนี้ 1. เพื่อบรรเทาความหนาแน่นระบบราง (Capacity) 2. เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่และรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต (Coverage) 3. เพื่อพัฒนาโครงข่ายรวมและการกระจายการเดินทางเพิ่มเติม (Connectivity) 4. ปรับปรุงรูปแบบค่าโดยสารให้เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น (Affordable and Equitable) 5. เพื่อความสอดคล้องและเชื่อมต่อกับการขนส่งรูปแบบอื่น (Intermodal)


นายพิเชฐกล่าวว่า รถไฟฟ้าตามแผนแม่บท M-MAP เดิมมีโครงข่ายรวม 553.41 กม. ปัจจุบันให้บริการแล้ว 242.34 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 105.40 กม. ขณะที่การพัฒนา M-MAP จะหมดอายุในปี 2572 ดังนั้นจึงต้องศึกษาเพื่อวางแผน M-MAP 2 ที่จะใช้ในระยะ 20 ปีต่อไป (ปี พ.ศ. 2573- ปี พ.ศ. 2592) เพื่อให้การขับเคลื่อนต่อเนื่อง ซึ่งการจัดทำ วางแผน M-MAP 2 ได้มีการจัด Focus Group รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล ประกอบไปด้วย จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม และนำข้อมูลไปดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมร่วมกับแผน M-MAP 2 Blueprint ที่ทาง JICA เคยศึกษาไว้เพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) และนำมาดำเนินการคัดกรอง ทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญ และดำเนินการศึกษา ในด้านวิศวกรรม การลงทุน และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นต่อไป


@พร้อมชงรัฐบาลใหม่ เคาะสายสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง แบบ-EIA พร้อมก่อสร้าง

ส่วนโครงการที่อยู่ใน M-MAP เดิมที่ยังไม่ได้ก่อสร้างแต่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งโครงการได้ศึกษาออกแบบเรียบร้อย และ EIA ได้รับอนุมัติแล้ว กรมรางมีความพร้อมที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่พิจารณา ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง ด้านเหนือ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, สายสีแดง ด้านตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท เส้นทางที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางจำนวนมาก เนื่องจากเป็นศูนย์ในด้านโรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา

@สีแดง Missing Link (บางซื่อ-พญาไท-) ย้ายสถานี เริ่มต้นศึกษาใหม่ ล่าช้า 4-5 ปี
ส่วนสีแดง ด้านตะวันออก ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานี เพราะบริเวณใกล้เคียงมีโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีส่วนที่ต้องเวนคืน ทำให้ต้องศึกษาออกแบบใหม่ และศึกษา EIA ใหม่ หรือกลับไปเริ่มต้นทำโครงการใหม่ ใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 ปี

@สีแดง "หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย" ติดปมเวนคืน-ค่าลงทุนสูง

สายสีแดง ด้านใต้ ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย ยังมีประเด็นผลกระทบด้านเวนคืนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ผ่านพื้นที่ชุมชนหนาแน่น แผนเดิมเป็นทางยกระดับ มีแนวคิดปรับเป็นใต้ดินแต่ค่าก่อสร้างสูงมากกว่า 3 เท่า ไม่คุ้มค่า จึงต้องประเมินความเหมาะสมและช่วงเวลาในการก่อสร้างที่จะคุ้มค่า ซึ่งอาจจะก่อสร้างในช่วงที่ปัญหาน้อย ก่อน เช่น วงเวียนใหญ่-บางบอน เป็นต้น

โดยการเสนอแนะและคัดกรองเส้นทาง แผน M-MAP 2 มีการจัดลำดับความสำคัญโครงการ 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A1 โครงการมีความจำเป็น และเร่งด่วน กลุ่ม A2 คือ โครงการที่มีความจำเป็น แต่ไม่เร่งด่วน ก่อสร้างเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม กลุ่ม B โครงการแนะนำ คือเส้นทางมีศักยภาพ แต่เวลายังไม่เหมาะสมที่จะสร้าง เป็นการกำหนดเส้นทางเพื่อวางแผนร่วมกับการพัฒนาเมืองรองรับอนาคต

ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญ ประกอบด้วย นโยบายด้านการวางแผน ความพร้อมของโครงการ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน และสังคม และ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม


@เปิดผัง รถไฟฟ้า M-MAP 2 จำนวน 29 เส้นทาง

เบื้องต้นโครงการใน M-MAP 2 มีจำนวน 29 เส้นทาง (Project Long List) ประกอบด้วย 1. เส้นทางใน M-MAP 1 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ (M) จำนวน 8 เส้นทาง (12 ช่วง) คือ M1 สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช M2 สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง, ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่, ช่วงวงเวียนใหญ่-บางบอน, ช่วงบางบอน-มหาชัย, ช่วงมหาชัย-แม่กลอง, ช่วง รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, ช่วงม.ธรรมศาสตร์-นวนคร

M3 สายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร, M4 สายสีเทา ช่วงลำลูกกา-ท่าพระ, M5 สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่ม-บางกะปิ, M6 สายสีเขียว ช่วงคูคต-วงแหวนรอบนอก, ช่วงเคหะ-ตำหรุ, ช่วงตำหรุ-จักรีนฤบดินทร์-คลองด่าน, M7 สายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส, M8 สายสีน้ำเงิน ช่วง บางแค-พุทธมณฑลสาย 4

เส้นทางใหม่ 13 เส้นทาง (N) คือ N1 รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ, N2 รถไฟฟ้าสายบางบำหรุ-ดินแดง-หลักสี่, N3 รถไฟฟ้าสายรังสิต-ธัญบุรี-คลอง 6-ธรรมศาสตร์, N4 รถไฟฟ้าสายรังสิต-ปทุมธานี, N5 รถไฟฟ้าสายคลอง 3-คูคต, N6 รถไฟฟ้าสายสุวรรณภูมิ-แพรกษา-สุขุมวิท, N7 รถไฟฟ้าสายดอนเมือง-ศรีสมาน, N8 รถไฟฟ้าสายพระโขนง-ศรีนครินทร์, N9 รถไฟฟ้าสายเทพารักษ์-ราษฎร์บูรณะ, N10 รถไฟฟ้าสายศาลายา-มหาชัย, N11 รถไฟฟ้าสายเลียบคลองประปา (บางซื่อ-ปทุมธานี), N12 รถไฟฟ้าสายศรีนครินทร์-บางบ่อ, N13 รถไฟฟ้าสายคลอง 6-องครักษ์

และเส้นทางต่อขยายเดิม 8 เส้นทาง (E) คือ E1 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (สีลม) บางหว้า-รัตนาธิเบศร์-แยกปากเกร็ด, E2 รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย มีนบุรี-ลาดกระบัง, E3 รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย เมืองทองฯ-ปทุมธานี, E4 รถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย บางใหญ่-บางบัวทอง, E5 รถไฟฟ้าสีทองส่วนต่อขยาย (คลองสาน-ศิริราช), E6 รถไฟฟ้าสายสีเงินส่วนต่อขยายสุวรรณภูมิ-บางบ่อ, E7 รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง บางซื่อ-พระราม 3, E8 รถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ลาดพร้าว-รัชโยธิน-บางอ้อ-ท่าน้ำนนท์


นอกจากนี้ยังมีการทำแบบจำลองคาดการณ์ความต้องการเดินทาง พร้อมแนวคิดในการส่งเสริมการใช้ระบบราง เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่รัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกรมรางนำเสนอแผนไปยังกระทรวงการคลังแล้ว, มาตรการด้านภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Tax/Carbon Tax) เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนและนิติบุคคล, การอุดหนุนค่าโดยสารแก่ประชาชน

“ในการทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าที่ผ่านมาขาดข้อมูลเรื่องการพัฒนาโปรเจกต์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ ทั้งศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ ที่จะเกิดการเดินทางของประชาชนจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือหน่วยราชการ ท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อนำมาวางแผนใน M-Map 2 ไม่ใช่มารู้เมื่อเปิดโปรเจกต์แล้วบอกว่าอยากได้ระบบรางเข้าไป แบบนี้ไม่ทันกัน เพราะโครงการรถไฟฟ้าต้องใช้เวลา ศึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง มีเรื่องเวนคืนและ EIA อีก ต้องใช้เวลาหลายปี”
กำลังโหลดความคิดเห็น