กรมธุรกิจพลังงานแย้มร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan ปี 66-80 พร้อมรับมือการใช้น้ำมันที่ลดลงเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด มั่นใจแผนใหม่สร้างประโยชน์คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ปักหมุด 5 ปี (ปี 66-70) เล็งปรับสำรองน้ำมัน ลดชนิดน้ำมันในปั๊มลง หนุนโรงกลั่นลงทุน 34,900 ล้านบาทภายใน 5 ปีเปลี่ยนไปสู่โรงกลั่นชีวภาพและปิโตรเคมีขั้นสูง
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธพ.ได้จัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan ปี พ.ศ. 2566-80) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แผนย่อยที่จะประกอบเป็นแผนพลังงานชาติซึ่งเตรียมที่จะเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนร่วมกับแผนพลังงานด้านต่างๆ โดยสาระสำคัญของแผนมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่โลกมุ่งสู่พลังงานสะอาดและจะกระทบต่อการใช้น้ำมันที่เป็นพลังงานฟอสซิลที่ลดลง โดยคาดว่าการขับเคลื่อน Oil Plan ตลอดแผนจะเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท ที่ประกอบด้วยด้านสังคมคือการช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานและกลุ่มแปรรูปผลผลิต (ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง) มีรายได้ 170,000 ล้านบาทต่อปี ด้านเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ของกลุ่มโรงกลั่น 34,900 ล้านบาท (ในระยะ 5 ปี) และยังเกิดประโยชน์ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมา
สำหรับแผนดังกล่าวได้กำหนดทิศทางการดำเนินการในระยะ 5 ปี (2566-70) ผ่านแผนปฏิบัติราชการ ธพ.ที่ปรับปรุงใหม่ ได้แก่
1. บริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้มีความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเตรียมศึกษาปรับปรุงอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานร่วมกับผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7
2. การบริหารชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งด้วยการลดชนิดน้ำมันและส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโดยในปี 2567 มุ่งให้น้ำมันดีเซล B7 เป็นดีเซลหลัก แต่หากผลทดสอบยูโร 5 สามารถใช้กับดีเซล B10 ได้ก็จะปรับเป็น B10 ในอนาคต ส่วนกลุ่มเบนซินกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ E10 และ E20 เป็นเบนซินชนิดหลักภายในปี 2570 ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ภาคขนส่งมุ่งส่งเสริมให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด
3. ส่งเสริมการใช้และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งส่งเสริมระบบขนส่งน้ำมันทางท่อให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ผ่านการบริหารที่มุ่งเน้นแบบ Single Operator เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศ CLMV นอกจากนี้ กรมยังได้ร่วมมือกับ 3 การไฟฟ้า สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน และสถานีบริการทั่วประเทศ ส่งเสริมการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าสาธารณะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเร่งจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นทิศทางเดียวกัน และพัฒนาการให้บริการให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว สร้างความโปร่งใสในการบริหารงานผ่านระบบ e-Service คาดว่าจะศึกษาจัดวางระบบได้ภายในปี 2566 และเปิดขออนุมัติ อนุญาตกิจการด้านความปลอดภัยได้ภายในปี 2567 และขยายการใช้งานระบบไปยังส่วนภูมิภาคได้ภายในปี 2568
4. ส่งเสริมธุรกิจใหม่ (New Businesses) โดยการสนับสนุนการปรับตัวของโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมจากผลกระทบการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยมุ่งให้โรงกลั่นปรับไปสู่โรงกลั่นชีวภาพ และนำไปสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง โดยจะเป็นตัวกลางในการประสานการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 34,900 ล้านบาทภายใน 5 ปี