xs
xsm
sm
md
lg

SMARTS Center จับมือ IPCC รับ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สร้างความยืดหยุ่น ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ตอกย้ำความเสมอภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



SMARTS Center (The South and South-East Asia Multidisciplinary Applied Research Network on Transforming Societies of Global South) ศูนย์วิจัยภายใต้ School of Environment, Research and Development (SERD) ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ประสบความสำเร็จอย่างมากกับการจัดงาน "Climate Change: Resilience, Transformation, and Equity" (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ความยืดหยุ่น การเปลี่ยนแปลง และความเสมอภาค) โดยจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 125 ท่าน และผู้ร่วมงานผ่านออนไลน์นับร้อยคน จากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเงินและนักลงทุน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ตลอดจนนักกิจกรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศ

การจัดงานครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากการทำเวิร์คช็อปสถานการณ์จำลองของ IPCC เกี่ยวกับผลสรุปล่าสุดถึงแบบจำลองโมเดลต่างๆ การพูดถึงถึงช่องว่างและโอกาส ตลอดจนการแบ่งปันความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ร่วมงาน ทั้งในรูปแบบของการนำเสนอเพื่อชี้ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน และผลลัพธ์ในการเปรียบเทียบระหว่างกัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 7 (The Seventh Assessment Report: AR7) ของ IPCC

เป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้ยังมุ่งที่การสื่อสารถึงผลลัพธ์ที่สำคัญจากรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 6 (The Sixth Assessment Report) ของ IPCC ซึ่งโฟกัสกับเนื้อหาที่มีเกี่ยวข้องกับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวประกอบด้วย 3 คณะทำงาน และบทสรุปรายงาน ซึ่งนำเสนอถึงการประเมินอย่างกว้างขวางครอบคลุมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานะทางวิทยาศาสตร์ สถานะทางเทคนิค องค์ความรู้ทางด้านเศรษฐสังคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนทางเลือกเพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
สำหรับ SMARTS Center ศูนย์วิจัยภายใต้ School of Environment, Research and Development (SERD) ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) นั้นเป็นหน่วยงานที่มุ่งศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมเทคนิค (Socio-Technical Changes) ในระดับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในการจัดงานครั้งนี้ SMARTS Center มีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้ “เสียงสะท้อน” จาก “โลกตอนใต้” (ประกอบด้วย แอฟริกา, อเมริกาใต้, ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย และประเทศในตะวันออกกลาง) ได้นำเสนอถึงความท้าทายที่มีลักษณะเฉพาะ, ความเสมอภาค, ความยุติธรรม และลักษณะเฉพาะประจำภูมิภาคที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ คาซูโอะ ยามาโมโตะ (Prof. Kazuo Yamamoto) อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้กล่าวขอบคุณเลขาธิการ IPCC และผู้ร่วมงานทุกท่าน พร้อมทั้งกล่าวว่า


“การรวมตัวกันระหว่างการทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาค, ชุมชนของผู้ปฏิบัติการ, รัฐบาลต่างๆ, ผู้วางนโยบาย, ผู้มีอำนาจการตัดสินใจ, ภาคธุรกิจ, หน่วยงานจากภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญที่เราจะได้จัดการกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในยุคของเรา ขณะที่ SMARTS Center มีส่วนร่วมในการพัฒนาโมเดลเพื่อวางแนวทางสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ของภาคพลังงานในประเทศต่างๆ ในระดับภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยด้วย รวมทั้งสร้างโมเดลที่เกี่ยวกับความสามารถสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาว์ในบังคลาเทศ ปากีสถาน อินเดียและประเทศไทย”


ขณะที่ จิม สเกีย (Jim Skea) ประธานร่วม คณะทำงานที่ 3 AR6 จาก IPCC ได้กล่าวว่า “เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงกับมนุษยชาติ และระบบต่างๆ ในธรรมชาติ เว้นแต่เราจะเร่งปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่านี้ แต่กระนั้นก็ยังโชคดีที่เราได้มีมาตรการที่พร้อมยกระดับ “ความยืดหยุ่นของสภาพภูมิอากาศ” (Climate Resilience) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เราจำเป็นต้องสร้างทางเลือกด้วยการขยายฐานทางเลือกที่เหมาะสมกับเราออกไปให้มากขึ้น”


ทั้งนี้ นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning: ONEP) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “รายงานจาก IPCC ได้นำเสนอหลักสำคัญและรากฐานเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะทำให้ความร่วมมือในระดับนานชาติมีความกระชับและเข้มแข็งมากขึ้นภายใต้กรอบการเจรจา UNFCCC (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งจะช่วยยกระดับการตอบรับและปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ประเทศไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคก็ได้ใช้แนวทางตามประเด็นสำคัญๆ ของรายงานดังกล่าว เพื่อกำหนดนโยบายและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อสาธารณะ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติให้สามารถบรรลุผลได้สำหรับประเทศไทยในอนาคต”

นอกจากนี้ จอยชรี รอยด์ (Joyashree Roy) ผู้อำนวยการ SMARTS Center ศูนย์วิจัยภายใต้ School of Environment, Research and Development (SERD) ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และเป็นผู้เขียนรายงานของ IPCC ได้กล่าวเสริมต่อไปว่า

“วิกฤตการณ์จากการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้จะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไม่ชอบธรรมในเชิงลึกมากขึ้นๆ อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น จากความต้องการการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ก็จะทำให้การใช้ “บริการข้อมูลภูมิอากาศ” (Climate Service) เพื่อเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะนำความมั่งคั่งให้กับธุรกิจได้ (เนื่องจากข้อมูลภูมิอากาศเป็นสินค้าสาธารณะในระดับนานาชาติที่จะต้องมีการปรับให้ทันสมัยอยู่เสมอ และรัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิอากาศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเสรีและไม่มีค่าใช้จ่าย ที่มา: www.thai-german-cooperation.info) ทว่า การที่จะเป็นผู้นำใน “โลกเศรษฐกิจภูมิอากาศแบบใหม่” (New Climate Economy) นั้น ผู้ที่เข้ามาก่อนในอันดับแรกๆ (Early Mover) จำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงสินทรัพย์ด้อยค่าในอนาคต (Stranded Asset), ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ, ดินแดนใหม่ของการใช้งานปลายทางกับ Granular Technology (เพื่อเร่งลดการปล่อยคาร์บอน) ตลอดจนการลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากร เงินทุนเพื่อสังคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง”

สำหรับการจัดงานประชุม “Climate Change: Resilience, Transformation, and Equity" (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ความยืดหยุ่น การเปลี่ยนแปลง และความเสมอภาค) ครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของ IPCC สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบรรยาย ดังนี้

- สถานการณ์จำลองในอนาคตเกี่ยวกับสถานการณ์โลกร้อน ทั้งด้านผลกระทบ และความเปราะบางของสถานการณ์ โดยนำเสนอถึงผลสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของสภาพภูมิอากาศ, การคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของสภาพภูมิอากาศในอนาคต, ข้อมูลของสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคและภาคส่วนต่างๆ, การปรับตัว ตลอดจนผลกระทบและความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

- การเปลี่ยนแปลงสู่ความยุติธรรมและความเสมอภาค นำเสนอถึงแนวทางที่จะบรรลุถึงความเสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่างๆ ที่มีความหลากหลาย

- ผู้เกี่ยวข้อง นโยบายและแหล่งเงินทุน เพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นการอภิปรายถึงความจำเป็นเพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ตลอดจนปัจจัยที่จะเอื้อและช่วยเร่งให้เกิดการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

- การสื่อสารและนโยบาย ที่มุ่งสื่อสารถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ที่มีความหลากหลาย


การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จด้านการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง “ผลการวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาค” กับ “ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน,รัฐบาล, ผู้วางนโยบาย, ผู้มีอำนาจตัดสินใจ, องค์กรธุรกิจต่างๆ ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม, นักกิจกรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อการสร้างความร่วมมือในระดับโลกอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลเพิ่มเติม:

Website: https://apps.ipcc.ch/outreach/aboutevent.php?q=695#videos

Website: https://www.ipcc.ch

Website: https://www.smartscenter.org

Website: https://ait.ac.th/centre/smartscenter/
กำลังโหลดความคิดเห็น