xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ยูเออีนับหนึ่งเจรจา FTA จ่อทำสถิติไวสุดคุย 6 เดือนจบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“จุรินทร์” ประกาศร่วมรัฐมนตรีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) นับหนึ่งการเจรจา FTA ไทย-ยูเออี ใช้เวลาสั้นที่สุดเพียงแค่ 3 เดือนก็เดินหน้ากันได้ นัดประชุมครั้งแรก 16-18 พ.ค.นี้ ตั้งเป้าเจรจาให้จบภายใน 6 เดือน เผยเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในตะวันออกกลาง มีประโยชน์ทั้งเป็นประตูการค้าสู่ GCC เพิ่มมูลค่าการส่งออก คาดปีแรกไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับ ๆๆดร.ธานี บินอาเหม็ด อัลเซ ยูดี รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่โรงแรมเรเนซองส์ จังหวัดภูเก็ต ว่า ได้ร่วมกันประกาศครั้งประวัติศาสตร์ทางการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยนับหนึ่งเปิดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ยูเออี ซึ่งทุกอย่างได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว นับจากที่ตนได้นำคณะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเยือนยูเออีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา จากนั้นเพียง 3 เดือนก็สามารถประกาศเริ่มการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันได้ หรือเรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA)

ทั้งนี้ การเริ่มต้นการเจรจากำหนดไว้วันที่ 16-18 พ.ค. 2566 โดยยูเออีจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งแรกที่ดูไบ ซึ่งได้มอบหมายให้นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะไปเจรจา ตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

นายจุรินทร์กล่าวว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย FTA ไทย-ยูเออี จะถือเป็น FTA ฉบับประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่งที่สามารถทำได้เร็วที่สุด คาดว่าจนเสร็จใช้เวลาเพียง 9 เดือน และจะเป็น FTA ฉบับแรกของไทยที่ทำกับประเทศในตะวันออกกลาง โดย FTA ฉบับนี้เมื่อประสบความสำเร็จ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ระหว่างสองประเทศ โดยประการที่หนึ่ง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับไทย คือ สามารถใช้ยูเออีเป็นประตูส่งสินค้าและบริการไปยังอีก 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับหรือ GCC ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต โดยอัตโนมัติ

ประการที่สอง จะช่วยเพิ่มตัวเลขการส่งออกที่ไทยจะส่งออกไปยังยูเออี คาดว่าจะสูงขึ้นมาก โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-ยูเออี ในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 730,000 ล้านบาท เป็นการส่งออกไทยไปยูเออี มูลค่า 119,000 ล้านบาท คาดว่าจากการทำ FTA แล้วจะเพิ่มมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 10% ทันที หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี และอาจจะทำได้มากกว่านั้น

สำหรับสินค้าจะได้รับประโยชน์ทันที เช่น อาหาร อาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแปรรูป สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เป็นต้น ส่วนภาคบริการ ไทยจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง และจะทำให้ไทยมี FTA กับคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยจะเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย กับ 19 ประเทศ และถ้า FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เสร็จสิ้น จะมีผลให้มี FTA เพิ่มเป็น 16 ฉบับ กับ 46 ประเทศ






กำลังโหลดความคิดเห็น