xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟท.ติงผลศึกษาย้าย รง.มักกะสันไป "เขาชีจรรย์" สั่งเปรียบเทียบความคุ้มค่าทำเล "ช่องแค, ลำนารายณ์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บอร์ด รฟท.ติงผลศึกษาย้ายโรงงานมักกะสันไป "เขาชีจรรย์ หรือ สุพรรณบุรี" สั่งเปรียบเทียบอีก 2 แห่ง "ช่องแค, ลำนารายณ์" ประเมินความคุ้มค่า การขนส่งและรื้อย้าย ชี้ทำเลที่ดินราคาสูงควรนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มเหมาะกว่า

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.วันที่ 22 มิ.ย. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลการศึกษาการคัดเลือกพื้นที่โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ แต่บอร์ดยังไม่เห็นชอบผลการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากยังมีประเด็นคำถาม และต้องการข้อมูลเพิ่ม จึงให้ที่ปรึกษาไปทำข้อมูลเพิ่มเติมให้รอบด้าน ทั้งในมิติของการเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ มิติของความพึงพอใจของประชาชนในแต่ละพื้นที่ มิติด้านความคุ้มค่าในการลงทุน มิติด้านการขนส่ง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ รฟท.ในอนาคต และให้นำเสนอบอร์ดอีกครั้งในการประชุมเดือน ก.ค. 2566

ทั้งนี้ บอร์ดเห็นด้วยในหลักการย้ายโรงซ่อมบำรุงออกจากมักกะสัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงและมีความคับแคบ ปัจจุบันพื้นที่มักกะสันเหมาะในการนำมาพัฒนาสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ให้ รฟท.ได้ ในขณะที่เห็นว่าโรงงานซ่อมบำรุงสามารถอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายในรัศมี 200 กม. และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200 ไร่

โดยที่ปรึกษานำเสนอผลการศึกษาพื้นที่ 2 แห่ง คือ 1. พื้นที่บริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 454 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา มูลค่าลงทุนประมาณ 8,234.22 ล้านบาท ได้คะแนนเหมาะสมมากที่สุด 2. พื้นที่บริเวณสถานีสุพรรณบุรี ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มีพื้นที่ประมาณ 240 ไร่ ได้คะแนนลำดับสอง ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชน มีมูลค่าลงทุนประมาณ 8,129.72 ล้านบาท


นายนิรุฒกล่าวว่า บอร์ด รฟท.สอบถามถึงพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ รฟท.ในระยะไม่เกิน 200 กม.จาก กทม. และมีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200 ไร่ เช่น บริเวณสถานีช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งห่างจาก กทม.ประมาณ 180 กม. และ บริเวณสถานีรถไฟลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ระยะทางจาก กทม.ราว 100 กม. มูลค่าที่ดินของแต่ละแห่งอาจจะไม่สูง และอยู่ในหุบเขา อาจจะไม่สะดวกในการขนส่ง ซึ่งที่ปรึกษาจะกลับไปทำข้อมูลเพิ่ม เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับเขาชีจรรย์ และสุพรรณบุรี ซึ่งเห็นว่าทำเลที่ดินมีมูลค่ามากกว่า

“บอร์ดต้องการข้อมูลรอบด้านเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่หากต้องมีโรงงานรถไฟไปอยู่ตรงนั้น มีความเห็นอย่างไร นอกจากนี้ ต้องดูเรื่องพนักงานรถไฟที่จะต้องทำงานที่โรงงานแห่งใหม่ การขนย้าย การทำงานของ รฟท.ในอนาคต มีค่าใช้จ่าย ต้นทุน เป็นอย่างไร ราคาที่ดินหากสูง ก็เห็นว่าไม่ควรนำมาทำโรงซ่อม เพราะหากพัฒนาเชิงพาณิชย์จะได้มูลค่าเพิ่มสูงกว่า รวมถึงให้นำข้อมูลโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟของต่างประเทศมาเปรียบเทียบด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการย้ายโรงงานมักกะสันไปแห่งใหม่เป็นที่ใด และหลังจากบอร์ดเห็นชอบจะดำเนินการจัดทำแผนการย้าย ระยะเวลา วงเงินดำเนินการที่ชัดเจน และตั้งงบประมาณดำเนินการต่อไป โดยการรื้อย้ายจะแบ่งเป็นเฟส

ทั้งนี้ รฟท.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กิจการค้าร่วม KUSIP ซึ่งประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บริษัท ยูทิลิตี้ ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ซี คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท โปรคอนเซ็ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ศึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสมงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ออกแบบรายละเอียด โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ พร้อมจัดทำแผนการรื้อย้ายและจัดทำเอกสารประกวดราคา เพื่อประเมินความเหมาะสมในขั้นตอนการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สำหรับพัฒนางานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนของโรงงานมักกะสันแห่งใหม่ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น