xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.หนี้ท่วม 2 แสนล้าน ปี 67 ชงกู้ 1.8 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่อง “นิรุฒ” เร่งแผนฟื้นฟูหารายได้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟท.บักโกรก ปี 67 คาดขาดกระแสเงินสด 1.8 หมื่นล้านบาท บอร์ดไฟเขียวชง ครม.ขอกู้เสริมสภาพคล่อง “นิรุฒ” เผยหนี้ 2 แสนล้านบาทดอกเบี้ยเพิ่มทุกปี ต้องเร่งแผนฟื้นฟู สร้างรายได้ทรัพย์สินและขนส่งสินค้าเพิ่ม

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 มีมติอนุมัติให้ รฟท.กู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย) ของ รฟท.ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน18,000 ล้านบาท จากการจัดทำประมาณพบว่าจะขาดกระแสเงินสดประจำปี 2567 เนื่องจากผลประกอบการไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง 

หลังจากนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคม 
 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งทาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง จะให้ความเห็นต่อ ครม.พิจารณากรอบวงเงินกู้ และแหล่งเงินที่เหมาะสมต่อไป 

ปัจจุบัน รฟท.มีภาระหนี้สินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งตามบัญชี รฟท.เป็นเจ้าหนี้รัฐบาล เพราะรัฐไม่ให้เงินอุดหนุน ตามที่ รฟท.ต้องแบกรับภาระด้านบริการเชิงสังคม และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย และต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลต่อบัญชีที่มีตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้น 

“ภาระทางบัญชีของ รฟท.เหมือนดินพอกหางหมู ดอกเบี้ยวันนี้จะกลายเป็นเงินต้นในอนาคต จึงจะต้องหารายได้เพิ่มไปจ่ายดอกเบี้ย และแนวทางหนึ่งคือ แผนฟื้นฟู เพื่อห้ามเลือด ไม่เช่นนั้นหนี้และดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะรายได้เหลือไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอื่น”


ทั้งนี้ จากประมาณการกระแสเงินสด ปีงบประมาณ 2567 พบว่าจะมีรายรับรวมจำนวน 10,661.094 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้การโดยสารจำนวน 2,957.46 ล้านบาท รายได้การสินค้า จำนวน 2,467.46 ล้านบาท รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง จำนวน 327 ล้านบาท (รายได้โดยสาร 217 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชยฺ 110 ล้านบาท) รายได้จากการบริหารทรัพย์สิน จำนวน 3,736.806 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมการดำเนินงาน ICD ที่ลาดกระบัง จำนวน
499.812 ล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานอื่น จำนวน 503.526 ล้านบาท

ประมาณการค่าใช้จ่ายรวม 24,195.301 
ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายบำรุงทางอาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 3,514.988 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง จำนวน 1,111.285 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารถจักร และล้อเลื่อน จำนวน 3,824.142 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินรถขนส่ง จำนวน 9,342.678 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 1,005.064 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญ จำนวน5,397.144 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเงินกู้ จำนวน 5,436.331 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น