จีนเร่งพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์เพื่อเติมเต็มปัญหาการขาดแคลนความเชี่ยวชาญที่ถูกซ้ำเติมจากความพยายามของอเมริกาในการขัดขวางไม่ให้ปักกิ่งเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในจีน เนื่องจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับทุนสนับสนุนก้อนใหม่ รวมถึงสถานศึกษาเอกชนขนาดเล็กหันมามุ่งเน้นหลักสูตรระยะสั้นมากขึ้น
บัณฑิตปริญญาตรีจากสาขาอื่นๆ บางส่วนถูกดึงดูดเข้าสู่อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตนี้ที่มีเงินเดือนขั้นต้นสูงกว่างานอื่นๆ สองเท่า
คลารา จ้าว นักศึกษาจากภาควิชาวัสดุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง บอกว่า อุตสาหกรรมชิปมีแนวโน้มสดใสมาก ขณะที่การจ้างงานวิศวกรซอฟต์แวร์จากมหาวิทยาลัยธรรมดาทั่วไปไม่เคยดีแบบนี้มาก่อน
ปัจจุบัน จีนขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมชิปราว 200,00 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลเอกสารปกขาวที่ศูนย์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศจีน ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองของทางการปักกิ่ง ร่วมเผยแพร่กับสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีน (CSIA)
การอุดช่องว่างนี้มีความสำคัญมากขึ้นขณะที่อเมริกาพยายามทุกวิถีทางเพื่อตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานโลก เนื่องจากกลัวว่า สุดท้ายแล้วชิปขั้นสูงของตนเองจะถูกกองทัพจีนนำไปใช้ประโยชน์
หลิว จงฟาน สมาชิกสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ด้านนอกการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในเดือนมีนาคมว่า ปักกิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมบุคลากรมีทักษะมากกว่าการแสวงหาวิธีแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม นักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญหลายคนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หลักสูตรชิปของจีนยังขาดประสบการณ์ภาคปฏิบัติแบบที่สถาบันการศึกษาขั้นสูงในไต้หวันและอเมริกานำเสนอ
ผลสำรวจความคิดเห็นของบริษัทวิจัย ไอซีไวส์ ที่จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้วพบว่า นักศึกษากว่า 60% จากสาขาวิศวกรรมชิปในจีนสำเร็จการศึกษาโดยไม่มีประสบการณ์การฝึกงาน
บัณฑิตจบใหม่และนักวิชาการหลายคนสำทับว่า มหาวิทยาลัยจีนมีแนวโน้มให้รางวัลศาสตราจารย์ในทุกสาขาวิชาที่ตีพิมพ์งานวิจัยมากกว่าศาสตราจารย์ที่สอนระเบียบวิธีวิจัยทันสมัยที่เป็นประโยชน์ในห้องปฏิบัติการหรือโรงงานผลิตชิป
ขณะที่ในไต้หวันนั้น ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอร์ (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทชิปชั้นนำ ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยในมหาวิทยาลัย 4 แห่ง
หวัง จื่อหยาง บัณฑิตใหม่ที่ทำบล็อกเกี่ยวกับแนวโน้มการว่าจ้างในอุตสาหกรรมชิปบนเครือข่ายโซเชียลมีเดีย Maimai ที่มีผู้ติดตามกว่า 90,000 คน บอกว่า การร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจของไต้หวันเป็นสิ่งที่ดีมาก นักศึกษาปริญญาโทอาจใช้เวลาเรียน 3 ปี แต่อยู่ในคลาสจริงแค่ 6 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จีนเริ่มมีพัฒนาการในด้านนี้ หลังจากเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง อินเตอร์เนชันแนล (SMIC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดในประเทศ ประกาศร่วมจัดตั้งสกูล ออฟ อินทิเกรดเท็ด เซอร์กิตส์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซินเจิ้น
การรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาโทเข้าเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมชิปของมหาวิทยาลัยชั้นนำ 10 แห่งของจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าระหว่างปี 2018-2022 เป็น 2,893 คน ใกล้เคียงกับจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เพิ่มขึ้นในสาขาวิชานี้ กระนั้น การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในอุตสาหกรรมชิปยังเป็นโครงการระยะยาว
หู ยุนหวัง ผู้ก่อตั้งบริษัทจัดหางานสำหรับอุตสาหกรรมชิปในเซี่ยงไฮ้ เผยว่า เงินเดือนต่อปีสำหรับวิศวกรจบใหม่ในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นสองเท่านับจากปี 2018 จาก 200,000 หยวน (28,722.43 ดอลลาร์) เป็น 400,000 หยวน ตอกย้ำความไม่สมดุลระหว่างซัปพลายกับดีมานด์
นอกจากนั้นขณะนี้ยังมีสถาบันการศึกษาเอกชนจำนวนมากแข่งกันนำเสนอวิธีแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยโปรแกรมฝึกอบรมพิเศษที่เสนอหลักสูตรเร่งรัดโดยพุ่งเป้าที่บัณฑิตปริญญาตรีจากสาขาวิชาที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิศวกรรมชิป
ตัวอย่างเช่น EeeKnow ที่ก่อตั้งโดยอดีตวิศวกรของอาร์ม ลิมิเต็ดในเซี่ยงไฮ้ นำเสนอหลักสูตรอาทิ การออกแบบ พัฒนา และตรวจสอบ Cortex-M3 MCU ภายใน 60 วัน โดยคิดค่าเล่าเรียน 2,000-4,000 หยวน
แอ็บเนอร์ เจิ้ง ที่จบจากภาควิชาวัสดุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเฉิงตู บอกว่า เขาสมัครเรียนกับ EeeKnow หลังจากอ่านโพสต์บนบล็อกที่แนะนำเกี่ยวกับโอกาสในอุตสาหกรรมชิป และตอนนี้เจิ้งทำงานในบริษัทจีนแห่งหนึ่งที่ผลิตชิปประมวลผลภาพ
เขาบอกว่า ถ้าไม่ย้ายมาทำสายวิศวกรรมชิป เขาอาจหางานในอุตสาหกรรมการผลิตดั้งเดิมอย่างรถหรือเครื่องจักรกล แต่เขาคิดว่า อุตสาหกรรมดาวรุ่งอย่างชิปน่าจะมีลู่ทางอนาคตที่ดีกว่า