xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ ลุยทำ FTA เพิ่ม ตั้งเป้าปี 70 สัดส่วนการค้าเพิ่มเป็น 80%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการเจรจาการค้าของประเทศไทย ได้ตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งการเปิดเจรจา FTA กับประเทศใหม่ การเจรจาอัปเกรดความตกลง FTA ฉบับเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นและเปิดเสรีมากขึ้น หรือการศึกษาเพื่อทำ FTA ฉบับใหม่กับประเทศใหม่ๆ ที่มองว่ามีโอกาสทางการค้า การลงทุน

ในปี 2566 มีเป้าหมายการเจรจา FTA อย่างไร และเป้าหมายในอนาคต FTA จะมีความสำคัญต่อการค้าของไทยอย่างไร “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ในฐานะที่เป็นคีย์วูแมน ที่ขับเคลื่อนภารกิจการเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะมาให้คำตอบในเรื่องนี้

นางอรมนเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้การเจรจา FTA ที่มีความคืบหน้ามีอยู่ 5 กรอบ เริ่มจากไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่เพิ่งประกาศเริ่มต้นการเจรจาไปล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา และมีการเจรจารอบแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 16-18 พ.ค. 2566 ได้ตกลงกันว่าตั้งเป้าจะเจรจาให้จบภายใน 6 เดือน หรือภายในปีนี้ ส่วนกรอบไทย-สหภาพยุโรป (อียู) จะเจรจารอบแรกเดือน ก.ย. 2566 ตั้งเป้าใช้เวลาเจรจา 2 ปี น่าจะจบปี 2568 ไทย-EFTA เริ่มเจรจารอบแรกไปแล้ว เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 จะนัดคุยรอบที่ 5 เดือน มิ.ย.2566 คาดว่าจะจบใน 2 ปี หรือปี 2567 ไทย-ศรีลังกา เริ่มเจรจาปี 2561 นัดเจรจารอบที่ 5 เดือน มิ.ย.2566 ตั้งเป้าปิดรอบปี 2567 และอาเซียน-แคนาดา เปิดเจรจารอบแรก ก.ย. 2565 ตั้งเป้า 2 ปีจบ หรือจะจบในปี 2567

“สรุปการเจรจา FTA จะมีจบในปี 2566 จำนวน 1 กรอบ คือ ไทย-ยูเออี ปี 2567 จำนวน 3 กรอบ คือ ไทย-EFTA ไทย-ศรีลังกา อาเซียน-แคนาดา และปี 2568 อีก 1 กรอบ คือ ไทย-อียู”

ทั้งนี้ หลังจากจบการเจรจาได้ กรมจะเผยแพร่ผลการเจรจา เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าภายใน 6 เดือนเป็นอย่างช้า ส่วนจะบังคับใช้ได้เมื่อใด ขึ้นอยู่กับคู่เจรจาด้วย อย่างอียู มีสมาชิกเยอะก็ต้องใช้เวลาแปลเป็นภาษากลางของทุกประเทศ แต่ถ้าเป็นไทยกับคู่เจรจาก็ง่ายหน่อย เพราะประเทศเดียวน่าจะเร็วกว่า

อัปเกรด FTA ฉบับเดิม
นางอรมนกล่าวว่า ในการเจรจามี FTA ที่ทำกันอยู่แล้ว และจะต้องอัปเกรดการเปิดเสรีให้เข้มข้นขึ้น หรือมีการเปิดเสรีมากขึ้น โดยขณะนี้มีอยู่ 5 กรอบที่จะต้องดำเนินการ คือ การเจรจาอัปเกรดความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ซึ่งเริ่มเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2565 ตั้งเป้าจบในปี 2568 ใช้เวลา 3 ปี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จะขยายความร่วมมือเปิดเสรีให้มากขึ้น และเพิ่มความร่วมมือให้ครอบคลุมการค้าใหม่ๆ ตั้งเป้าจบภายในปี 2566 นี้ อาเซียน-จีน เริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2565 ตั้งเป้าจบปี 2567 อาเซียน-อินเดีย ตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือแผนการเจรจา จะมีกี่เรื่อง และเริ่มเมื่อไร และอาเซียน-เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างสองฝ่ายศึกษาที่จะเปิดทบทวน


FTA ฉบับคงค้างที่ต้องดันให้จบ

นอกจากการเจรจา FTA กับคู่ค้าใหม่ และการอัปเกรด FTA ที่มีอยู่ นางอรมนบอกว่า ยังมี FTA คงค้างการเจรจาอยู่อีกหลายฉบับที่จะต้องผลักดันให้สำเร็จ คือ ไทย-ตุรกี ที่ตอนนี้มีการเลือกตั้งอยู่ ก็ต้องรอไปก่อน และไทย-ปากีสถาน ซึ่งทางปากีสถานยังเงียบ ก็ต้องติดตามว่าจะเดินหน้ากันต่ออย่างไร

ลุยศึกษาทำ FTA กับคู่ค้าใหม่

นางอรมนกล่าวว่า กรมฯ ยังมีเป้าหมายในการขยายการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าใหม่ๆ ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่มีโอกาส และภาคเอกชนต้องการให้ทำ FTA เช่น อิสราเอล ภูฏาน เกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้ ไทยมี FTA ในกรอบอาเซียน-เกาหลีใต้ ก็อยากจะทำ FTA ไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์มากขึ้น เพราะเรามองว่ายังมีสินค้าอีก 10% ที่ยังไม่เปิดเสรี ไม่ได้อยู่ในอาเซียน-เกาหลีใต้ ถ้าอยากได้ทั้งตะกร้า ก็ต้องมาทำ FTA ระหว่าง 2 ประเทศ และยังมี FTA ที่จะทำกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) กลุ่มแอฟริกัน กลุ่มเมอร์โคชูร์ ที่มีสมาชิก 4 ประเทศ อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย ส่วนเวเนซุเอลากำลังรอให้สัตยาบัน

ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการค้าเป็น 80% ปี 70

จากแผนการเจรจา FTA ทั้งกับคู่ค้าใหม่ การอัปเกรด FTA เดิม และการศึกษาทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ ทำให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่มี FTA ให้เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันไทยมี FTA จำนวน 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีสัดส่วนการค้าในปี 2565 จำนวน 60.9% ของการค้าไทยกับโลก ได้ตั้งเป้าเพิ่มเป็นสัดส่วน 80% ของการค้าไทยกับโลก ในปี 2570

นางอรมนอธิบายว่า ถ้าลองนับดูตอนนี้ ถ้าไทยทำ FTA กับอียูสำเร็จ ก็จะมีสัดส่วนการค้าเพิ่มมาอีก 7% ยูเออี 3.5% EFTA 2% แคนาดา 0.6% ตุรกี 0.3% ปากีสถาน 0.3% ศรีลังกา 0.1% กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก 1.1% กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) 6.7% เมอร์โคซูร์ 1.3% บวกไปบวกมาได้ 80% แต่บางประเทศสัดส่วนการค้าไม่เยอะ แต่เป็นประเทศที่ไม่ผลิตอะไร นำเข้าอย่างเดียว ก็เป็นโอกาสทางการค้าของไทย อย่างภูฏาน ที่มีสัดส่วนการค้าน้อยมาก แต่ก็มีโอกาสมาก หรือบางประเทศ ก็มีโอกาสในการเปิดตลาดสินค้าเกษตร

“ถ้าเราเพิ่มสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA ได้มากขึ้น ก็จะเกิดประโยชน์กับไทยมากขึ้น ทั้งในด้านการค้า การลงทุน เพราะตอนนี้ต่างชาติ นักลงทุนต่างชาติก็มาถามตลอด ไทยมี FTA กับใครบ้าง FTA ใหม่ๆ เจรจาไปถึงไหนแล้ว ทำให้เราต้องมาเร่งทำ FTA เพื่อทำให้ไทยเป็นที่สนใจ ถ้าไม่ทำเดี๋ยวตกขบวน” นางอรมนกล่าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นอกจาก FTA ที่จะต้องขับเคลื่อน นางอรมนกล่าวว่า ยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ที่ไทยจะเดินหน้าร่วมมือกับประเทศคู่ค้า เพราะบางประเทศมี FTA อยู่แล้ว แต่อยากที่จะร่วมมือกันมากขึ้นแบบพุ่งเป้า แบบร่วมมือเป็นรายสาขา เช่น ออสเตรเลียมี FTA แล้ว ภาษีนำเข้าเป็น 0% แล้ว ก็อยากกระชับความสัมพันธ์เพิ่มขึ้น เช่น ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว บริการสุขภาพ การศึกษา ดิจิทัล พลังงาน ซึ่งตั้งเป้าจะคุยกันให้จบภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน จะเริ่มเดินหน้าทำกิจกรรมกับสหราชอาณาจักร เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ เพราะยังไม่พร้อมทำ FTA โดยจะร่วมมือกันในสาขาการเกษตร อาหาร เครื่องดื่ม ดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งหากร่วมมือกันได้ ก็จะพัฒนาและปูทางไปสู่การทำ FTA ระหว่างกันในอนาคตต่อไป

ลุยใช้เวที JTC ขยายการค้า ลงทุน

สำหรับการขยายความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน นอกเหนือจากการทำ FTA แล้ว นางอรมนกล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนที่จะใช้เวทีคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ที่ไทยมีกับคู่ค้า เพื่อเป็นเวทีเปิดทางความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ ซึ่งเวทีนี้ เป็นเวทีระดับรัฐมนตรี โดยกรมได้เตรียมการไว้แล้ว แต่ก็ต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่ มีรัฐมนตรีใหม่เข้ามาก่อน ก็จะเสนอเพื่อเดินหน้าทันที โดยมีกรอบที่จะไปหารือเจรจา เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ภูฏาน และจีน เป็นต้น

เร่งผุดกองทุน FTA ช่วยดูแลผู้กระทบ

เมื่อมีการเปิดเสรีเพิ่มขึ้น ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้ามากขึ้น แต่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยนางอรมนได้กล่าวถึงความคืบหน้าของกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA ที่จะนำมาใช้ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีว่า ขณะนี้กองทุน FTA ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ตอนนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA และจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA ต่อ ครม. ตามกระบวนการตรากฎหมาย ซึ่งคงต้องรอรัฐมนตรีใหม่ และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา

ส่วนแหล่งที่มาของรายได้กองทุน ได้ของบประมาณไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณประเดิม และอีกส่วนจะมาจากคนที่ได้ประโยชน์จาก FTA ที่จะเอามาสมทบกองทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) แต่ก็ยังต้องคุยกันต่อ ยังไม่ชัด หรือคนที่ได้ประโยชน์จากการนำเข้า เสียภาษีต่ำ หรือไม่เสียภาษี แต่ถ้าจะไปเก็บ ก็จะถูกมองว่ามาจากไหน หรือการบริจาคสมทบ หักภาษีได้ แต่ก็ต้องคุยกับกระทรวงการคลัง มีหลักเกณฑ์ มีวัตถุประสงค์ยังไง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังไม่ยุติ ต้องหารือกันต่อ แต่สุดท้าย เพื่อให้การเจรจา FTA ต่างๆ เดินหน้าได้ รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการที่จะนำมาใช้ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ
กำลังโหลดความคิดเห็น