xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยค้านขึ้นค่าแรงทันที หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย เหตุกระทบจ้างงาน ย้ายฐานผลิต นักลงทุนหนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หอการค้าไทยจับเข่าคุย “พิธา” หนุนตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีความต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ หนุนงบประมาณฐานศูนย์ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ส่วนค่าแรง เห็นด้วยขึ้นให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ และผ่านกลไกไตรภาคี แต่หากขึ้นทันที จะได้ไม่คุ้มเสีย กระทบจ้างงาน ย้ายฐานการผลิต นักลงทุนหนี พร้อมหนุนปรับโครงสร้างพลังงาน ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากการหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้บริหารพรรค ประกอบด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า ได้หารือประเด็นนโยบายของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ โดยขอให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้การจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณมีความต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะแนวทางการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ที่หอการค้าไทยเห็นด้วยที่จะนำเอารูปแบบดังกล่าวมาใช้กับการจัดทำงบประมาณของประเทศ แต่มีข้อกังวลเรื่องกรอบระยะเวลาการจัดทำงบประมาณว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ เพราะรูปแบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำงานของภาครัฐในทุกหน่วยงานและใช้ระยะเวลามาก จึงฝากให้มีการจัดเตรียมแผนต่างๆ ให้รอบคอบ เพื่อให้การใช้งบประมาณของประเทศในการขับเคลื่อนมิติต่างๆ มีความต่อเนื่อง

สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วย Ease of Doing Business และ Ease of Investment โดยปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นว่าภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ และการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัยและสะดวกขึ้น จะช่วยดึงดูดการลงทุนได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ ยังได้หารือในประเด็นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเป็นนโยบายหลักไว้ 450 บาทต่อวัน หอการค้าไทยเห็นด้วยที่จะมีการขึ้นค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ และควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานควบคู่ไปด้วย ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ควรมีการตัดสินใจอย่างรอบด้านร่วมกันก่อน ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในฐานะนายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์บนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีกลไกคณะกรรมการไตรภาคีแต่ละจังหวัดในการพิจารณาและเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ หากมีการขึ้นค่าแรงอย่างทันที จะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวและยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจอีกหลายด้าน หากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นบางส่วนอาจจะรับไม่ไหว ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการชะลอการจ้างงาน ปรับลดจำนวนพนักงาน หรือแม้แต่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิต รวมถึงนักลงทุนใหม่ที่หวังจะเข้ามาคงมีการปรับแผนลงทุนไปประเทศอื่นแทน ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างหากไม่สร้างความชัดเจน การจะปรับขึ้นค่าแรงจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันหลายส่วน และหวังว่าจะมีการทบทวนเพื่อให้เกิดรูปแบบที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้

ขณะเดียวกัน เห็นด้วยกับแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่กระทบค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนผู้ประกอบการทั่วประเทศ และยังได้เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณานโยบายที่ช่วยเอื้อและสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ทั้งการปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง มาตรการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เพราะ SMEs ถือเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศและยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดที่รัฐต้องเข้ามาสร้างความเข้มแข็ง






กำลังโหลดความคิดเห็น