“น้ำพริก 1 เซ็ตมี 4 รสชาติ ฉลากเขียวปูนาปลาย่าง แดงตาแดงมันปูนา เหลืองน้ำพริกเผาปูนาไข่เค็ม และสีดำนรกมันปู รวมทั้งมีอาหารปรุงสด ยำปูดอง หลนปูนา ข้าวผัดมันปู ข้าวผัดน้ำพริกปูนา ฯลฯ จะเปิดขายช่วงเสาร์-อาทิตย์และนักขัตฤกษ์ด้วย”
การทำงานประจำทำให้ไม่มีเวลา ที่จะดูแลซึ่งกันและกันได้ อย่างครอบครัวที่ควรจะเป็นเพราะตื่นเช้าขึ้นมา ก็ต้องเตรียมตัวออกจากบ้านเดินทางเพื่อไปทำงาน เป็นอย่างนี้ปีแล้วปีเล่าจนนำมาสู่การตัดสินใจ “เลี้ยงปูนา”คุณมารุต คลองตะเคียน เจ้าของมาณิการ์ฟาร์มปูนา เล่าให้ฟังว่า เดิมทีฟาร์มแห่งนี้จะเป็นการเลี้ยงหมูขุนซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัวที่ตนเองเป็นคนดูแลอยู่ ส่วนภรรยาซึ่งเมื่อก่อนนี้จะทำงานประจำ ก็เลยเป็นสาเหตุว่าเมื่อ4 ปีที่แล้วตนลองเอ่ยปากชวนดูก่อน สนใจอยากจะเลี้ยงปูนาดูบ้างไหม ด้วยหวังว่าจะเป็นอาชีพใหม่ที่ทำให้ทุกคนได้อยู่ด้วยกันดูแลกันในครอบครัวได้ ซึ่งภรรยาก็ตอบกลับมาว่าสนใจ ตอนนั้นกระแสของปูนาที่เห็นผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าใคร ๆ ก็มาเลี้ยงปูนากัน แต่สิ่งที่ตนเองมองต่างคือ ถ้าทำแล้วมันต่อยอดอะไรได้บ้าง
“ปูนาออร์แกนิค” ปรับวิธีการจนได้สูตรสำเร็จของฟาร์ม
เจ้าของมาณิการ์ฟาร์มปูนา บอกว่า เริ่มต้นเลยของที่ฟาร์มจะเลี้ยงปูนาในระบบ “น้ำใส”แบบกระชังบกแบบนี้ก่อน และส่วนที่มี “บ่อดิน” ด้วยอันนั้นคือเป็นบ่อสำหรับการเพาะขยายพันธุ์“ด้วยการเลี้ยงแบบนี้(กระชังบก) คือเราฝืนธรรมชาติเราแค่ลอกเลียนแบบตามธรรมชาติ แต่มันไม่ใช่ธรรมชาติ100% เราทำให้ใกล้เคียงที่สุด แต่สุดท้ายแล้วการเจริญเติบโตในดินจะดีกว่า แล้วปริมาณพื้นที่มากกว่า อันนี้แค่ 400 ตร.ม. อันโน้น(บ่อดิน) เกือบ 1000 ตร.ม. พื้นที่บ่อ เพราะฉะนั้นผมปล่อยปูไป2000 กว่าตัว เฉพาะบ่อดินนะ เพื่อที่เราจะขยับขยายลูกออกมาเมื่อถึงเวลาที่ได้ไซส์ที่ต้องการ”
ชุดไหนกระชังไหนจะเอาไปแปรรูป 1 เดือนล่วงหน้าจะต้องทำการขุนอาหารให้สมบูรณ์ที่สุด ที่นี่จะมีการให้อาหารอย่างเป็นโปรแกรม คือหลัก ๆ อาหารของปูนาที่นี่จะให้ “ผลไม้” เป็นหลัก เพราะว่าที่ฟาร์มจะใช้คำว่า “ปูนาออร์แกนิค” คือจะไม่ใช้ดินเลย แต่ที่มี 2 ระบบ โดยที่ “บ่อดิน” จะเป็นบ่อดินอินทรีย์ ซึ่งไม่มีสารเคมีแน่นอน เป็นบ่อดินที่สร้างขึ้นมาเพื่อเลี้ยงปูนาโดยเฉพาะ หลังจากที่เลี้ยงได้ปูไซส์ที่ต้องการ เช่น3 เดือนขึ้นไป ก็จะให้คนงานจับขึ้นมา เข้าสู่กระบวนการบำบัด(กักน้ำ) เพื่อที่จะให้ปูคายกลิ่นดินกลิ่นโคลนออก แต่เรื่องพยาธิเรื่องปลิงไม่มี ด้วยวิธีการของฟาร์ม“เราต้องการคำว่าคุณภาพและมาตรฐานเพราะฉะนั้นในขั้นตอน1 เดือนที่อยู่กับเรา เราจะใส่พวกใบหูกวางตากแห้ง หรือเกลือสินเธาว์ หรือยาสูบ(ยาเส้น) สามารถเอามาแช่ในน้ำเพื่อเป็นการฆ่าปลิงฆ่าพยาธิได้”
จุดหนึ่งหลังจากที่ได้เริ่มทำแปรรูป รู้สึกว่ากำลังการผลิตของปูนายังไงก็ไม่ทัน เพราะฉะนั้นก็เลยต้องทำเป็น2 ระบบ แต่สุดท้ายก็ต้องมาผ่านกระบวนการตามมาตรฐานของมาณิการ์ฟาร์มฯ เช่น บำบัด/เปลี่ยนน้ำทุก2 สัปดาห์ เพื่อให้ปูคายกลิ่นดินกลิ่นโคลนต่าง ๆ ออกมา
ต่อยอดผลผลิตสู่เมนูแปรรูปปูนา(ใครชิมแล้วก็บอกให้ทำขาย)
ฟาร์มแห่งนี้ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และผลิตภัณฑ์แปรรูปได้รับมาตรฐาน Fisherman Shop ของกรมประมงได้ไปวางขายใน Shop บางเขนด้วย โดยเจ้าของได้เท้าความให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนชอบทำกับข้าว ก็เลยคุยกันกับแฟนว่า “ปูนา” มันทำอะไรได้บ้าง ก็ลองผิดลองถูกมา เพราะจุดเริ่มต้นคือเลี้ยงแล้วขายเป็น “พ่อแม่พันธุ์” แต่พอมาถึงจุดหนึ่งเรามายืนอยู่ตรงนี้“ผมไม่อยากเป็นแค่พ่อค้าเหมือนขายหมู เราขายหมูเป็น ๆ ปูเราก็ขายแค่พ่อแม่พันธุ์ แต่ด้วยความชื่นชอบแล้วก็ก่อนหน้านั้นก่อนที่ผมจะมาคิดอย่างนี้ มันมีเมนูปูนาเข้ามาอยู่ในครอบครัวของเราแล้ว อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างก็ชิมกันไป เพราะเราทำทานกันเองก่อน พอเพื่อนมาให้เพื่อนชิม อุ้ยโอเค! ให้น้องมาชิม โอเค ช่วงนั้นที่ทำก็จะเป็นปูผัดพริกไทยดำ1 ตัวสับเป็น4 ส่วนแล้วเอาไปคลุกแป้งทอดให้กรอบ ค่อยเอามาผัดพริกไทยดำ และก็มาลองทำเป็นน้ำพริกเพราะคนแก่คนโบราณเขาชอบทำลาบปูนา ทำยำปูนา แต่ว่าคนสมัยใหม่ไม่รู้จัก ผมเองก็ทำไม่เป็นหรอกครับ แต่เนื่องด้วยน้ำพริกไทย ๆ อย่างพวกนี้คือน้ำพริกไทย ๆ เราเองนะ แต่ผ่านการปรุงรสปรุงแต่งใหม่ ด้วยใช้ “มันปูนา” เป็นหลัก ใช้เนื้อปูนาเป็นหลัก”
การทำเมนูคือจะใส่วัตถุดิบหลัก(จากปูนา) แบบไม่มีการหวงของเลย เพราะ ณ วันนั้นยังไม่คิดว่าจะมาเป็นพ่อค้าขายน้ำพริก
เพราะฉะนั้นทำยังไงก็อร่อยเพราะใส่ทุกอย่างที่คิดว่ามันจะอร่อย พอกินแล้วทุกคนก็ติดใจ “พอกระแสเริ่มแบบเชียร์ พี่ทำขายเถอะ! ถ้าจะอร่อยขนาดนี้นะพี่ขายเถอะ คืออะไรมาวะถึงกินฟรีรึเปล่าเนี่ย คือแบบว่าทำให้รู้สึกแบบคือ พอมันถี่ ๆ ขึ้น ก็ไม่ลองก็ไม่รู้”เริ่มจากว่าเอาไปให้ชิมเริ่มวงกว้างขึ้น ก็คือเพื่อนบ้าน ลูกค้าหมู ช่วยชิมหน่อยขอความจริงนะ! เขาก็บอกอร่อย พออร่อยก็เริ่มจากซื้อกระปุกมาใส่แล้วก็ขาย เขาก็ซื้อ พอมีคนซื้อก็เลยไปซื้อเครื่องซีลมาเลย(แบบฝาซีลปลากระป๋อง) และด้วยกรรมวิธีทำให้มันผ่านความร้อน และสะอาดขึ้น อุปกรณ์การใช้ที่เป็นสแตนเลสไม่มีสนิม เพราะว่าเราก็ต้องนึกถึงผู้บริโภคเราอยากได้อะไร เราชอบแบบไหน คนที่เราจะขายของให้หรือผู้บริโภคเราควรต้องให้สิ่งนั้น
เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ปรุงเมนูอาหารสดออกตลาดอีกทางด้วย!
เจ้าของมาณิการ์ฟาร์มปูนา บอกด้วย ในส่วนของน้ำพริกทำมาได้ประมาณปีกว่าแล้ว ช่วงแรก ๆ จะเป็นลักษณะของการพรีออร์เดอก่อน แต่ว่าตอนหลังมานี้คือจะผลิตทุกสัปดาห์(จะไม่สต็อก) เพราะอยากให้ลูกค้าได้ทานของที่ใหม่ ๆ ดีกว่า“คือเปิดฝาออกมาปั๊บ ลูกค้าว้าว! แล้วความรู้สึกแบบแล้วผมไปออกบูธขายเองโอ้โหมันใช่! เรารู้สึกว่าพี่ครับคือ ขาดทุนไม่ว่า แต่เสียหน้าไม่ยอม!” จากนั้นมาก็มีการพัฒนาสูตรเรื่อย ๆ เป็นยำปูนา เป็นหลนปูนา ฯลฯ มันเลยเป็นความสนุกเป็นความชื่นชอบแล้ว
และในส่วนของอาหารปรุงสด(ใหม่) นี้ก็จะไปจำหน่ายอยู่ที่ “ตลาดหัวปลี” อำเภอพุแค เป็นโอทอปของจังหวัดสระบุรี จะขายในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์“อย่างเมนูที่จะสาธิตวันนี้ก็คือ ยำปูนา เราก็อยากนำเสนอยำปูนาดองน้ำปลากวน ซึ่งเป็นน้ำยำปลาร้าปรุงสุก แซ่บแน่นอนจ้ะถ้าไม่แซ่บไม่ได้ออกจากฟาร์มแน่นอนจ้ะเมนูนี้”สำหรับเมนูอาหารที่ทำขายก็จะมีทั้ง หลนปูนา ข้าวผัดมันปู ข้าวผัดน้ำพริกนรกมันปู ข้าวคลุกตาแดง และก็ยังมีค๊อกเทลเสริมเช่น ไส้กรอกไก่หนังกรอบ นักเก็ต ส่วนข้าวมันปูจะใช้ “มันปูนา” เหลือง ๆ ผัดกับข้าวหอมมะลิ เสริมด้วยท้อปปิ้งก็จะเป็น ไส้กรอกไก่หนังกรอบ นักเก็ต และมีตัวท็อปที่เสริมขึ้นไปก็คือ ปูนาชุบแป้งทอดกรอบ ๆ เป็นท้อปปิ้งเสริมเพื่อที่จะเป็นจุดเด่นของข้าวผัดปู สำหรับคนที่สนใจสามารถไปทานได้ที่ตลาดหัวปลีตามวันที่เปิดจำหน่าย แต่หากสนใจ “น้ำพริก” ก็สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้เลยและทางฟาร์มยังเปิดรับ “ตัวแทนจำหน่าย” ด้วย
ปัจจุบันทางฟาร์มมีกำลังการผลิต “น้ำพริก” อยู่ที่ประมาณ80 กก./1 รสชาติ โดยมีทั้งหมด4 รส หรือคิดเป็นปริมาณปูนาที่ใช้อยู่ประมาณ 50 กก./สัปดาห์ เป็นผลผลิตในฟาร์มเองและรับซื้อเข้ามาเพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการแปรรูปทั้ง ในส่วนของน้ำพริกและอาหารปรุงสด
สอบถามเพิ่มเติม โทร.064-643-7365 FB : มาณิการ์ ฟาร์มปูนา สระบุรี
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด