สกัดกันทุกช่องทาง เตะตัดขา “ท่านเปารื่นวดี” กลับศาลไคฟง ปล่อยข่าวสาดเสียเทเสีย บริหารงานผิดพลาดสร้างความเสียหายนักลงทุน แถมทำองค์กรแตก ทั้งที่ตอนตัดสินนั่งร่วมโต๊ะด้วยกันเป็นสิบ แต่กลับ “ลอยตัว” โบ้ยให้คนคนเดียว “เอเชีย เวลท์” เกี่ยวโยงใคร , แบ็คอัพ Zipmex ใครก็รู้, KUB Coin ยังลอยนวล นั่งประชุมคนเดียวเหรอ?
ท่าทางตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนที่ 13 จะกลายเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหลังจากที่ประชุม คณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2566 มีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 4 ไม่ต่อวาระการทำงาน ในตำแหน่งเลขาธิการก.ล.ต.ของ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล โดยถือเป็นมติอย่างเป็นทางการ จากนั้นพบว่าเริ่มมีผู้บริหารสถาบันการเงิน และองค์กรภาครัฐหลายแห่งแสดงความสนใจ หรือถูกชักชวนให้เข้ามาสมัครชิงตำแหน่งดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงเวลาดังกล่าวมีรายงานว่า เสียงส่วนใหญ่ 6 เสียง ให้เหตุผลของการไม่ต่ออายุการดำรงตำแหน่งเลขาฯ ก.ล.ต.โดยอัตโนมัติให้กับ น.ส.รื่นวดี เนื่องจากเห็นว่าในแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานกำกับ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รวมถึง ก.ล.ต.เองนั้น เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ควรจะต้องเปิดสรรหาผู้นำองค์กรใหม่ แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้คนเก่ามาลงสมัครใหม่เพื่อเข้ารับการสรรหาได้ ดังนั้นในกรณีของ เลขาฯ ก.ล.ต.นี้ ก็เช่นเดียวกัน คือ จะต้องมีการเปิดสรรหา และน.ส.รื่นวดี ยังสามารถกลับมาสมัครใหม่ได้
"เสียงส่วนใหญ่ 6 เสียง ไม่ให้ต่ออายุอัตโนมัติ เนื่องจากมองว่า ก.ล.ต.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล เหมือนกับ ธปท. หรือ คปภ. เมื่อผู้บริหารครบวาระ ก็ต้องมีการเปิดสรรหาใหม่ ดังนั้น ก.ล.ต.ก็ควรจะต้องเป็นแบบนั้น เพราะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกำกับดูแลเหมือนกัน รวมทั้งเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมด้วย ขณะที่เสียงส่วนน้อย 4 เสียง ให้เหตุผลของการต่ออายุโดยอัตโนมัติในตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. เนื่องจากมองว่าที่ผ่านมา น.ส.รื่นวดี ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว" แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีกระแสข่าว ท่านเลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน ก็ไม่ยอมรับก้มหน้ารับโชคชะตาแบบนี้ จึงพร้อมที่จะเข้าร่วมลงสมัครตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.อีกสมัยด้วยเช่นกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประเด็นการต่อวาระการทำงานได้ทำให้ภายในบอร์ด ก.ล.ต.สั่นสะเทือน ลือกันว่ามีความขัดแย้งกันอย่างหนัก ในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและความเหมาะสมของ “รื่นวดี” ซึ่งกำลังจะทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต. จนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้
งานนี้แม้ไม่รู้ท้ายที่สุดจะออก “หัว”หรือ “ก้อย” แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ “เลือดนักสู้แบบยิบตา” ในตลาดทุนไทย เพราะแม้จะไม่ได้รับมติต่อวาระการดำรงตำแหน่ง แต่บอร์ดก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะคัดค้านหรือห้ามไม่ให้ “รื่นวดี” ยื่นใบสมัครเข้าชิงตำแหน่งอีกครั้ง
แต่สิ่งที่น่าสมเพชของเรื่องดังกล่าว กับเป็นเรื่องการออกมาก้าวสกัด หรือขัดขวางทางสิทธิผู้อื่นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของคนบางกลุ่ม ทำให้งานนี้เชื่อขนมได้ว่าการดำเนินงานของ “รื่นวดี” ที่ผ่านมาน่าจะไปขัดแข้งขัดขาผลประโยชน์กลุ่มคนบางกลุ่ม หรือใครบางคนก็เป็นไปได้
เพราะข้อมูลที่สื่อดังกล่าวนำออกมาเผยแพร่ ทำให้ทราบทันทีว่า มีกลุ่มคนบางกลุ่มไม่ต้องการให้ “รื่นวดี” กลับเข้ามาทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต.อีกวาระ โดยอ้างไปถึงต้นสายปลายเหตุและจุดเริ่มต้นว่า เลขาธิการ ก.ล.ต.ที่กำลังจะหมดวาระในเร็วๆ นี้ เป็นคนที่มาจากฝ่ายการเมืองส่งเข้ามาแทรกแซงตลาดทุนไทย แต่ไม่มีประสบการณ์และความเข้าใจในตลาดทุน ดังนั้นหากยอมให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง กลุ่มคนเหล่านี้เชื่อว่าจะยิ่งทำให้ตลาดทุนไม่มีการพัฒนา รวมถึงอาจสร้างปัญหาภายใน และอาจเกิดความเสียหายให้มากกว่าคุณประโยชน์
โดยอาศัยการกล่าวอ้างว่า องค์กรผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนในปัจจุบัน กำลังประสบปัญหาจำนวนบุคลากรที่ทำงานลดลงไปอย่างมาก จากการลาออกของเจ้าหน้าที่ไปแล้วร่วม 200 คน เนื่องจากไม่สามารถทนกับปัญหาภายในองค์กร รวมถึงการบริหารงานในปัจจุบันได้
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการสาดสีเทสีออกมาต่อเนื่องว่า การขาดวิสัยทัศน์ในทำงาน และศิลปะในการบริหารงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คณะกรรมการบอร์ด ก.ล.ต. ต้องพิจารณาเป็นพิเศษในการคัดสรรเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ เพื่อให้การบริหารและขับเคลื่อนองคกร์ให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา พร้อมกับเชียร์หรือส่งเสริมคณะกรรมการบอร์ดว่า ควรพิจารณาจากบุคคลภายในองค์กร หรือบุคคลที่อยู่ในแวดวงตลาดทุนน่าจะดีกว่าบุคคลภายนอก
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เนื้อหาที่โจมตี “รื่นวดี” ว่าไม่มีความรู้หรือความเข้าใจต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดีนัก ทำให้การควบคุมตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่ผ่านมา เปรียบได้กับการคุมกำเนิด มากกว่าการส่งเสริมหรือพัฒนาตลาดให้เติบโต ยิ่งสะท้อนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับจากความเจ็บปวดของกลุ่มธุรกิจที่ถูกกล่าวโทษ และถูกปรับ จากการกำกับดูแล ทั้งที่ปัญหาที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากการฝ่าฝืนกฎ หรือจงใจกระทำผิด แต่พอเกิดปัญหาแล้วโดนลงโทษกลับมองว่า Regulator ไม่มีหัวก้าวหน้า ไม่เข้าใจระบบและการพัฒนา
ดังนั้นเนื้อหาที่มีการเผยแพร่ออกมา ก็เหมือนเป็นการฟังความข้างเดียวเพื่อมากล่าวโทษว่าปัญหาใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในปี 2565 นั้นมาจากเลขาธิการ ก.ล.ต.ฝีมือไม่ถึง หรือทำงานออกมาไม่ตรงใจกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยไม่ได้หาข้อมูลอ้างอิงหรือความคิดเห็นในทางตรงข้ามมานำเสนอ หรือกล่าวอ้างเพื่อให้ผู้เสพข่าวได้พิจารณา นำไปสู่คำถามที่ว่า “ที่ผ่านมาการตัดสินใจของ ก.ล.ต. เกิดมาจากคนเพียงคนเดียวคือ รื่นวดี เช่นนั้นหรือ แล้วคณะกรรมการบอร์ดอีก 10 คนไม่ได้ทำอะไรเลยหรือ?” เพราะทุกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เป็นที่แน่ชัดว่า ก.ล.ต.ต้องนำเสนอให้คณะกรรมการบอร์ดพิจารณา การตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ย่อมมีมติออกมาเป็นการเห็นชอบโดยเสียงข้างมาก ไม่ใช่มาจากเลขาธิการก.ล.ต.เพียงคนเดียว แต่กลับกล่าวโทษคนเพียงคนเดียวว่าทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นคำว่า “ลอยตัว” ก็น่าจะหมายถึงคนอีก 10 คนที่นั่งร่วมโต๊ะมากกว่า
นั่นยิ่งชัดเจนว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก่อนการหมดวาระของเลขาธิการก.ล.ต.คนปัจจุบัน และก่อนกระบวนการสรรหาเลขาธิการฯคนใหม่ เป็นเหมือนการให้ร้าย และหมายสกัดกั้น ไม่ต้องการให้ “รื่นวดี” กลับมาดำรงตำแหน่งได้อีก
ย้อนกลับมาที่ชนวนความขัดแย้ง ระหว่างกรรมการบอร์ด กับ เลขาธิการ ก.ล.ต. ในทางความคิด และจุดยืนในการทำงาน นั้นมาจาก 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1.เรื่องจุดยืน และความสัมพันธ์ของคนในเรื่องการปิดบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สั่งอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องกว่า 24 ราย บัญชีทรัพย์สิน 30 รายการ มูลค่าราว 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้พัวพันไปถึง เส้นทางการเงิน ในอดีต และการโอนเงินในกลุ่มครอบครัวของผู้บริหาร และครอบครัวของ ผู้ถือหุ้น
ไม่เพียงเท่านี้เรื่องดังกล่าวยังคาบเกี่ยวไปถึงหนึ่งในบอร์ดก.ล.ต.ที่เคยบริหารหรือปลุกปั้นบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้ขึ้นมา ดังนั้นการลงโทษบล.แห่งนี้ย่อมสะเทือนไปถึงผู้นั่งร่วมโต๊ะประชุมกำกับดูแลตลาดทุนที่อาจไม่พอใจกับผลที่ออกมา
2. ถือเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและคาราคาซัง มาจากคำสั่งของ ก.ล.ต.ในกรณีของ กลุ่ม Bitkub ที่มีปัญหาเรื่องระบบ ปฏิบัติการ การให้บริการ การสร้าง ปริมาณเทียมราคาเหรียญ จนนำมาซึ่งคำสั่งเปรียบเทียบปรับ เรื่องคุณสมบัติเหรียญ KUB ที่นำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล เรื่องดังกล่าวถูกนำออกมาโจมตี “รื่นวดี” ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี
แต่ในความจริงเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า เป็น Bitkub ที่จงใจฝ่าฝืนกฎข้อบังคับที่ใช้ควบคุมการซื้อขาย และการดำเนินธุรกิจ จนนำไปสู่การกล่าวโทษ การเปรียบเทียบปรับจำนวนมาก พูดง่ายๆ ถ้าสิ่งที่ทำนั้นดี นั้นถูกต้อง ใครจะไปกล่าวโทษและสั่งปรับเงิน
นอกจากนี้ ข้อย้อนแย้งกรณี Bitkub ที่แน่ชัดอีกประการหนึ่ง หนีไม่พ้นเรื่องคุณสมบัติของเหรียญ KUB Coin ที่ได้รับการต่ออายุยืดเวลาให้ Bitkub มาอย่างต่อเนื่องในการประชุมบอร์ด ก.ล.ต.มาแล้วหลายรอบ เพราะหากโบ้ยว่า “รื่นวดี” จ้องจะเอาผิดแต่ “Bitkub” คงไม่ยอมปล่อยให้เรื่องแบบนี้ค้างท่อนาน น่าจะรีบจัดการให้เรียบร้อยก่อนตนเองหมดวาระ แต่กลับเป็นว่าเรื่องดังกล่าวถูกยืดอายุหรือเลื่อนการพิจารณาออกไปจนถึงปัจจุบัน โดยมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดคือ มติการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต.ในแต่ละรอบที่ผ่านมา
3.ปัญหาที่ต่อเนื่องมาจาก ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex)ประกาศระงับธุรกรรมการถอน คริปโทเคอร์เรนซี และเงินบาท จนก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาทเศษ และปัจจุบันยังจ่ายเงินคืนให้นักลงทุนไม่ได้ ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย แต่ ก.ล.ต.กลับมีบทลงโทษต่อ Zipmex เพียงเล็กน้อย ทั้งที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวง หรือมากกว่าที่ Bitkub กระทำ
ที่ผ่านมาเหตุการณ์ดังกล่าว สื่อมวลชนหลายสำนักต่างเคยนำเสนอออกมาแล้วว่า เบื้องหลังของ Zipmex ล้วนมีกลุ่มตระกูลที่มีชื่อเสียง หรือมีอิทธิพลในตลาดทุนหลายกลุ่มร่วมอยู่ด้วย นั่นได้สร้างข้อแคลงใจแก่นักลงทุนและประชาชนว่า เมื่อการลงโทษผู้กระทำผิดต้องผ่านการพิจารณาจากบอร์ด ก.ล.ต.ทั้งนั่งร่วมโต๊ะกัน 10 คน รวมถึงเลขาธิการ ก.ล.ต. แล้วทำไมคนเหล่านั้นถึงมีความคิดเห็นว่า ควรลงโทษ Zipmex เพียงเท่านี้ หรือเพราะเกรงใจกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่ด้านหลัง Zipmex
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ช่วยตอกย้ำอย่างชัดเจนว่าจะอาศัยเพียงอำนาจเลขาธิการ ก.ล.ต.ของ “รื่นวดี” เพียงคนเดียวคงไม่สามารถกล่าวโทษ หรือลงโทษผู้กระทำผิดได้ เพราะเมื่อพิจารณามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นบทลงโทษน่าจะมากกว่านี้ แต่ทำไมบอร์ดบริหารอีก 10 คนไม่เห็นแย้ง หรือแสดงความจำนงค์ที่จะเพิ่มบทลงโทษ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ควรเป็นเรื่องที่คนที่นั่งบนโต๊ะประชุมทั้งหมดต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่กล่าวโทษไปที่คนเพียงคนเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้น ช่วยสะท้อนได้ดีว่า ควรที่จะปล่อยให้คนเพียงกลุ่มเดียวมาเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลตลาดทุนหรือไม่ เพราะมันคล้ายกับการแต่งตั้งพ่อค้าเข้ามาดูแลพ่อค้าที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน กฏเกณฑ์ไหนที่เป็นประโยชน์เอื้อต่อการทำธุรกิจก็ร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุน แต่หากมีใครคิดนอกกรอบ ก็จะกลายเป็นเรื่องผิดกฎ ต้องถูกกล่าวโทษ ถูกสั่งห้ามกระทำ หากเป็นแบบนี้ดูไปแล้วยิ่งไม่เห็นความเป็นธรรมที่จะปกป้องนักลงทุนอย่างจริงจังเลย
นึกแล้วขำๆ เมื่อย้อนกลับไปดูภาพยนตร์ซีรียส์จีนอย่าง “เปาบุ้นจิ้น” ที่ตุลาการหน้าดำไม่ได้เป็นคนร่างกฎ แต่เป็นคนนำกฏที่ถูกร่างขึ้นมาใช้ควบคุมคนดี คนไม่ดี เพื่อให้บ้านเมืองมีสันติสุข จนทำให้ผู้ชมชื่นชอบ นำไปสู่ตอนใหม่ๆที่มีออกมาต่อเนื่อง แต่กลับตลาดทุนบ้านเรา คนที่นำกฎหมายมาใช้ควบคุม กลับถูกมองว่า “บ้าอำนาจ” หรือใช้แต่กฏหมายทำให้มองหาความเจริญหรือการพัฒนาไม่ได้ ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน
ถ้าหากเป็นเช่นนั้นต่อให้การสรรหาเลขาธิการคนใหม่คงไม่ได้ตอบโจทย์ที่แท้จริง แต่ควรเป็นการเอากฎระเรียบมาสะสาง น่าจะสะดวกโยธินต่อการทำธุรกิจมากกว่า ส่วนนักลงทุนทั่วไป ก็ต้องรอให้กฏระเบียบเป็นที่พอใจนักธุรกิจก่อน
นอกจากนี้ เมื่อในระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่เคยร่างกันไว้ เปิดทางให้สามารถมีการต่อวาระ แต่คณะกรรมการบอร์ดมองไปที่ธรรมเนียมปฏิบัติไม่ควรทำงานต่อ มันก็ยิ่งน่าขบขันไปใหญ่ เพราะนั่นคือการนำความรู้สึกมาตัดสิน ....
การที่ “รื่นวดี” จะได้รับการต่อวาระเป็นเลขาธิการก.ล.ต.อีกสมัย มันจะไปกระทบกับเก้าอี้หลายองค์กรจนไม่สามารถเดินหน้าต่อเช่นนั้นหรือ? ในเมื่อคุณมองถึงการเดินหน้า และการพัฒนา ก็ควรจะมองถึงการก้าวข้ามธรรมเนียมประเพณีที่เก่าเกินไป หรือมีแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้วยเช่นกัน
สำหรับ “รื่นวดี” ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 9 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 และจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 เมษายน 2566 โดย ก.ล.ต. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองวุ่นวาย ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีนายเอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยุคนายวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ถูกส่งเข้ามาเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.คนแรก แต่ถูกปลด โดยถูกยัดข้อหานำข้อมูลเปิดเผยต่อนักลงทุน แต่ต่อมาฟ้องร้องนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น จนมีการขอขมานายเอกกมลภายหลัง และนายสุรเกียรติ์ก็ถูกนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ปลดออกจากตำแหน่งเหมือนกัน
ดังนั้นการพิจารณาให้ “รื่นวดี” ได้ไปต่อหรือพอเพียงแค่นี้ ควรปราศจากอคติใดๆ จากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทั้ง 10 คน และต้องไม่มีการแทรกแซงจากคนภายนอก ทั้งกลุ่มผลประโยชน์ในตลาดทุน หรืออำนาจทางการเมือง โดยต้องพิจารณาตามเนื้อผ้า ตามผลงานอย่างแท้จริง
ส่วนความคืบหน้าในการสรรหาเลขาธิการก.ล.ต.คนใหม่ ในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะสัมภาษณ์ผู้สมัครชิงเลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่ และจะคัดเลือกให้เหลืออย่างน้อย 2 คน ก่อนจะเสนอรายชื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาตัดสินเป็นครั้งสุดท้ายว่าจะเลือกใครนั่งเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต.
"วรัชญา-พรอนงค์" ตัวเต็งเลขา ก.ล.ต.
รายงานข่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต. ถึงผลการพิจารณาตัวเต็งของผู้ที่สมัครเข้ามาเป็น เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 13 ซึ่งเป็นวาระถัดไปจากนางสาว นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 และกำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เมษายน 2566 นี้ โดยผู้สมัครที่เข้ามาและถูกจับตามองในการคัดเลือก และได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวน 2 ราย เพื่อเสนอต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 1 ราย และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. คนต่อไปแทนนางสาวรื่นวดี ที่จะหมดวาระลง
โดยแหล่งข่าวระบุว่า ตัวเต็งที่ได้รับการพิจารณาเป็น เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 13 ซึ่งมีคะแนนเบียดกันมาอย่างสูสี 2 ราย ได้แก่ รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล และนางสาววรัชญา ศรีมาจันทร์ ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าแปลกใจในครั้งนี้คือ “นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน กลับไม่ปรากฏอยู่ในชื่อผู้ที่ติดโผได้รับการคัดเลือก ซึ่งจะนำส่งเสนอต่อ รมว.คลังเพื่อพิจารณาการดํารงตําแหน่งอีกสมัยในครั้งนี้
ขณะที่ประวัติของ “นางสาววรัชญา ศรีมาจันทร์” ในปัจจุบันนั้น ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งที่มีอาวุโสสูง เป็นลำดับถัดมารองจาก นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน
ส่วนตัวเต็งที่คะแนนสูสีกันอีกคนที่ถูกนำเสนอชื่อด้วยเช่นกันคือ “รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล” อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน โดยมีความโดดเด่นด้านงานวิชาการสายงานตลาดทุนและหลักทรัพย์