xs
xsm
sm
md
lg

ซี.พี.ควักเดือนละ 70 ล้าน อุดส่วนต่างบริหาร "แอร์พอร์ตเรลลิงก์" เหตุค่าใช้จ่ายสูง-ผู้โดยสารยังไม่ฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟท.เผย MOU ซี.พี.บริหาร "แอร์พอร์ตเรลลิงก์" รัฐไม่เสียเปรียบ เอกชนควักจ่ายส่วนต่าง 70 ล้านบาท/เดือน รวมกว่า 1 พันล้านบาทแล้ว ชี้เหตุค่าจ้างบุคลากรสูงกว่า รฟฟท.วิ่งรถเท่าเดิม ผู้โดยสารยังไม่ฟื้น เปิดสถิติตั้งแต่ต้นปีรถเสีย 12 ครั้ง ล่าช้ามากสุด 34 นาที

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากที่ รฟท.ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทางเอกชนได้ชำระเงิน 1,067.10 ล้านบาท หรือ 10% ของค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ตามสัญญาร่วมลงทุนให้ รฟท.แล้ว เป็นการแสดงเจตนาของเอกชนที่จะเข้าบริหารโครงการตามเงื่อนไข MOU

ปัจจุบันรายได้จากการดำเนินงานของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะต้องเป็นของรฟท.ทั้งหมด ส่วนทางเอกชนมีหน้าที่ต้องจัดหาบุคลากรเพื่อปฏิบัติงานและให้บริการเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และต้องรับความเสี่ยงในด้านการดำเนินงาน โดย รฟท.จะจ่ายส่วนของค่าใช้จ่ายให้ เอกชนไม่เกินจากรายได้ที่มี ซึ่งพบว่า ตั้งแต่บริษัท เอเชีย เอรา วันฯ เข้าบริหารจัดการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 70 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีค่าใช้จ่ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

"ตามเงื่อนไข MOU รายได้แอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็นของ รฟท. บริษัท เอเชีย เอรา วันฯ ให้บริการเดินรถ เก็บรายได้ส่งให้ รฟท. แล้วแจ้งค่าใช้จ่าย จากนั้น รฟท.พิจารณา ดังนั้น กรณีมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย เอกชนต้องรับภาระเอง แต่หากรายได้สูงกว่ารายจ่าย ส่วนต่างก็เป็นของ รฟท. จะบอกว่า MOU นี้เอกชนเสียเปรียบรัฐก็ได้ ขณะที่ รฟท.มีคณะทำงานตรวจสอบการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่พบว่ามีปัญหาที่น่ากังวล" นายนิรุฒกล่าว

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 5.8 หมื่นคน-เที่ยว/วัน ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์มีผู้โดยสารเฉลี่ย 4 หมื่นคน-เที่ยว/วัน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 22 พ.ค. 2566 มีผู้โดยสารจำนวน 61,893 คน-เที่ยว ขณะที่ี่เมื่อปี 2562 มีผู้โดยสารเฉลี่ย ที่ 7.1 หมื่นคน-เที่ยว/วัน

ในด้านการให้บริการ พบว่ามีเหตุขัดข้องและสถิติความล่าช้าอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 เดือน ม.ค.มีเหตุขัดข้องจำนวน 5 ครั้ง (ระบบขับเคลื่อน 2 ครั้ง ระบบเบรก 1 ครั้ง ระบบประตู 1 ครั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ 1 ครั้ง) ขบวนรถล่าช้า 6-19 นาที

เดือน ก.พ.มีเหตุขัดข้อง จำนวน 3 ครั้ง (ระบบขับเคลื่อน) ขบวนรถล่าช้า 4-30 นาที เดือน มี.ค.มีเหตุขัดข้องจำนวน 2 ครั้ง (ระบบขับเคลื่อน) ขบวนรถล่าช้า 21-27 นาที เดือน เม.ย.มีเหตุขัดข้องจำนวน 2 ครั้ง (ระบบขับเคลื่อน) ขบวนรถล่าช้า 27-34 นาที

รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท เอเชีย เอรา วันฯ มีค่าบริหารจัดการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์สูงกว่าที่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริหารก่อนหน้านี้ สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่า 2 เท่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ซ่อมบำรุง ใกล้เคียงกัน เนื่องจากขบวนรถ และเที่ยววิ่งเหมือนเดิม ส่วนของรายได้ยังน้อยกว่า เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังกลับมาไม่เท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด


ทั้งนี้ รฟท. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) ลงนาม MOU แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 เพื่อให้เอกชนเข้าดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์์เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักในระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานยังไม่แล้วเสร็จ โดยมีการต่ออายุ MOU ทุก 3 เดือน เนื่องจากการเจรจาแก้ไข สัญญาสัมปทานยังไม่แล้วเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น